เปิดสาเหตุ 32 ปี ความสัมพันธ์ไทย - ซาอุฯ แตกร้าว สู่มิตรภาพครั้งใหม่!!

พลันที่เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ได้เผยแพร่กำหนดการการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระหว่างวันที่ 25 - 26 ม.ค. ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีช อัลซะอูด (His Royal  Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย

ขณะที่สถานีโทรทัศน์อัล-อราบียา ของซาอุดีอาระเบีย รายงานว่านายกรัฐมนตรีของไทยจะเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย ในฐานะพระราชอาคันตุกะของมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย โดยพระองค์พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าเฝ้าฯ ในวันอังคารที่ 25 มกราคมนี้

ข่าวดังกล่าวได้รับความสนใจทันที ทั้งในสังคมไทยและในเวทีโลก เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทย - ซาอุดีอาระเบีย อยู่ในภาวะแตกร้าวยาวนานกว่า 30 ปี 

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย เป็นภารกิจที่รัฐบาลหลายชุดของไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด

แต่ทว่า ไม่มีผลที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากนัก จนกระทั่งการดำเนินการเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายหลังการพบหารือ 3 ฝ่าย ในช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9-10 ตุลาคม 2559 ที่กรุงเทพระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรบาห์เรนในขณะนั้น และนายอาดิล บิน อะหมัด อัลณูบีร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียในขณะนั้น

หลังจากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ยังได้พบกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการประชุมผู้นำจี 20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย ได้มีการพบหารือกันเป็นระยะๆ เพื่อหารือรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียตามคำเชิญของเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือนมกราคม 2563

การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของพล.อ.ประยุทธ์ในครั้งนี้ นับเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศ หลังเกิดเหตุการกระทบความสัมพันธ์หลังเกิดกรณีคดีเพชรซาอุฯ สังหารนักการทูต และนักธุรกิจ ตั้งแต่ปี 2532 ต่อเนื่องมาถึงปี2533 ทำให้ซาอุดีอาระเบีย ลดระดับความสัมพันธ์กับไทย โดยลดระดับตัวแทนทางการทูตเหลือแค่ระดับอุปทูต ห้ามชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาไทย และ ไม่ตรวจลงตราให้คนไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการไปมาหาสู่ระหว่างกัน และความร่วมมือที่สองประเทศมีอยู่เดิม โดยเฉพาะในด้านแรงงาน และการค้าและการลงทุน

ทั้งนี้ ก่อนการเกิดคดีต่างๆ ข้างต้น ซาอุดีอาระเบียมีความสำคัญต่อไทยในหลายด้าน ได้แก่

1.) เป็นตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของไทยในตะวันออกกลาง โดยจากสถิติของกรมแรงงาน (กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในขณะนั้น) ในบางช่วงเคยมีแรงงานไทยสูงถึง 300,000 คน นำรายได้เข้าประเทศโดยเฉลี่ยปีละ 9,000 ล้านบาท ขณะที่ในปัจจุบัน (ปี 2551) มีคนไทยอาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบียประมาณ 16,896 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานเก่าก่อนเกิดปัญหาความสัมพันธ์ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือ และคนงานในภาคบริการ เช่น ประกอบกิจการร้านอาหารไทย พนักงานธนาคาร และบริษัทห้างร้านต่างๆ เป็นต้น

2.) แม้ความสัมพันธ์จะได้รับผลกระทบจากคดีที่เกิดขึ้น แต่จนถึงปัจจุบันซาอุดีอาระเบียก็ยังคงเป็นแหล่งพลังงานอันดับต้นๆ ของไทย โดยในช่วงปี 2543-2546 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียมากเป็นอันดับสาม (รองจาก UAE และโอมาน) เฉลี่ยปีละ 800-1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3.) เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับสองของไทยในตะวันออกกลาง และเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ที่สุดของไทยในตะวันออกกลาง

4.) เป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม มีศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมที่เมืองมักกะห์ และมาดีนะ ในแต่ละปีมีผู้แสวงบุญชาวไทยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ประมาณปีละ 1 หมื่นคน (ในปี 2548 มีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ 10,451 คน และปี 2549 ประเทศไทยได้โควตา 11,000 คน) 

5.) เป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือไทยในด้านต่างๆ เช่น Saudi Fund for Development ได้ให้เงินกู้ เพื่อการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเมื่อปี 2524 และ Islamic Development Bank ของซาอุดีอาระเบียได้ให้เงินช่วยเหลือในการก่อสร้างอิสลามวิทยาลัย จังหวัดยะลา เป็นจำนวน 32 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ. 2528

แน่นอนว่า กว่าที่จะมาถึงวันที่มีข่าวดีที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้รับเชิญให้เยือนในฐานะพระราชอาคันตุกะ ย่อมเป็นสัญญาณว่า น่าจะมีข่าวดีตามมาจากการเยือนครั้งนี้ ภายหลังความพยายามดำเนินการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของสองประเทศมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งมาถึงวันนี้ที่หลายฝ่ายรอคอย


ข้อมูลอ้างอิง
https://www.pptvhd36.com/news/การเมือง/165030
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/50797