ครม.รับทราบรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2564 พร้อมเห็นชอบปรับปรุงโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs พร้อมขยายระยะเวลานายจ้างลงทะเบียนรอบ 2 ตั้งแต่ 21 พ.ย. - 20 ธ.ค. นี้
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2564 และให้เสนอต่อรัฐสภาต่อไป โดยสาระสำคัญของผลการดำเนินงานรับจ่ายเงินงบประมาณสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 ที่สำคัญได้แก่ รายรับประเภทรายได้แผ่นดิน มีการประมาณการจัดเก็บรายได้ทั้งสิ้น 2.677 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการจัดเก็บรายรับจริงเข้าเงินคงคลัง 2.438 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้จากรัฐพาณิชย์และรายได้อื่นสูงกว่าประมาณการ โดยรายรับที่มาจากรายได้แผ่นดินต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 0.239 ล้านล้านบาท สำหรับรายรับประเภทเงินกู้ที่ได้ประมาณการไว้ 0.609 ล้านล้านบาท แต่มีการกู้จริง 0.735 ล้านล้านบาท
ด้านรายจ่าย มีการประมาณการประเภทรายจ่ายงบประมาณไว้ 3.217 ล้านล้านบาท แต่มีการเบิกจ่ายจริงและกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี 3.181 ล้านล้านบาท ทั้งนี้งบประมาณปี 2564 ไม่มีรายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ส่วนดุลของงบประมาณประจำปี เมื่อเปรียบเทียบรายได้แผ่นดินที่นำส่งคลังกับยอดรวมรายจ่ายประจำปีพบว่า รายได้แผ่นดินต่ำกว่ารายจ่ายตามงบประมาณ 0.575 ล้านล้านบาท โดยต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 0.204 ล้านล้านบาท ส่วนดุลการรับ-จ่ายเงิน เมื่อเปรียบเทียบรายรับรวมทั้งสิ้นกับรายจ่ายตามงบประมาณประจำปี และรายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี ส่งผลให้ดุลรายรับต่ำกว่ารายจ่ายทั้งสิ้น 0.036 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่23 พ.ย. 64 เห็นชอบให้มีการปรับปรุงโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อให้การดำเนินโครงการ ฯบรรลุวัตถุประสงค์ รวมทั้งธุรกิจ SMEs สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง รายละเอียดในการปรับปรุงโครงการ ดังนี้
1. เงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุน
(1) นายจ้างที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียนนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปโดยให้มีผลในงวดเงินสมทบเดือนพฤศจิกายน นี้เป็นต้นไป (นำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2564)
2. วิธีดำเนินงาน
(2) เพิ่มช่องทางการลงทะเบียน ทั้งผ่านเว็บไซต์ส่งเสริมการจ้างงาน เอสเอ็มอี.doe.go.th และยื่นแบบฟอร์มพร้อมหลักฐาน ณ สำนักงานจัดหางานหรือหน่วยเคลื่อนที่ของสำนักงานจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลลงในระบบแทนนายจ้าง
(3) ขยายระยะเวลาการลงทะเบียน โดยผู้ลงทะเบียนรอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. - 20 ธ.ค. 2564 จะได้รับเงินอุดหนุนตามจำนวนการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย ไม่เกิน 200 คน ระยะเวลา 2 เดือน (ธันวาคม 2564 และมกราคม 2565)
(4) ปรับปรุงรูปแบบการจ่ายเงินอุดหนุน หลังจากวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากรัฐยังจ่ายเงินอุดหนุนยังไม่ครบถ้วนอีก ให้สามารถจ่ายเงินเพิ่มเติมได้จนกว่าจะครบถ้วนตามสิทธิ์ที่นายจ้างพึงได้รับ
3. มาตรการทางภาษี
(5) เงินอุดหนุนที่รัฐจ่ายให้นายจ้างจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วแต่กรณี โดยนายจ้างจะต้องไม่มานำเงินอุดหนุนดังกล่าวไปคำนวณเป็นรายได้และรายจ่ายในการหักภาษี
ทั้งนี้ กรมสรรพากรยังได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับมาตรการภาษี ต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ผลการดำเนินงานโครงการ ฯ ตั้งแต่ 20 ต.ค.-10 พ.ย. นายจ้างเข้าร่วมโครงการจำนวน 127,613 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 32.34 ของเป้าหมายในจ้าง ลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวน 2,062,356 คน คิดเป็นร้อยละ 51.12 ของเป้าหมายลูกจ้างสัญชาติไทย ทั้งนี้ นายจ้างที่ได้รับการอนุมัติแล้ว จำนวน 47,742 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 37.41 ของนายจ้างที่ลงทะเบียน ที่เหลืออยู่ระหว่างรอเจ้าหน้าที่อนุมัติเข้าร่วมโครงการ หรืออยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขข้อมูล
ทั้งนี้ ขอให้นายจ้างที่ประสงค์ จะเข้าร่วมโครงการฯ มั่นใจได้ว่า เงินอุดหนุนจากโครงการ ฯ นายจ้างจะไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เพราะจะไม่ถูกคำนวนเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการหักภาษี