‘บิ๊กตู่’ ดัน ‘แก้หนี้’ เป็นพันธกิจหลักปี 65 สั่งลุยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน - หนี้สิน ขรก.

จากสถิติตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 2 ปี ที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาด ที่ซ้ำเติมให้ ‘ปัญหาหนี้สินครัวเรือน’ มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลล่าสุดจากของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ณ ไตรมาส 3/2564 (30 ก.ย. 64) ครัวเรือนไทยมีหนี้สินทั้งสิ้น 14.34 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.3% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 18 ปีเลยทีเดียว

การที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราที่สูงในขณะนี้ จะสะท้อนไปถึงภาวะความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทย และนำไปสู่ปัญหาในการดำรงชีวิตและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ในอนาคต

แน่นอนว่า ปัญหานี้ นับเป็นอีกหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลคงไม่สามารถเพิกเฉยต่อไปได้ 

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้นำรัฐบาล ประกาศชัดว่า จะผลักดันให้ปี 2565 นี้ เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ให้สำเร็จให้ได้ พร้อมกับให้คำมั่นว่า จะเดินหน้าทุกวิถีทาง เพื่อช่วยบรรเทาภาระและความเดือดร้อนของทุกกลุ่มลูกหนี้ 

ล่าสุดได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ผลักดันร่างพ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เข้าสู่รัฐสภาพิจารณา โดยหวังจะได้รับความร่วมมือสมาชิกรัฐสภาผ่านร่างพ.ร.บ. โดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อการแก้หนี้นักเรียน นักศึกษา และผู้ค้ำประกันที่คาดว่าจะมีอยู่กว่า 5 ล้านคน ได้หายใจได้คล่องขึ้น 

ไม่เพียงเท่านั้น นายกรัฐมนตรี ยังได้ประกาศแนวทางหลักๆ 8 แนวทาง ในการแก้หนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน โดย 8 แนวทางที่หยิบยกขึ้นมาจัดการก่อนประกอบด้วย

- การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 
- การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ 
- การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 
- การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ 
- การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้ 
- การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 
- การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย และ SMEs 
- การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม

ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการ ก็ได้เริ่มเห็นแนวทางที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ได้จัดทำแผนไปบ้างแล้ว เช่น จากแนวทางส่วนการแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการ ที่แบ่งการขับเคลื่อนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ บุคลากรครู และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินบุคลากรครู โดยวาง 4 แนวทางแก้ไขปัญหา 

1.) ยุบยอดหนี้ โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ในอนาคตของครู เพื่อให้ยอดหนี้ลดลง และสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน เช่น ใช้เงินบำเหน็จตกทอดมาชำระหนี้บางส่วน

2.) ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 5% เพื่อให้สอดคล้องกับสินเชื่อ หักเงินเดือนข้าราชการที่มีความเสี่ยงต่ำ

3.) ปรับลดค่าธรรมเนียมทำประกันชีวิตและการค้ำประกันโดยบุคคลที่ไม่จำเป็น 

4.) ยกระดับระบบการตัดเงินเดือนข้าราชการให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ มีสหกรณ์ครูจำนวน 20 แห่ง ครอบคลุมครูทั่วประเทศ กว่า 2 แสนคน สมัครเข้าร่วมดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงฯกำหนด และคาดว่าจะมีเพิ่มในระยะต่อไป

ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้ตำรวจ จากข้อมูล ณ เดือนก.ย. 64 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 4,900 ราย ได้รับการแก้ปัญหาหนี้แล้ว 2,100 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 2,500 ราย และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ เพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในการพักชำระหนี้เงินต้น การจัดทำโครงการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิกในครอบครัวและการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสมาชิกที่มีหนี้

ส่วนทางด้านกระทรวงการคลัง ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักที่จะขับเคลื่อนนโยบายแก้หนี้ ได้เริ่มมอบหมายให้ธนาคารออมสินจัดทำโครงการ “สร้างงานสร้างอาชีพ” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบกับปัญหาการขาดรายได้จากการตกงาน ถูกเลิกจ้าง หรือลดเงินเดือน ให้เข้าโครงการอบรมเสริมความรู้ และได้รับสินเชื่อนำไปประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มช่องทางในการหารายได้และลดภาระหนี้สิน ซึ่งเป็นมาตรการในระยะสั้น

ส่วนในระยะยาวแว่วมาว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างจัดทำแผนการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนอย่างครบถ้วนและทั่วถึง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างยั่งยืน และจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแผนฯ ดังกล่าวต่อไป

ต้องยอมรับว่า นโยบายนี้ เป็นนโยบายที่ดีมาก และจะดียิ่งกว่านี้ หากสามารถจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขรากเหง้าปัญหาของประเทศไทยได้ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวกันเลยทีเดียว