หนังเลียนแบบคน หรือ คนเลียนแบบหนัง ?

เมื่อใดที่จัดรายการกับคุณวารินทร์ สัจเดว เรื่องภาพยนตร์ คุณวารินทร์ จะตั้งคำถามแบบไม่ต้องการคำตอบเสมอว่า “ตกลงหนังเลียนแบบชีวิต หรือชีวิตเลียนแบบหนัง?”

คำถามนี้ เป็นคำถามในรูปแบบของ “ไก่กับไข่ อันไหนเกิดก่อนกัน” ? 

จุดประสงค์ของภาพยนตร์ คือการให้ความบันเทิง ความบันเทิง ไม่ได้หมายถึงความร่าเริง สนุกสนาน ตลกโปกฮา เท่านั้น! ผู้ชมได้รับความบันเทิงจากการร้องไห้จนตาบวม เมื่อได้ชมเรื่องโศกเศร้า หรือตื่นเต้นจนต้องยกขาขึ้นจากเก้าอี้ หรือส่งเสียงร้องด้วยความตกใจ การได้ปลดปล่อยทางอารมณ์คือความบันเทิง ความบันเทิงของภาพยนตร์ จึงหลากหลาย รวมไปถึงภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวสำคัญในประวัติศาสตร์ เรื่องราวที่เปิดโลกทัศน์ให้ชาวโลก เรื่องราวที่ชวนให้ผู้ชมคิดตาม ทั้งในแง่จิตวิทยา สังคม วัฒนธรรม ศรัทธา และความเชื่อ เรื่องราวทั้งเรื่อง หรือเพียงบางช่วง ฝากข้อคิดและกระตุ้นให้ผู้ชมวิเคราะห์ด้วยเหตุผล

การสร้างภาพยนตร์โดยเสนอความคิดรวม (Theme) หรือพล็อต (Plot) ที่ตรงกับอารมณ์สาธารณะในช่วงเวลานั้น เป็นแนวทางของการสร้างภาพยนตร์ ที่สามารถทำเงินได้ในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน เช่น ในยามที่สังคมส่วนใหญ่ รู้สึกคับข้องใจ เก็บกด แค้นเคือง อยากได้พลังวิเศษที่ใช้ปราบทรราช หรือปราบนักการเมืองที่เหมือนปีศาจร้าย ภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่ สามารถทดแทน คลายความเก็บกดได้ ภาพยนตร์แนวเทพนิยาย แอนิเมชัน แฟนตาซี และมิวสิคัล เป็นหนทางหนีจากความวุ่นวายในโลกจริง (Escapism) ภาพยนตร์กลุ่มนี้ จะออกมาในช่วงที่ผู้คนในสังคม หรือทั้งโลกเผชิญอุปสรรคที่ยืดเยื้อ ไม่จบสิ้น และปัญหาที่แก้กันไม่จบ 

ในช่วงของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่ ออกมาถึง 33 เรื่อง ทั้งในแบบแอ็กชันแฟนตาซีจริงจัง และแบบแอ็กชันปนตลก เช่น Batman, Superman, Aquaman, Wonder Woman, Spiderman, Deadpool, Captain America, Dr. Strange, Suicide Squad, Fantastic Four, Guardians of the Galaxy, Justice League, Raknarok, Black Panther, Ant Man, Avengers, Captain Marvel และอีกมากมายรวมทั้งซูเปอร์ฮีโร่ในแบบแอนิเมชัน ซูเปอร์ฮีโร่ในภาพยนตร์ เผชิญหน้ากับอำนาจชั่วร้าย เพื่อปกป้องโลก ปกป้องประชาชนไร้เดียงสาที่ตกเป็นเหยื่อของสิ่งเลวร้าย

เมื่อหนังจบ ฝ่ายชั่วร้ายถูกทำลาย นำความพึงพอใจมาให้ผู้ชม ความรู้สึกหนักอึ้งที่สะสมอยู่ในใจ ได้ถูกปลดปล่อยออกไป แม้ว่าในโลกจริงนั้น สถานการณ์รอบตัวยังไม่เปลี่ยนแปลง

Black Panther เป็นซูเปอร์ฮีโร่ผิวดำ เป็นชนเผ่าที่ผดุงไว้ซึ่งความชอบธรรม และปกป้องโลก Wonder Woman และเผ่าพันธุ์ของเธอ ก็เช่นกัน ตัวละครเหล่านี้เกิดจากความต้องการที่ซ่อนอยู่ในจิตสำนึก อยากให้โลกมีคนเก่งเช่นในหนัง มาช่วยกอบกู้สถานการณ์ในยามที่สภาพความเป็นอยู่มืดมน

หนังเป็นช่องทางหลีกหนีจากความจริง เพราะหนังชดเชยในสิ่งที่อยากให้มี อยากให้เป็น แต่เป็นไปไม่ได้ในโลกจริง ผู้คนสานต่อจินตนาการของภาพยนตร์ได้เพียง คอสเพลย์ แต่งแฟนซีเป็นซูเปอร์ฮีโร่ไปงานปาร์ตี้ หรือสร้างความสนุกสนานในโอกาสต่าง ๆ

นอกจากซูเปอร์ฮีโร่แล้ว ภาพยนตร์ยังถ่ายทอดเรื่องราวในมุมอื่น ๆ ของชีวิตมนุษย์ เช่นเรื่องการคอร์รัปชันในองค์กรทั้งของรัฐ และเอกชน การเสียสละและต่อสู้เพื่อส่วนรวม การเหยียดชนชั้นและสีผิว ไปจนถึงเรื่องการล่วงเกินทางเพศของนักบวชในศาสนาต่าง ๆ เป็นเรื่องราวของหนังเลียนแบบชีวิต

แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง สังคมเห็นว่าผู้คนเลียนแบบหนัง โดยกล่าวโทษว่าหนังเป็นต้นเหตุของการใช้ยาเสพติด อาชญากรรมประเทศต่าง ๆ ทั้งจี้ ปล้น ข่มขืน เพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน สังคมที่มี LGBTQ เพิ่มขึ้น การฆ่าตัวตาย การหย่าร้าง และพฤติกรรมไม่สร้างสรรค์สารพัดรูปแบบเกิดจาก คนเลียนแบบหนัง

ด้วยเหตุที่เชื่อกันว่า หนังมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเลียนแบบหนัง จึงต้องมีการตรวจตราเนื้อหาที่หนังจะนำเสนอ

ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่สะท้อนพฤติกรรมของสงฆ์ ที่ไม่ตรงกับระเบียบของสงฆ์หรือพระวินัย ถูกห้ามฉาย ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้ศาสนาพุทธเสื่อมเสีย ภาพยนตร์หลายเรื่องต้องการสื่อกับผู้ชมด้วยปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ในชีวิตจริง กองเซ็นเซอร์และฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ศาสนาต่างไม่ต้องการให้ภาพในทางลบของสงฆ์ปรากฏต่อสาธารณชน

พฤติกรรมสงฆ์ที่เป็นประเด็นใหญ่ของสังคมไทย ในช่วงนี้คือเรื่องของพระนักเทศน์ ที่เปิดกล้องในโซเชียลมิเดีย ไลฟ์สด พูดคุยกับบรรดาผู้ที่เป็นแฟนคลับ และผู้ที่เข้ามาชมเพราะอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มียอดชมไลฟ์เกินสองแสน อีกทั้งยอดการให้ความเห็น และการแสดงปฏิสัมพันธ์กับรายการไลฟ์มีจำนวนแสนเช่นกัน

ความไม่พอใจต่อพระทั้งสองรูป คือการวางตัว และแสดงออกของพระ ที่คนจำนวนมากถือว่าไม่สำรวม มีการหัวเราะเฮฮา ที่ดูไม่เหมาะต่อการใส่ผ้าเหลือง มีการเย้าแหย่ พูดจาตลกตลอดเวลา และไม่ได้สอนธรรมะ ดังที่ได้ประชาสัมพันธ์ไว้ว่าจะเป็นการไลฟ์เพื่อเผยแผ่ธรรมะ

ยอดคอมเมนต์หลักแสน ทักทาย นมัสการ ชื่นชอบพระ ให้ความเห็นว่าได้ติดตามมายาวนาน ได้ความรู้ทางธรรมะ ได้ประโยชน์จากการติดตามฟัง และได้ความบันเทิงจากการนำเสนอ อันสอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการด้านศาสนาพุทธ ว่าผู้คนรุ่นใหม่ ไม่ต้องการคำสอนธรรมะที่เป็นภาษาบาลี หรือการสอนในลักษณะเปิดตำราสอน และผู้คนจำนวนไม่น้อย ก็ต้องการให้พระ เป็นมนุษย์ที่จับต้องได้ พูดคุยด้วยได้เช่นเป็นญาติ ไม่ต้องอยู่บนธรรมาสน์ ต้องเกรงต้องกลัว นักวิชาการยกตัวอย่างภาพยนตร์ที่ตัวละครพระ มีบุคลิกที่เป็นปุถุชน มีอาการตื่นตะหนก มีอารมณ์ขัน เช่น หลวงพี่เท่ง โกยเถอะโยม นะโมโอเค มากับพระ และ หลวงตามหาเฮง เป็นต้น

แต่ความคิดนี้ถูกแย้งว่า “พระที่ตลกนั้นเป็นพระในหนัง ไม่ใช่ความจริง”

หากคิดว่าตัวละครพระตลก เป็นเพียงตัวละครในหนัง เหตุใดตัวละครพระที่มีเมีย เล่นกีตาร์ ทำตัวผิดศีล จึงไม่คิดว่าเป็นเพียงตัวละครในหนัง ทำไมจึงต้องเซนเซอร์ ไม่ให้นำเสนอเพราะกลัวสังคมเข้าใจผิด?

การพิจารณาภาพยนตร์อย่างลุ่มลึก จะทำให้เห็นว่าไม่มีตัวละครหรือเนื้อหาในภาพยนตร์เป็นเพียงภาพบนจอ การที่ภาพยนตร์แนวตลกไปกับพระ สะท้อนการรับรู้และความรู้สึกของผู้คนในสังคมอย่างแน่นอน เหตุใดผู้คนจึงแห่กันไปชมภาพยนตร์สงฆ์หรรษา จนทำรายได้ถึงร้อยล้าน ศึกษาการรับรู้ของประชาชนต่อพระสงฆ์ ในมิติวิชาการ 

ไม่ใช่กล่าวตัดบทว่า “ความประพฤติที่ไม่สำรวมของพระสงฆ์ในหนังไทย เป็นแค่หนัง” ซึ่งเป็นการเลี่ยงที่จะรับรู้ทัศนะของผู้คนต่อสงฆ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

และอย่าด้อยค่าภาพยนตร์ เพราะภาพยนตร์กับผู้คนนั้น เลียนแบบกันสลับไปมา


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9