‘ศักดิ์สยาม’ รับนโยบาย ‘บิ๊กตู่’ เร่งจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ลดการพึ่งพาเรือต่างชาติ เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพบริการขนส่งทางทะเล

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันพุธที่ 30 มิถุนายน 2564 ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings โดยมีนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) อธิบดีกรมเจ้าท่า ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ทำหน้าที่ ฝ่ายเลขานุการ 

นายศักดิ์สยามฯ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคม จัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อพัฒนาการขนส่งทางทะเลของไทยให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายที่จะให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติขึ้นมาใหม่ เนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน กองเรือพาณิชย์ของไทยที่ทำการขนส่งสินค้าทางทะเล มีขนาดเล็ก มีระวางบรรทุกน้อย ไม่สามารถขนส่งระยะไกล เรือสินค้าไทยมีสัดส่วนในการขนส่งสินค้าเข้า-ออกจากประเทศเพียงร้อยละ 9 และไทยต้องพึ่งพาเรือสินค้าต่างชาติถึงร้อยละ 91 ทำให้ไทยขาดดุลค่าระวางขนส่งสินค้าสูงถึงประมาณร้อยละ 90 คิดเป็นเงินประมาณ 1.33 ล้านล้านบาทต่อปี 

เมื่อกระทรวงคมนาคมมีแผนการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศ ความเป็นศูนย์กลาง การเป็นทางผ่านของการขนส่งระหว่างภูมิภาคของโลก ย่อมเป็นความได้เปรียบและเป็นโอกาส ในขณะที่กระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่อง การผลักดันการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ จะช่วยให้ไทยลดการพึ่งพาเรือต่างชาติ ลดต้นทุนการขนส่ง ลดการขาดดุลค่าระวาง และเสริมศักยภาพ การแข่งขันให้กับเรือไทย ตลอดจนช่วยให้มีการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้คุ้มค่า การขนส่งสินค้านำเข้าส่งออกทางทะเลจะมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น

ดังนั้น กระทรวงคมนาคม จึงแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติขึ้น และได้กำหนดให้มีการประชุม ครั้งที่ 1 ในวันนี้ เพื่อให้คณะกรรมการ เป็นกลไกเร่งรัดการดำเนินงาน และการขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติให้สำเร็จโดยเร็วต่อไป 

นายศักดิ์สยาม กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในวันนี้ ได้พิจารณากรอบแนวทางในการดำเนินงานจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ และทางเลือกรูปแบบการดำเนินงาน รวมทั้งเห็นชอบแผนการดำเนินงาน (Action Plan) เพื่อเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งได้มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ และนำเสนอผลการศึกษาให้คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติพิจารณาก่อนนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งบริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ จำกัด โดยมีนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล แนวทางและรูปแบบการจัดตั้งบริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ จำกัด ที่มีความเหมาะสม รวมทั้งประเด็นข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยบข้อง เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติต่อไป

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ได้มีข้อสั่งการให้นำเสนอความก้าวหน้าของการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ภายใน 1 เดือน และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้ 

1.) มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย และกรมเจ้าท่า เชิญสถาบันการศึกษา เพื่อหารือเกี่ยวกับความพร้อมในการจัดเตรียมบุคลากรด้านพาณิชย์นาวี สำหรับรองรับ จัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ 

2.) มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จัดตั้งคณะอนุกรรมการในแต่ละด้านเพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไป 

3.) มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบ การลงทุนและการถือหุ้นของบริษัทเดินเรือในประเทศต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางและรูปแบบการจัดตั้ง สายการเดินเรือแห่งชาติต่อไป 

4.) มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ศึกษาแนวทางการกำหนดสิทธิประโยชน์ และการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนและจดทะเบียนเรือในประเทศไทย

5.) มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในรูปแบบการดำเนินงานของ บริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ จำกัด ในกรณีที่รัฐบาลถือหุ้นบุริมสิทธิ เพื่อให้มีความคล่องตัว ในการดำเนินงานและมีอำนาจในการตัดสินใจ