‘พิธา’ ยืนยัน พร้อมสู้ทุกกติกาเลือกตั้ง ด้าน 2 ส.ส.เขต ‘ก้าวไกล’ ซัด ออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ แต่กลับให้ย้อนใช้ระบบเก่า ชี้ ผ่านมาแล้ว 24 ปี บริบทเปลี่ยนแล้วสิ้นเชิง ควรพัฒนาเป็นระบบ ‘บัตรสองใบ’ ที่สะท้อนเสียงของประชาชนถูกตามสัดส่วนจริง

แบบปี 40 ก็ไม่กลัว ‘พิธา’ ยืนยัน พร้อมสู้ทุกกติกาเลือกตั้ง ด้าน 2 ส.ส.เขต ‘ก้าวไกล’ ซัด ออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ แต่กลับให้ย้อนใช้ระบบเก่า ชี้ ผ่านมาแล้ว 24 ปี บริบทเปลี่ยนแล้วสิ้นเชิง ควรพัฒนาเป็นระบบ ‘บัตรสองใบ’ ที่สะท้อนเสียงของประชาชนถูกตามสัดส่วนจริง กระทุ้ง ‘หน้าที่ ส.ส.’ คือใช้อำนาจ ‘นิติบัญญัติ’ แทนประชาชน ไม่ใช่แย่งงานดูแลถนน น้ำ ไฟ ของ ‘ท้องถิ่น’ ไปทำเอง

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่อาคารรัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ร่วมอภิปรายญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 แก้ไขมาตรา 83 กล่าวว่า น่าเสียดายที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่สามารถเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ เพราะการมี สสร. จะเป็นการเปิดพื้นที่ ที่สังคมไทยจะสามารถมาร่วมกันหาฉันทามติใหม่ มาหาทางออกร่วมกันจากประชาชนทุกกลุ่ม ทุกความฝัน เพื่อมาสะสาง หาทางออกจากปัญหาที่ต้นตอได้อย่างแท้จริง

“เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ประชาชนเรียกร้อง ได้ถูกลดทอนลงเหลือแค่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะเรื่องระบบเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดพวกเราก็ต้องเสนอทางออกที่ดีที่สุดให้สังคมในเรื่องนี้ด้วย ทั้งนี้ บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ เป็นสิ่งที่พวกเราต้องการตั้งแต่แรก หากจะแก้ไขระบบเลือกตั้งใหม่ให้เป็นแบบบัตร 2 ใบ ก็จำเป็นต้องสรุปบทเรียนจากปัญหาระบบเลือกตั้งที่เคยใช้มาแล้วในอดีต ที่มีข้อบกพร่องด้วย แล้วพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมโดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อปี 2540 เป็นรากฐาน” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวต่อไปว่า รัฐธรรมนูญปี 40 ได้นำระบบบัตรเลือกตั้งสองใบมาใช้ โดยการมี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อนั้น ได้กระตุ้นให้พรรคการเมืองแข่งขันกันในเชิงนโยบายที่ตอบสนองประชาชนทั้งประเทศมากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนความเป็นสถาบันทางการเมืองให้แก่พรรคการเมืองด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเห็นด้วยหากจะแก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ ประชาชนสามารถเลือกคนที่ใช่ และเลือกพรรคที่ชอบ และสนับสนุนให้คงสัดส่วนจำนวน ส.ส. แบบเขตกับแบบบัญชีรายชื่อเป็น 350 ต่อ 150 เพื่อส่งเสริมให้การทำงานของผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งได้สัดส่วนเหมาะสมกับการทำงานของผู้แทนราษฎรในเชิงนโยบาย นอกจากนี้เรายังสามารถที่จะปรับปรุงระบบเลือกตั้งแบบบัตรสองใบในอดีตให้ดีขึ้นได้อีก ด้วยการออกแบบวิธีการคำนวณ ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองในสภาอย่างเป็นธรรม ให้สะท้อนเสียงทุกเสียงของประชาชนได้มากขึ้น

“ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยผ่านการรัฐประหารมาแล้ว 2 ครั้ง ผ่านวิกฤตการเมืองอีกหลายครั้ง ประเทศของเราเผชิญกับโจทย์ใหญ่ที่สำคัญและยังหาทางออกไม่ได้ คือเรายังไม่สามารถหาข้อยุติว่าระบบการเมืองแบบไหนที่ทุกฝ่ายยินยอมพร้อมใจที่จะอยู่ร่วมกันได้ และระบบเลือกตั้งก็เป็นส่วนหนึ่งของระบอบการเมืองด้วย” นายพิธา ระบุ

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังระบุด้วยว่า เรื่องนี้ต้องมองให้ยาว ซึ่งการออกแบบระบบเลือกตั้ง จำเป็นต้องตอบโจทย์ปัญหาการเมืองที่ประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ และต้องเป็นระบบที่ออกแบบสำหรับระยะยาว ไม่ใช่มองแค่ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น

นายพิธา กล่าวว่า เราควรออกแบบระบบการเมือง รวมถึงระบบการเลือกตั้ง ให้สนับสนุนประสิทธิภาพของระบบรัฐสภา สร้างความเข็มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง พร้อม ๆ กับสามารถโอบรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความฝัน ของคนในชาติได้ด้วย ทำให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ปลอดภัย แปรเปลี่ยนทำให้ทุกคะแนนเสียงจากทุกความฝัน ทุกพื้นที่ มีความหมาย ถูกคิดคะแนนอย่างเป็นธรรม ให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้เสียที ตรงกันข้าม เราไม่ควรออกแบบระบบที่ผลักให้ประชาชนรู้สึกว่า ระบบรัฐสภาไม่ใช่พื้นที่ของพวกเขา ไม่ใช่พื้นที่ที่เสียงของพวกเขาจะมีความหมาย แม้ว่าจะเป็นเสียงที่ขัดหูขวางตาของชนชั้นนำผู้มีอำนาจ

“ในท้ายที่สุดผมเชื่อว่าหากระบบเลือกตั้งสามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้อย่างแท้จริง อำนาจของประชาชนที่เป็นอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ จะสามารถปรากฏกายขึ้นในรัฐสภาแห่งนี้ สามารถเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติ สามารถเข้าไปใช้อำนาจบริหารจัดตั้งรัฐบาล และเมื่อนั้นเสียงของประชาชนจะไม่มีวันอนุญาตให้ระบอบที่กดหัวประชาชนดำรงอยู่ได้อีกต่อไป”

“พวกผม พรรคก้าวไกลทุกคน ทุกจังหวัด ทุกเขตเลือกตั้ง พร้อมที่จะต่อสู้ผ่านสนามการเลือกตั้ง ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะพยายามออกแบบระบบการเลือกตั้งให้ตนเองได้เปรียบอย่างไร เพราะพวกผมมั่นใจว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่จะมีความหมายมากที่สุด มีพลังมากที่สุด และมีความชอบธรรมมากที่สุด พวกผมจะนำเสียงของผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ มาปรากฏในสภาผู้แทนราษฎรให้ได้อย่างแท้จริง” นายพิธา กล่าวทิ้งท้าย

‘ปดิพัทธ์’ ย้ำ ระบบเลือกตั้งต้องออกแบบอย่างประณีต

ด้าน ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.เขต 1 จังหวัดพิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เรื่องระบบเลือกตั้งในรายละเอียดเป็นเรื่องเทคนิคและเป็นผลประโยชน์พรรคการเมือง ดังนั้น แต่ละประเทศที่จะออกแบบระบบการเลือกตั้งจะต้องมาจากบริบททางสังคมว่า อยากจะออกแบบระบบรัฐสภาอย่างไร ออกแบบสัดส่วน ส.ส.แบบไหน จะแก้ปัญหาของกลุ่มประชากรต่าง ๆ อย่างไร จึงไม่ใช่การมาคุยกันเรื่องตัวเลข ซึ่งไม่แก้ปัญหาว่าจะมีระบบเลือกตั้งที่ดีได้อย่างไร 

“เราจึงไม่เสนอเรื่องนี้ในชั้นกรรมาธิการ เพราะการออกแบบระบบเลือกตั้งจำเป็นต้องถกเถียงในชั้น สสร. จำเป็นต้องมีนักวิชาการมาร่วม หรือแม้แต่ควรมีการทดลองใช้ เช่น ในการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือการเลือกตั้งบางอย่างมาก่อน เพื่อออกแบบระบบอย่างประณีต เพราะเรื่องนี้จะมีผลต่อพรรคการเมืองและคุณภาพของสังคมไทยโดยรวม” 

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า แต่เมื่อทุกคนรับรู้กันดีว่า รัฐธรรมนูญ 60 มีปัญหาและอาจมีการเลือกตั้งเร็ว ๆ นี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องยอมรับความจริงและต้องพูดคุยกันเรื่องระบบเลือกตั้ง แต่สิ่งที่พรรคก้าวไกลพยามยามผลักดัน แม้จะมีข้อจำกัดคือ การออกแบบระบบเลือกตั้งควรต้องคิดไปข้างหน้าไม่ใช่มีปัญหาแล้วจะกลับไปใช้ระบบเมื่อ 24 ปีก่อน อย่าลืมว่า 2 ปีที่แล้วคนไทยยังไม่รู้จักโควิด 10 ปีที่แล้วยังไม่มีสมาร์ทโฟน ดังนั้น ระบบเลือกตั้งเมื่อ 24 ปีที่แล้วจึงไม่มีทางที่จะตอบโจทย์ทางการเมืองในปี 64 ได้ 

“หลักการที่สภารับมาได้กำหนดตัวเลขสัดส่วน ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ไว้ แต่หากคิดแค่เรื่องการคำนวณตัวเลขก็คงเถียงกันไม่จบ เพราะบางประเทศไม่มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เลยก็มี แต่นั่นเพราะ ส.ส.เขตทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติได้อย่างดี ไม่ต้องไปดูแลเรื่องถนนหนทาง ไฟส่องสว่าง น้ำประปา เพราะตรงนั้นคือหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการ เพราะฉะนั้นจะมี ส.ส.เขต ทั้งหมดก็ได้ หากทำหน้านิติบัญญัติได้โดยถ้าไม่หลงทางเรื่องการทำหน้าที่ของ ส.ส.ว่าคืออะไร”

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนสาเหตุที่ต้องมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์นั้น หากจำได้คือ ก่อนปี 40 เอาเฉพาะในจังพิษณุโลกที่ตนเกิดมา นักการเมืองมีแค่ 3 แบบ  คือ เจ้าพ่อ มาเฟีย และนายทุนเกษตร คนธรรมดาที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปในระบบการเมืองไม่ได้ การชนะการเลือกตั้งได้ต้องเป็นนายทุนเกษตรที่ผูกขาดเศรษฐกิจได้หรือเป็นผู้มีอิทธิพลที่มีลูกน้องมากมาย จึงมีการคิดเรื่องระบบปาร์ตี้ลิสต์และสามารถทำให้พรรคการเมืองหาเสียงด้วยนโยบายได้ เป็นมรดกอันดีของรัฐธรรมนูญ 40 แต่มรดกอันดีนี้ได้พิสูจน์ผ่านการเลือกตั้งมมาแล้ว 2 ครั้งคือ ปี 44 และ 48 ทำให้พบว่า สัดส่วนการคิดคำนวณคะแนนแบบนี้ยังมีข้อผิดพลาดคือ จำนวนเก้าอี้ ส.ส.ที่เกินความเป็นจริงจากคะแนนนิยมของพรรคการเมืองนั้น ๆ ที่ประชาชนเลือกมา เพราะคำนวณจากคะแนนเสียงแบบคู่ขนานที่คิดแยกกัน ถ้าถอยกลับไปก็เหมือนเราไม่เรียนรู้ข้อผิดพลาดอะไรเลย 

