“เลขาฯสมช.” แจง ออกคำสั่ง ตีหนึ่ง เพราะต้องหารือให้รอบคอบ ยัน แจ้งผู้ประกอบการก่อสร้าง-ร้านอาหารรับทราบก่อนแล้ว ชี้ การสื่อสารอาจไม่ทั่วถึง แย้ม คลายไซต์ก่อสร้างเฉพาะที่จำเป็น รับ สธ. เตรียมระบบรักษาตัวที่บ้าน ย้ำทุกอย่างต้องรอบคอบ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงมาตรการชดเชยเยียวยาหลังออกข้อกำหนดฉบับที่ 25 ไปแล้ว ว่า ต้องหารือว่ามาตรการที่ออกไปแล้วบางอย่างต้องมีการผ่อนคลาย เช่น การหยุดก่อสร้าง อาจจะมีอันตรายในเชิงวิศวะ หรือกระทบกับส่วนอื่น เช่น การเร่งก่อสร้างสถานพยาบาล ถ้าหยุดแคมป์ไปก็จะทำให้การหยุดก่อสร้างหยุดไปด้วย เป็นต้น ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการก่อสร้างก็อาจจะอนุญาต ให้ดำเนินการได้ในบางแคมป์ 

พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า สำหรับข้อกำหนดก่อนที่ประกาศออกไป เราประชุมกันในวันที่ 25 มิ.ย. จนถึงช่วงเย็น จากนั้นในวันที่ 26 มิ.ย.ยังมาประชุมกันต่อ จากนั้นร่างคำสั่งเสร็จได้เสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ลงนามในเวลา 21.00 น. ก่อนประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา นี่คือสาเหตุที่ว่า ทำไมคำสั่งถึงประกาศกลางคืน แสดงให้เห็นว่าเราทำงานตลอดเวลา เพื่อให้คำสั่งออกเร็วที่สุด ในแง่ของความเร็ว ความช้า ศบค.ก็ถูกตำหนิ เช่น ร้านอาหาร ก็ต้องขอภัยที่ออกคำสั่งช้า ทำให้เตรียมตัวไม่ทัน ส่วนเรื่องแรงงานก็ถูกต่อว่าว่าบอกเร็วไป ทำให้เขาหนีไปก่อน เรื่องนี้ต้องมองให้หลายมุม ยืนยันว่าศบค. พยายามหาจังหวะที่เหมาะสม และการออกคำสั่งต้องทำอย่างรอบคอบ ขอให้สื่อดูว่าข้อกำหนดฉบับดังกล่าว มีรายละเอียดรัดกุม นั่นคือผ่านการหารือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กทม. และสำนักการโยธาธิการและผังเมือง ดังนั้นเราจะรีบไม่ได้ หรือช้าเกินไปก็ไม่ทันการ ขอให้เข้าใจตรงนี้และช่วยทำความเข้าใจต่อไปด้วย 

เมื่อถามว่า จะมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหารเพิ่มเติมหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เรื่องนี้พูดคุยเรียบร้อยไปแล้ว โดยมาตรการเยียวยาจะอยู่ในความรับผิดชอบของ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือศบศ. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ได้ประชุมและมีมาตรการไปแล้ว 

เมื่อถามย้ำว่าผู้ประกอบการ ต่อว่าศบค. ทางโซเชียลที่ออกมาตรการช้า จะขอโทษผู้ประกอบการ และประชาชนอย่างไรบ้าง พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เราได้คุยกับสมาคมผู้ประกอบการก่อสร้าง และชี้แจงทำความเข้าใจไปแล้ว และเขาก็รับทราบก่อนที่จะออกคำสั่ง เช่นเดียวกับร้านอาหารทางนายกสมาคมภัตตาคารไทย ระบุว่าได้รับแจ้งแล้วเช่นกัน แต่การสื่อสารอาจจะไม่ทั่วถึง ก็ต้องขออภัยที่ทำให้เกิดความเดือดร้อน และประชนได้รับผลกระทบไปบ้าง ขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วมมือ จากผู้ประกอบการเหล่านี้ เพราะเราไม่อยากใช้มาตรการที่เข้มข้น ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ในเมื่อคณาจารย์แพทย์อาวุโส และเป็นระดับคณบดีแพทย์ศิริราช และมหาวิทยาลัยต่างๆ มาเสนอแนะด้วยตนเอง ศบค. ก็ต้องรับฟัง และปรับตามมาตรการที่เสนอ โดยจะพยายามดูให้ดีที่สุด ยืนยันว่าเราทำให้ดีที่สุด

