ผู้อำนวยการ WHO เตือนระวัง 'อันตราย' หากทึกทัก 'โอมิครอน' คือจุดจบโควิดระบาด

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนในวันจันทร์ (24 ม.ค.) เป็นเรื่องอันตรายหากทึกทักว่าตัวกลายพันธุ์โอมิครอนเป็นลางแห่งจุดจบระยะเฉียบพลันของโควิด-19 เร่งเร้าประเทศต่างๆ ให้ยังคงมุ่งสมาธิในการเอาชนะโรคระบาดใหญ่

"มันอันตรายหากทึกทักว่าโอมิครอนจะเป็นตัวกลายพันธุ์สุดท้ายและเราอยู่ในช่วงท้ายเกม" ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก บอกกับที่ประชุมคณะกรรมการบริหารชุดหนึ่งขององค์การอนามัยโลก ในเรื่องของโรคระบาดใหญ่ที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปีและคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วเกือบ 6 ล้านราย "ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั่วโลก เหมาะสำหรับตัวกลายพันธุ์ต่างๆ จะปรากฏเพิ่มเติม"

คำเตือนนี้ดูจะสวนทางกับความเห็นของดร.ฮานส์ คลูก ผู้อำนวยการภาคพื้นยุโรปขององค์การอนามัยโลก ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันอาทิตย์ (23 ม.ค.) ว่าตัวกลายพันธุ์โอมิครอนได้ผลักให้โควิด-19 เคลื่อนเข้าสู่ขั้นใหม่ และอาจนำมาซึ่งจุดจบของโรคระบาดใหญ่ในยุโรป

คลูกกล่าวว่า "เมื่อครั้งระลอกการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่กำลังเล่นงานทั่วยุโรปในปัจจุบันเบาบางลง โลกจะมีภูมิคุ้มกันหมู่หลายสัปดาห์และหลายเดือน ซึ่งเป็นผลจากการฉีดวัคซีนหรือเพราะคนมีภูมิคุ้มกันแล้วจากการติดเชื้อ และการแพร่ระบาดจะลดลงตามฤดูกาลเช่นกัน"

"เราคาดหมายว่าจะมีช่วงเวลาที่เงียบเชียบช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่โควิด-19 อาจกลับมาอีกในช่วงปลายปี แต่มันไม่จำเป็นที่มันจะกลับมาในรูปแบบของโรคระบาดใหญ่" คลูกกล่าว

แม้โอมิครอนโหมกระพือเคสผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นแตะระดับเกือบ 350 ล้านคน แต่มันส่งผลกระทบถึงตายน้อยกว่าและอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูง นำมาซึ่งมุมมองในแง่บวกว่าบางพื้นที่อาจผ่านพ้นสถานการณ์เลวร้ายของโรคระบาดใหญ่ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทีโดรส เรียกร้องให้คงความมีระเบียบวินัยและเป็นหนึ่งเดียวกันในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ "โรคระบาดใหญ่ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 3 และเราอยู่ตรงทางแยกที่สำคัญ" เขากล่าว "เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อนำพาระยะเฉียบพลันของโรคระบาดใหญ่ไปสู่จุดจบ เราไม่อาจปล่อยให้มันลากยาวต่อไป เอียงไปเอียงมาระหว่างความตื่นตระหนกและความประมาทเลินเล่อ"

"ประเทศต่างๆ ต้องใช้ยุทธศาสตร์ขั้นสูงสุดและใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่มี อาทิ การตรวจเชื้อและการฉีดวัคซีน เพื่อให้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลกจบลงในปีนี้" เขากล่าว

เวลานี้ ทีโดรส เป็นชาวแอฟริกาคนแรกที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอนามัยโลก กำลังลงชิงเก้าอี้เป็นสมัย 2 และโอกาสลุ้นนั่งเก้าอี้ตัวนี้อีกสมัยของเขามีเพิ่มมากขึ้น เมื่อองค์การอนามัยโลกเลื่อนการตัดสินเกี่ยวกับพื้นเพของเขา หลังจากเอธิโอเปียร้องขอให้ดำเนินการสืบสวนในประเด็นดังกล่าว ตามคำกล่าวหาที่ว่า ทีโดรส มีความเชื่อมโยงกับกองกำลังกบฏ

เขาบอกกับคณะกรรมการบริหารว่ากำลังหาทางยกเครื่องต้นแบบเงินทุนสนับสนุนของหน่วยงานแห่งนี้ ซึ่งเวลานี้มีเยอรมนีเป็นชาติผู้บริจาครายใหญ่ที่สุด แทนที่ วอชิงตัน ซึ่งเมื่อครั้งอยู่ภายใต้การบริหารงานของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาองค์การอนามัยโลกลำเอียงเข้าข้างจีน

การที่สหรัฐฯ คัดค้านข้อเสนอสนับสนุนทางการเงินที่จะทำให้องค์การอนามัยโลกมีความเป็นอิสระมากขึ้น ได้ก่อข้อสงสัยว่ารัฐบาลอเมริกาภายใต้การนำโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะให้การสนับสนุนในระยะยาวแก่หน่วยงานของสหประชาชาติแห่งนี้หรือไม่ และอย่างไร


(ที่มา:รอยเตอร์)
https://mgronline.com/around/detail/9650000007878