“ทำไมจึงไม่คิดหาวิธีการคำนวณคะแนนที่ถูกต้องเป็นธรรม ทำไมเราจึงไม่คิดหาวิธีถ่วงดุลตรวจสอบในสภาให้ได้ดีขึ้น แต่การยืนยันเพื่อความถูกต้องนี้กลับถูกนำไปบิดเบือนว่า พรรคก้าวไกลกลัวการเลือกตั้งแบบ MMM หรือแบบคู่ขนาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จริง พรรคก้าวไกลพร้อมเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งทุกรูปแบบแต่ไม่สบายใจเลยที่จะเดินกลับไปสู่ระบบที่มีข้อผิดพลาดแบบนี้โดยการเห็นชอบของสภา สิ่งที่ผมพยายามผลักดันบรรยากาศทางการเมืองพิษณุโลกให้มีเปลี่ยนแปลงคือบทบาทหน้าที่ของ ส.ส. 

จนตอนนี้เวลาไปลงพื้นที่ เช่น จะไปแก้ปัญหาน้ำประปาสีแดง ประชาชนเริ่มไล่ให้ไปทำหน้าที่ในสภาโดยบอกว่านี่คือหน้าที่ของ อปท. หลายครั้งที่ไปพบประชาชน เขาจะถามว่ากฎหมายที่สัญญาไว้ตอนเลือกตั้งผลักดันถึงไหนแล้ว รัฐสวัสดิการผลักดันหรือยัง กฎหมายความเท่าเทียมทางเพศผลักดันหรือยัง เขาไม่ได้บอกให้ไปดูหลังคาเสียหายอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่เราพยายามพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้หน้าที่ ส.ส.เป็น ส.ส.จริง ๆ แต่กลับไปแบบเดิมและบอกว่า ควรมี ส.ส.เขต เพิ่มขึ้นจาก 350 เป็น 400 เพื่อจะได้ไปดูแลประชาชนได้ทั่วถึงนั้น ต้องขอโทษที่ต้องบอกว่า หากคิดคำนวนแล้วเท่ากับ ส.ส.ที่เพิ่มขึ้นลดจำนวนการดูแลประชาชนลงไปได้แค่ 20,000 คนเท่านั้น เหตุผลนี้จึงไม่หนักแน่นพอในการยืนยันให้ผ่านสัดส่วนแบบนี้” ปดิพัทธ์ ระบุ 

ดูแลพื้นที่คืองานท้องถิ่น ‘จิรัฏฐ์’ เทียบ ส.ส.เพิ่มอีกแค่ 50 จะดูแลใกล้ชิดกว่าบุคลากร 3,000,000 ได้อย่างไร

จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.เขต 4 จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอแปรญัตติในมาตรา 83 เพื่อขอให้คงจำนวน ส.ส. เขต 350 ต่อจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน เอาไว้ ด้วยเหตุผลประการแรกคือ มิติด้านการเแข่งขันของพรรคการเมือง เพราะการแก้ไขให้เพิ่ม ส.ส.เขต เป็น 400 คน และปาร์ตี้ลิสต์เหลือ 100 คน หมายความว่าต้องขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ซึ่งผู้เป็นคนขีดเส้นจะได้เปรียบและยืนยันว่าการขีดเส้นมีผลต่อการเลือกตั้งมาก ไปดูเขตตนก็ได้เพราะหากดูจากแผนที่เทียบกับจำนวนประชากรจะรู้ทันทีว่าการขีดเส้นแบ่งเขตจะต้องไม่มีขีดอย่างที่เป็นตอนนี้แน่นอน 

