แบงก์รัฐออกมาตรการช่วยแก้หนี้ระยะยาว มีผล 1 ม.ค.65
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดกรอบดำเนินการและสร้างกลไกผลักดันให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เร่งให้ความช่วยเหลือและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เป็นการแก้ไขปัญหาของลูกหนี้ได้อย่างตรงจุดในระยะยาว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ยังต้องเผชิญกับภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจหรือใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้ ถือเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม
สำหรับมาตรการดังกล่าวประกอบด้วยแนวทางและมาตรการดำเนินการในการช่วยเหลือและแก้ไขหนี้ในระยะยาว ดังนี้ 1. แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ที่เป็นการยกระดับแนวนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปฏิบัติเดิม เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อรองรับการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในมิติของการจัดทำนโยบาย การกำกับดูแล และกระบวนการพิจารณาการปรับโครงสร้างหนี้ มีการควบคุมภายในที่รัดกุม ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สามารถใช้ดุลยพินิจอย่างระมัดระวังและรอบคอบในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างแท้จริง
2. มาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เร่งแก้ไขปัญหาหนี้เดิมด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะยาวอย่างตรงจุดและเหมาะสมกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละราย โดยกำหนดงวดการจ่ายชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงมากของลูกหนี้ และให้ลูกหนี้ทยอยจ่ายชำระหนี้เพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เริ่มกลับมา รวมทั้งต้องเร่งช่วยลูกหนี้ให้ได้จำนวนมากและรวดเร็ว ซึ่ง ธปท. ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองตามความเข้มข้นของการให้ความช่วยเหลือ โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เป็นการชั่วคราวระหว่าง วันที่ 1 ม.ค.2565 - 31 ธ.ค. 2566 ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย. 2564 ของธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการอยู่