รัฐวางกรอบเป้าหมายบริหารการคลัง 4 ปี จีดีพีโตสูงสุดแค่ 4.2%

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 66 – 69 โดยรัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชน และมีผลต่อเนื่องถึงภาคการคลัง ทำให้เกิดภาระที่สะสมต่อภาคการคลังของไทยได้ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงได้อีก จนอาจส่งผลกระทบให้ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบเพิ่มเติมอีกในอนาคต 

นอกจากนี้ในการกำหนดเป้าหมายและนโยบายการคลัง ยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก หรือเมกะเทรนด์ ที่จะส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ทั้ง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการจัดเก็บรายได้และการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ

ทั้งนี้ตามแผนฯ กระทรวงการคลังได้กำหนดสถานะและประมาณการเศรษฐกิจในปี 66 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.2 – 4.2% ส่วนในปี 67 คาดว่า จีดีพี จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.9 – 3.9% ขณะที่ในปี 68 - 69 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.8 – 3.8% ส่วนสถานะและประมาณการการคลัง มีการประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 66 อยู่ที่ 2.49 ล้านล้านบาท, ปี 67 อยู่ที่ 2.56 ล้านล้านบาท, ปี 68 อยู่ที่ 2.64 ล้านล้านบาท และปี 69 อยู่ที่ 2.72 ล้านล้านบาท

ขณะที่การประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 66 อยู่ที่ 3.185 ล้านล้านบาท, ปี 67 อยู่ที่ 3.27ล้านล้านบาท, ปี 68 อยู่ที่ 3.363 ล้านล้านบาท และปี 69 อยู่ที่ 3.456 ล้านล้านบาทโดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ เช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 2.0 – 3.5% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วน 2.5 – 4.0% ของวงเงินงบประมาณ และค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกิน 4% โดยใช้มาตรการให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินรายได้นำมาสมทบ