“ประการต่อมา คือเอาหลักการมาจากอะไรไปบอกว่า ส.ส. 400 เหมาะกว่า 350 และอ้างว่าจะดูแลแลประชาชนได้ใกล้ชิดมากขึ้น ใกล้แค่ไหนคือดี ถ้าใช้หลักการนี้ไม่คงต้องมีปาร์ตี้ลิสต์เพราะไม่ใกล้ชิดประชาชนเลย แต่เจตนาของการแบ่งเขตเลือกตั้งคือ การกระจายตัวแทนของประชาชนให้มาจากทุกเขตพื้นที่ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ดูแลสารทุกข์สุกดิบหรือดูแลเฉพาะเขตของตัวเอง เมื่อเป็นผู้แทนราษฎร หมายถึงการเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ และหน้าที่ของผู้แทนก็คือ การใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชน ส.ส. ไม่ได้มีหน้าที่ในการใช้อำนาจบารมีเพื่อทำให้เขตตัวเองดีขึ้นโดยดึงงบประมาณไปลงเขตเลือกตั้งของตัวเอง ไม่มีหน้าที่ใช้อำนาจบารมีไปดึงเอาหน่วยราชการไปช่วยในเขตพื้นที่ตัวเอง ถนนพัง น้ำไม่ไหล ไฟดับ ก็ไม่ใช่งานหลักของผู้แทนราษฎร เพราะเรามี อปท.อยู่แล้วถึง 7,850 แห่งทั่วประเทศ 

การไปแทรกแซงงานของ อปท.ต่างหากที่จะทำให้การแก้ปัญหาพื้นที่ยากขึ้นเพราะต้องใช้อำนาจบารมีที่ให้คุณให้โทษเขาได้ ตามหลักก็คือการลุแก่อำนาจ ซึ่ง อปท.ก็เลือกตั้งมา การทำแบบนั้นจึงดูเหมือนใหญ่กว่าประชาชนเกินไป ไม่เบื่อหรือที่การเมืองจะมีแต่บ้านใหญ่เข้าไปได้เท่านั้น ถ้าใช้วิธีแบบนี้คนธรรมดาไม่มีโอกาสเข้ามา อาชีพนี้จะจำกัดไว้แค่คนหน้าเดิม 

"ที่จะเพิ่มเป็น 400 คน บอกว่าเพราะดูแลไม่ทั่วถึง หมายความ อปท. 7,850 แห่ง ที่มีบุคลากรกว่า 3,000,000 กว่าคนดูแลไม่ทั่วถึงหรือ ต้องตอบตรงนี้ก่อน ถ้าแบบนี้ยังไม่ทั่วถึง การเพิ่มผู้แทนอีก 50 คนจะทั่วถึงได้อย่างไรถ้าเทียบกับสามล้านคน แต่ถ้าห่วง กลัวไม่มีคนดูแลสารทุกข์สุกดิบประชาชนก็มีวิธีอื่นอีกมากที่ทำได้โดยไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญมาตรานี้และทำได้ทันที เช่น ใช้หน้าที่ กมธ.ไปตรวจสอบการใช้งบประมาณให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน วันนี้ทำได้เลย ไม่ควรเอาเวลาของสภาไปทำอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์เพียงแค่เพื่อแสวงหาความได้เปรียบทางการเมืองเท่านั้น 

สำหรับจำนวนปาร์ตี้ลิสต์เวลานี้ เรื่องดีที่เกิดขึ้นก็มีมากมายในสภาแห่งนี้ วันนี้ เรามีผู้แทนที่มาจากกลุ่มแรงงานที่พูดเรื่องแรงงานโดยเฉพาะ ยังมีเรื่องคนพิการ ชาติพันธุ์ LGBT ที่มีตัวแทนของเขาในสภามาผลักดันเรื่องความเท่าเทียมโดยเฉพาะ เมื่อก่อนเราไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ และเราทิ้งไม่ได้ ต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง การเลือกตั้งผลต้องมาจากการตัดสินใจของประชาชนเป็นสำคัญ ตัวแปรต้องไม่ใช่กติกา ถ้าอยากชนะการเลือกตั้งก็ไปทำงาน ถ้าไม่ยอมทำงานที่ตัวเองควรจะทำแต่ไปแก้กติกามันไม่ถูกต้อง และถ้าอยากแก้ปัญหาประเทศนี้จริง ควรไปตั้ง สสร. ให้ได้ นั่นต่างหากคืการแก้ปัญหาจริง ๆ และจะได้แก้ระบบการเลือกตั้งที่ท่านต้องการด้วย"


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9