กมธ.พัฒนาการเมือง รับเรื่องตรวจสอบ ‘วีระกร’ หลังปชช. ร้องเรียน ช่วยผู้สมัครนายกฯ อบต. หาเสียง
กมธ.พัฒนาการเมือง สรุปผลการประชุม เผย ปชช. ร้องเรียน ‘วีระกร คำประกอบ’ สส.นครสวรรค์ ช่วยอบต.หาเสียง เข้าข่ายผิด พรบ.การเลือกตั้งท้องถิ่น พร้อมตั้งคณะทำงานจับตาการเลือกตั้งนายกอบต. ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม เขต 3 พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงต่อสื่อมวลชน ถึงสรุปผลการประชุมของคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยข้อเรียกร้องจากประชาชนต่อกรรมาธิการ ในประเด็นให้ตรวจสอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ช่วยหาเสียงผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
สุทธวรรณ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการได้มีการประชุมครั้งที่ 69 เมื่อวันพุธที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาศึกษาในการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเป็นอาสาพัฒนาการเมืองและส่งเสริมการเลือกตั้ง โดยมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งผู้แทนสถาบันพระปกเกล้า ผู้แทนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผู้แทนองค์กรภาคประชาชน ได้แก่ เครือข่าย We Watch ผู้แทนโครงการ ELECT เข้าร่วมประชุม โดย คณะกรรมาธิการได้คำนึงถึงบทบาทของภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
จึงมีแผนจะดำเนินโครงการอาสาพัฒนาการเมืองและส่งเสริมการเลือกตั้ง เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรม โดยสร้างเครือข่ายผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้มีการดำเนินการตรวจสอบการเลือกตั้งด้วยกระบวนการนับผลคะแนนการเลือกตั้งแบบคู่ขนาน (Paralle! Vote Tabulation: PVT) โดยจะนำมาใช้ในการเลือกตั้งในระดับต่าง ๆ คณะกรรมาธิการ จึงต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว
สุทธวรรณ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า ข้อจำกัดในการเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งของประชาชน ตามกฎหมายจะไม่อนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์เลือกตั้งภายในหน่วยเลือกตั้งได้อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขระเบียบในเรื่องดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะแก้ไขให้แล้วเสร็จได้ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานฯ มีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการอาสาพัฒนาการเมืองและส่งเสริมการเลือกตั้ง
ในส่วนของ ผู้แทนเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้ามีพันธกิจในการส่งเสริมงานวิชาการของรัฐสภา และส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง ทั้งนี้ สถาบันพระปกเกล้ามีความยินดีที่จะร่วมให้ข้อมูลและร่วมกับคณะกรรมาธิการในการดำเนินโครงการอาสาพัฒนาการเมืองและส่งเสริมการเลือกตั้ง
จากการทำให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใส จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นจากสังคม ทำให้การเข้าสู่ตำแหน่งผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถูกตั้งคำถามจากประชาชน และสถาบันพระปกเกล้า มีการดำเนินโครงการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียง เพื่อส่งเสริมบทบาทภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งและการซื้อสิทธิขายเสียงได้ในระดับหนึ่ง
ในส่วนผู้แทน We Watch และผู้แทนโครงการ ELECT ในฐานะผู้แทนจากองค์กรภาคประชาชนกล่าวถึงการดำเนินงานว่า ต้องพบกับปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานในการเก็บข้อมูลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ผ่านมา โดย กมธ. มีความเห็นว่า โครงการอาสาพัฒนาการเมือง ในการส่งเสริมการเลือกตั้ง จำเป็นต้องให้ประชาชนเข้าร่วมทำหน้าที่สังเกตการเลือกตั้งจำนวนมาก จึงต้องอาศัยผู้มีความรู้ความเข้าใจ ใช้วิธีอบรม ต้องได้รับการร่วมมือสนับสนุนจากด้านต่าง ๆ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมาธิการจะพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพื่อเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากำหนดกรอบดำเนินงานต่อไป
นอกจากนี้ ทางคณะกรรมาธิการยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในหลายเรื่อง อาทิ กรณีประชาชนจาก ต.พระนอน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ที่ร้องเรียนในการช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีแนวโน้มขัดต่อกฎหมาย ที่ระบุว่าห้ามข้าราชการการเมืองช่วยหาเสียงการเลือกตั้ง โดยประชาชนได้ส่งคลิปให้กับทางคณะกรรมาธิการ ซึ่งเราพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นข้อกังวล ที่จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยทางคณะกรรมาธิการได้สอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ความเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืน พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 34 ได้ระบุว่า ห้ามบุคคลตามมาตรา 34 ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใดตาม
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และตามมาตรา 69 ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่กระทำการใด ๆ อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร เว้นแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่และอำนาจ ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติ ระงับ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขการกระทำดังกล่าว
รวมถึงมาตรา 126 วรรคสอง ระบุไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 65 (3) (4) หรือ (5) หรือมาตรา 69 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่ง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี ทางคณะกรรมาธิการ จึงได้ตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางคณะกรรมาธิการได้เปิดคลิปวิดีโอต่อสื่อมวลชน เป็นภาพ นายวีระกร คำประกอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.นครสวรรค์ เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ประชาสัมพันธ์เข้าข่ายช่วยหาเสียงผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พร้อมจะส่งคลิปหลักฐานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาต่อไป