“ดรุณวรรณ” ศปฉ.ปชป.เสนอกองทัพใช้รถพยาบาลสแตนด์บายศูนย์พักคอย กระจายครบทุกเขตพื้นที่ ช่วยเหลือส่งผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าทีมประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อ ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ (ศปฉ.ปชป.) เปิดเผยว่าตามที่กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติ เพื่อคัดแยกผู้ป่วยเข้าระบบแยกกักตัวทั้งแบบดูแลตนเองที่บ้าน Home isolation ในกลุ่มผู้ที่ดูแลตนองได้ ส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถดูแลที่บ้านได้ ให้ไปขอรับการดูแลในระบบชุมชน (Community Isolation) ศูนย์พักคอย เพื่อตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้งเพื่อป้องกันผลบวกลวงก่อนส่งตัวไปเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
แต่จากการประสานงานของทีม ศปฉ. ปชป. ในการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อให้เข้าถึงบริการตามแนวทางเวชปฏิบัติยังพบอุปสรรคที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งในส่วนของบุคลากรทางด้านการแพทย์และบุคลากรสนับสนุนในด้านต่าง ๆ กล่าวคือในปัจจุบันศูนย์พักคอยในชุมชนยังมีไม่มากพอที่จะรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม แม้ในขณะนี้ กทม.จัดตั้งศูนย์พักคอยฯ แล้ว 53 แห่ง ในพื้นที่ 50 เขต เปิดบริการแล้ว 24 แห่ง ก็ตาม รวมถึงข้อจำกัดเรื่องรถพยาบาลในการส่งต่อผู้ป่วยเคสสีเหลืองที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสีแดงอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถส่งเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ทันจากการที่มีรถรับส่งผู้ป่วยไม่เพียงพอ จึงมีข้อเสนอเพิ่มเติม ดังนี้
สนับสนุนอัตรากำลังในการจัดตั้งและขยายศูนย์พักคอยให้เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยโดยเร็ว พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านการพยาบาลเช่น พยาบาลเสนารักษ์ไปช่วยดูแลตามความเหมาะสมโดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข
2. เสริมอัตรากำลังในการจัดรถพยาบาลในเครือข่ายของกองทัพจอดสแตนด์บายตามจุดต่าง ๆ กระจายทุกเขตพื้นที่เน้นที่มีศูนย์พักคอย เพื่อรองรับในกรณีที่มีความต้องการใช้รถพยาบาลอย่างเร่งด่วนเพื่อส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังสถานพยาบาลโดยเร็ว ผสานกันกับภาคประชาสังคม เช่นรถของมูลนิธิในพื้นที่ที่พร้อมให้ความช่วยเหลืออยู่แล้วแต่ไม่เพียงพอ รวมถึงในการช่วยสนับสนุนการจัดหา O2 ในเคสผู้ป่วยวิกฤตที่อาศัยในชุมชนที่มีความจำเป็นต้องใช้ O2 อย่างเร่งด่วน
3. จัดอัตรากำลังการช่วยจัดส่งยาที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่เข้าระบบ Home Isolation เพื่อให้กระจายได้ทันท่วงที ก่อนที่ผู้ป่วยจะเปลี่ยนจากเคสสีเขียวเป็นสีเหลืองที่ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการในภาวะที่เตียงไม่พอ
4. เสริมอัตรากำลังในการช่วยตรวจเชิงรุกในชุมชน เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อและทำการคัดกรองและคัดแยกผู้ป่วยเข้าระบบแยกกักตัวทั้งแบบดูแลตนเองที่บ้าน Home isolation และ Community Isolation
อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณทางกองทัพบก (ทบ.) ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการประชาสัมพันธ์ แจ้งประชาชนผู้ที่เดือดร้อน ติดขัดเรื่องการรักษาพยาบาล การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด การจัดพิธีศพผู้เสียชีวิตจากโควิด สามารถประสานขอความช่วยเหลือ ผ่านหน่วยทหารของกองทัพบกใกล้บ้านทั่วประเทศ หรือโทรแจ้งได้ที่ศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิดกองทัพบกผ่าน CALL CENTER: 02-270-5685-9 ตลอด 24 ชม.
“เชื่อในศักยภาพของกองทัพว่าจะเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการสนับสนุนประเทศประเทศชาติได้เป็นอย่างดีเมื่อมีวิกฤต ด้วยความพร้อมของบุคลากร และเครื่องไม้เครื่องมือที่มี จึงอยากให้เข้ามาสนับสนุนมากขึ้นกวานี้ เพราะในยามวิกฤตการทำงานแบบบูรณาการและช่วยเหลือแบบเชิงรุกเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเร่งทำ เพื่อช่วยลดการสูญเสียของพี่น้องประชาชน” นางดรุณวรรณ กล่าว