ศปฉ. ปชป. ลงพื้นที่ย่านคลองเตยช่วยชาวบ้านหลังตรวจ Rapid Test พบผลบวก เจรจาโรงพยาบาลต้นสังกัดให้ช่วยตรวจ PCR เพื่อใช้ส่งตัวเข้ารับการรักษา หลังอาการแย่ลง

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าทีมประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อ ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ (ศปฉ.ปชป.) เปิดเผยว่าศูนย์ฯ ได้รับการประสานงานจากนายปานชัย แก้วอัมพรดี ประธาน อพม. กรุงเทพมหานคร และอดีต สข. พรรคประชาธิปัตย์ว่ามีครอบครัวผู้ติดเชื้อ 7 รายในชุมชนคลองเตยที่ได้รับการตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบเชิงรุกของ สปสช.ภายใต้ความร่วมมือจากชมรมแพทย์ชนบท ในการระดมตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกตามพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ในกทม. 

โดยผลตรวจพบว่าครอบครัวดังกล่าว มี 2 รายเป็นผู้สูงอายุ ที่เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบ และต้องการเข้าไปรับการรักษาต่อในสถานพยาบาล แต่เนื่องจากต้องใช้ผลการตรวจแบบ PCR เพื่อใช้ประกอบในการประสานเตียงจึงพบปัญหาตามมาทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการตรวจ สถานที่ที่จะไปตรวจ รวมถึงการเดินทางไปตรวจเพราะเข้าข่ายเป็นผู้ติดเชื้อ และไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ในชุมชนได้เนื่องจากอยู่รวมกันอย่างแออัด อาจเป็นส่วนหนึ่งในการแพร่กระจายเชื้อต่อได้ ครอบครัวผู้ป่วยจึงร้องขอความช่วยเหลือมายัง ศปฉ.ปชป. ให้ลงพื้นที่ช่วยเจรจากับโรงพยาบาลต้นสังกัดในย่านกล้วยน้ำไทที่ผู้ป่วยมีสิทธิในการรักษาพยาบาลบัตรทองเพื่อขอรับการตรวจดังกล่าว เนื่องจากถูกปฏิเสธการตรวจเพราะยังไม่มีคิวให้ตรวจ 

นางดรุณวรรณ จึงได้ลงพื้นที่ทันทีร่วมกับนายปานชัยพร้อมด้วยทีมงานของศูนย์ฯ และที่ปรึกษา รมช. สาธารณสุขเพื่อขอเจรจากับตัวแทนผู้บริหารของโรงพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว ภายหลังการเจรจาอยู่ระยะหนึ่งตัวแทนโรงพยาบาล จึงตอบรับที่จะให้ผู้ติดเชื้อสองรายที่เป็นผู้สูงอายุ สามารถขอรับการตรวจ PCR ได้ โดยเห็นใจว่าเป็นผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องรีบตรวจ เพื่อรักษาตัวต่อ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องใช้เวลารอผล 2-3 วัน ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลก็ได้ขอความเห็นใจจากคนในชุมชนด้วยเช่นกันในสถานการณ์ปัจจุบันที่โรงพยาบาลเองก็ประสบปัญหาเตียงไม่พอ และอุปกรณ์ก็ไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน และอยู่ในระหว่างการปรับปรุงสถานที่เพื่อให้รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น   

นางดรุณวรรณ กล่าวต่อด้วยว่าการตรวจ Rapid Test เป็นเรื่องที่ดีในการช่วยคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ แต่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดให้ครบว่าถ้าตรวจพบเป็นบวกแล้วจะต้องไปอย่างไรต่อ  โดยเฉพาะคนในชุมชนที่อยู่รวมกันแบบแออัด จะคัดแยกออกไปอยู่ที่ไหน หรือถ้าต้องตรวจแบบ PCR ต่อ ใครจะตรวจให้ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกรณีที่โรงพยาบาลต้นสังกัดไม่สามารถรองรับการตรวจให้ได้ และหากการตรวจแบบ PCR แล้วพบ Positive จะจัดการเรื่องเตียงอย่างไรด้วย

“เมื่อประชาชนเดือดร้อน ขอความช่วยเหลือมา หน้าที่เราคือต้องช่วยในส่วนที่ทำได้ แต่อยากให้แก้ปัญหาเชิงระบบมากกว่าการแก้ปัญหาแบบรายวัน วันนี้โชคดีที่เราช่วยแก้ปัญหาได้ 2 ราย แต่ยังมีคนอีกมากที่รอการช่วยเหลือและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ จึงอยากส่งเสียงไปยังภาครัฐที่มีอำนาจและเป็นผู้รับผิดชอบได้ลงมาดูปัญหาที่หน้างานด้วย จะได้เข้าใจชัดเจนมากขึ้น ” นางดรุณวรรณ กล่าว