'โบว์ ณัฏฐา' ลั่น 'Cancel Culture' ไม่ต่างจากการล่าแม่มด ย้ำ บ่อยครั้งเหยื่อเป็นผู้บริสุทธิ์ แนะ ควรสร้างสังคมที่เป็นเหตุเป็นผล

จากกระแสดราม่า ‘น้องลูกหนัง ศีตลา’ ลูกสาวคนเล็กของนักแสดง ‘ตั้ว ศรัณยู’ กับ ‘เปิ้ล หัทยา วงษ์กระจ่าง’ ที่เกิดดราม่าในโลกโซเชียลแห่คว่ำบาตร ไม่สนับสนุน พร้อมใจติด #SITALA เนื่องจากอดีตเคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองพร้อมกับครอบครัว

จากกรณีดังกล่าว ‘คุณโบว์ ณัฏฐา มหัทธนา’ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง THE STATES TIMES ในรายการ Click On Clear THE TOPIC ถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน โดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมาบริบททางการเมืองกลายมาเป็นกระแสที่มีการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรง 

จึงทำให้เกิดการละเมิดพื้นหลังทางครอบครัว หรือไซเบอร์บุลลี โดยเฉพาะในประเด็นของ ‘Cancel Culture’ และการรุมแบนให้ออกมา ‘Call Out’ จนสังคมเกิดความเคยชินและมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้

อย่างในกรณี ‘น้องลูกหนัง’ เป็นประเด็นที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ลูกหลานนักการเมือง นักเคลื่อนไหว หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงต้องรับแรงกดดันจากการกระทำของพ่อ-แม่ ไม่ว่าจะผิดหรือจะถูก ถ้าทุกคนพูดได้หรือยอมรับให้เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นแล้วสังคมจะเป็นยังไง นี่คือสิ่งที่เรากังวล 

ถ้าหากถามว่าการโดน ‘Cancel Culture’ ครั้งนี้ คือราคาที่ต้องจ่าย เปรียบเทียบกับศาลที่ต้องดูว่าความได้ส่วนกับเหตุ เหมือนกับศาลตัดสินแล้วลงโทษก็ต้องดูความได้ส่วนกับเหตุ ถ้าเกิดว่าลงโทษหนักกว่าเหตุ นี่คือความไม่ยุติธรรม

เช่นกันกับในโลกออนไลน์เมื่อคุณจะทำตัวเป็นผู้พิพากษาตัดสินใคร ก็อยากให้พิจารณาความได้ส่วนกับเหตุนั้น ถ้าคนคนหนึ่งจะมีแอ็กชันทางการเมืองที่คุณไม่เห็นด้วย คุณก็พูดในประเด็นนั้นดีไหมว่ามันเลวร้ายยังไง  

การกระทำเช่นนี้ คือ การลงโทษ ที่คุณตั้งตัวเป็นผู้พิพากษาใน ‘ศาลเตี้ย’ มันไม่ใช่แค่คุณคนเดียวที่ตัดสินใจไม่เอาสิ่งนี้ แต่คุณมีการสร้าง Movement ที่จะทำร้ายและทำลายคนอื่น เช่นนี้ คือศาลเตี้ยหรือเปล่า

ในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอยู่ในฝั่งประชาธิปไตย มองว่ามันจะส่งผลกับทัศนวิสัยของคุณ เหมือนคุณกดคนฝ่ายตรงข้ามไม่ให้พูด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราก็จะได้ยินเสียงฝ่ายเดียว และพูดเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราก็จะได้ยินเสียงที่มันไม่ครบ นี่คือสังคมประชาธิปไตยจริงหรือ?

เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมบนโลกออนไลน์ การสร้างวัฒนธรรมที่พูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์จึงสำคัญ อย่างเช่นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ เขาจะมีการปลูกฝังกันมาแต่เด็ก ให้รู้วิธีสื่อสารอย่างมีอารยะ

ไม่เช่นนั้น ก็จะเกิดกรณี ‘Cancel Culture’ หรือ ‘Online mob’ ที่เรียกพวกไปรุมถล่มคนโดยมีจุดประสงค์เพื่อ ทำร้ายทำลายอาชีพด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นที่พูดถึงมากในตะวันตกว่าจะ Toxic และสร้างผลเสียได้มากกว่าผลดี บางกรณีนำสู่อาชญากรรมและสร้างบรรยากาศที่ไม่ต่างจากสังคมล่าแม่มด เป็นศาลเตี้ยที่บ่อยครั้งมีเหยื่อเป็นผู้บริสุทธิ์

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมที่พูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ ทุกภาคส่วนล้วนมีบทบาททั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน หรือผู้ใช้โซเชียลมีเดียก็ไม่ควรสนับสนุนพฤติกรรมที่เรารู้สึกว่า Toxic รวมไปถึงการพูดคุยประเด็นที่เราไม่เห็นด้วย ไม่จำเป็นต้องหยาบคายหรือพยายามทำลายชีวิตคนอื่น

ซึ่งเราก็ต้องทำให้ดูก่อน พร้อมชวนกันทำ และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมต้องการเหตุผล เพราะฉะนั้น อย่าไปหวั่นไหวเวลาที่คุณอาจจะได้ยินคนที่เสียงดังแต่เป็นลบ แล้วบางคนอาจจะท้อว่าสังคมเดี๋ยวนี้กลายเป็นแบบนี้ ‘ไปหมดแล้ว’ 

คำว่า ‘ไปหมดแล้ว’ ขอให้ลองเข้าไปดูในรายละเอียดจริง ๆ แล้วคุณจะรู้ว่ามันไม่ใช่ อย่าไปเหมาแล้วคิดว่าเป็นอย่างนี้กันหมด