สมาพันธ์ SME ไทย แนะรัฐเข้มมาตรการโควิด หนุนเปิดเมือง - คลายล็อกดาวน์เพิ่ม

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยหนุนรัฐคลายล็อกดาวน์ และเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นแต่ต้องมีมาตรการดูแลและป้องกันที่ชัดเจน วิตกหากกลับมาระบาดรอบ 5 จะยิ่งซ้ำเติม ศก.และเอสเอ็มอีวิกฤตหนักขึ้น แนะเร่งฉีดวัคซีน ควบคุมราคา ATK ไม่เกิน 100 บาทต่อชุดเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการป้องกันดูแลตนเอง ขณะที่มาตรการเร่งด่วนช่วยเอสเอ็มอีต้องลดดอกเบี้ย พักเงินต้น พักดอกเบี้ย 6 เดือนทั้งระบบ

ทั้งนี้ แม้การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จะส่งผลดีต่อเอสเอ็มอีและเศรษฐกิจภาพรวม แต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่าอัตราการติดเชื้อใหม่ของไทยรายวันก็ยังคงอยู่ระดับสูงกว่าหมื่นคนแม้จะลดลงจากก่อนหน้าไปบ้างก็ตาม ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นสุดคือการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนครบ 2 เข็มโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการควบคุมราคาชุดตรวจโควิด-19 หรือ ATK ไม่ให้สูงกว่า 100 บาทต่อชุดและเป็น ATK ที่ได้มาตรฐานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโดยง่ายที่จะนำมาดูแลป้องกันตนเอง ขณะที่การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาควรนำบทเรียนจากภูเก็ตแซนด์บอกซ์มาปรับใช้ ซึ่งมีข้อกังวลว่าต่างชาติอาจนำเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ เข้ามาได้ จำเป็นต้องมีมาตรการที่ป้องกันอย่างรัดกุม

“เราเห็นด้วยอย่างยิ่งทั้งการค่อย ๆ คลายล็อกดาวน์ และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นให้แก่เศรษฐกิจไทย แต่ก็ต้องควบคู่กับมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดที่ต้องวางไว้ให้ชัดเจนด้วยเพราะอาจเสี่ยงทำให้ไทยกลับมาสู่การระบาดรอบใหม่ได้ซึ่งถึงตอนนั้นจริงทุกอย่างจะหนักกว่าเดิม ซึ่งการฉีดวัคซีนถ้ารัฐทำได้ตามแผนหรือเร็วกว่าแผนได้เท่าไหร่ก็จะดีมากเท่านั้น เพราะถ้าต่างชาติจะเข้ามาแล้วไทยยังมีการติดเชื้อต่อวันสูงก็คงจะไม่ทำให้เขาเชื่อมั่น ส่วนชุด ATK หลังจากที่รัฐลดหย่อนภาษี 1.5 เท่าก็ดีสำหรับเอกชน แต่จะให้ถึงประชาชนทั้งหมดต้องควบคุมราคาไม่ให้แพงเกินไป” นายแสงชัยกล่าว

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลังได้รับผลกระทบโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ตลอดที่ผ่านมาส่งผลให้ยังคงประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องจำนวนมาก และหากไม่เร่งแก้ไขจะนำไปสู่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ซึ่งสมาพันธ์ฯ ได้เคยเสนอมาตลอดว่าควรใช้มาตรการพักต้น พักดอกเบี้ย 6 เดือน และลดดอกเบี้ยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีในกลุ่มเปราะบางเพื่อชะลอการเกิด NPL แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐ

นอกจากนี้ เพื่อการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ควรมีการจัด 3 กองทุน คือ 1.) กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี โดยนำเอสเอ็มอีที่ตกเกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อหรือที่ไม่เป็น NPLs มาช่วยเหลือและยกระดับการพัฒนา 2.) กองทุนฟื้นฟู NPLs ที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างเป็นธรรม และ 3.ฉ กองทุนนวัตกรรม เพื่อที่จะขับเคลื่อนให้เอสเอ็มอีได้กลับมาเริ่มต้นธุรกิจใหม่ เป็นต้น


ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9640000092202