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ เพราะขณะนี้มีผู้ติดเชื้อกระจายไปตามต่างจังหวัดบ้างแล้ว พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ยอมรับว่ากังวล แต่กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำกับ เน้นย้ำ และควบคุมให้คนที่เดินทางไปจาก

กทม.เข้ารับการกักกัน หรือคุมไว้สังเกต ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ด้านกระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งผ่านสาธารณสุขจังหวัด ให้ช่วย ควบคุม และเตรียมการป้องกันการแพร่เชื้อในพื้นที่ โดยต่อ จากนี้สธ. จะต้องประเมินสถานการณ์ว่า เมื่อครบ 15 วันแล้วสถานการณ์เป็นอย่างไร และอาจจะมีการผ่อนคลายได้ในบางกิจการ 

เมื่อถามว่า มีเสียงสะท้อนจากบุคลากรทางการแพทย์จากต่างจังหวัดต้องการความช่วยเหลืออะไรเพิ่ม เพื่อรองรับแรงงานที่กระจายเข้าไปในพื้นที่บ้างหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ตอนนี้ยัง เพราะเขาเตรียมพร้อมกันอยู่แล้ว โดยเราแจ้งเตือนไปตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายนแล้ว 

ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน โดยแพทย์ให้คำแนะนำผ่านแอพพลิเคชั่น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า มี เริ่มพิจารณาแล้ว แต่แนวทางของเราคือตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม เวลานี้สถานที่และอุปกรณ์มีเพียงพอ แต่ปัญหาคือบุคลากรทางการแพทย์ ถ้าเราไปดึงจากต่างจังหวัด อาจจะทำให้พื้นที่นั้นขาดความพร้อม ส่วนแนวทางการรักษาตัวที่บ้านต้องมีมาตราการที่รอบคอบ เพราะถ้าไม่รอบคอบอาจมีอาการหนักขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงตรงนี้ และเวลานี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศหลักเกณฑ์แล้ว เหลือแค่พิจารณาระบบที่จะรองรับ เพราะทุกมาตรการที่จะออกไป ศบค. และศบศ. จะต้องทำอย่างรอบด้าน 

เมื่อถามว่าศบค. ได้หารือถึงการรับเรื่องร้องเรียน อาจมีการรวมตัวเกินกว่าที่กำหนดหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ได้หารือ เหมือนกัน แต่ทุกครั้งทุกคณะที่มายื่นเรื่อง เราก็รับตลอด ทั้งพนักงานนวดแผนโบราณ หรือศิลปะการบันเทิง เรารับฟังตลอด อะไรที่ผ่อนคลายได้ก็ดำเนินการ อะไรที่เยียวยาได้ ก็ฝาก ศบศ. ดำเนินการ เราพยายามดูแลทั้ง 2 มิติ และสามารถมายื่นได้ตลอด ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหารก็ได้รับการเยียวยาอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ครบตามที่เสนอมาเท่านั้น และยืนยันว่าครั้งนี้ดูแลมากกว่าทุกครั้ง 

เมื่อถามว่า การประชุมรัฐสภา สามารถดำเนินการได้ปกติ หรือต้องขออนุญาตจากศบค. หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ศบค. อนุญาตไว้แล้ว ส่วนจะประชุมหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภา ไม่เกี่ยวกับศบค. เราก็อนุญาตไปแล้ว