“วิษณุ” รับ ม.144-185 มีปัญหา ส่อทำรธน.ปราบโกงอ่อนลง ปัดตอบ แก้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำการเมืองย้อนยุคปี 40 บอก “ก้าวไกล” ก่อนยื่นทำประชามติรื้อรธน.ทั้งฉบับ รอให้กฎหมายบังคับใช้ก่อน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มี เสียงวิจารณ์หลายพรรคการเมืองดำเนินการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเอง แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ว่า แล้วจะให้แก้อย่างประชาชนจึงจะได้ประโยชน์ ขอให้ไปถามผู้ที่เสนอ หรือเจ้าของร่างฯจะดีกว่า 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางส่วน ออกมาท้วงติงถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 144 และ 185 ซึ่งเป็นการห้ามไม่ให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือ แทรกแซงการแปรญัตติงบประมาณไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ลักษณะเช่นนี้จะทำให้คุณสมบัติของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงอ่อนแอลงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า 2 มาตรานี้ ถือเป็นปัญหาเช่นกัน หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 มาตราผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในการพิจารณาวาระที่ 1 เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนสามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขให้เข้มข้นมากขึ้น หรือแก้ไขให้มีเนื้อหาชัดเจนมากขึ้น ผู้ยื่นแก้ไขอาจมีความรู้สึกว่าที่ผ่านมาบทบัญญัติ 2 มาตรานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าอะไรที่ทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้บ้าง จนทำให้เกิดปัญหาในการตีความ อย่างไรก็ตามตนยังไม่รู้ว่าเขาจะแก้ไปในทิศทางใด

เมื่อถามว่า หากมีการแก้ไขมาตราเหล่านี้จริงจะทำให้กระบวนการตรวจสอบการทุจริตอ่อนแอลงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็มีส่วนที่จะเป็นเช่นนั้นได้ แต่อาจจะไม่ใช่เจตนารมย์ของร่างฯก็ได้ แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพราะสภาก็อยากจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งฉบับอยู่แล้ว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญบัตรเลือกตั้งใบเดียวเป็นสองใบเหมือนในอดีต คิดว่าจะทำให้ประเทศกลับไปสู่สภาพเหมือนกับตอนที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามว่า แนวโน้มการแก้ไขเพื่อจะตัดอำนาจ ส.ว. หรือ ปิดสวิตช์ ส.ว. นั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่องการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในวาระการพิจารณาของรัฐสภา นายวิษณุ กล่าวว่า ตนตอบไม่ถูก เพราะเป็นเรื่องของรัฐสภา นายชวนพูดแล้วว่าไม่ได้ตีตก ตนเข้าใจว่าจะมีการนำเรื่องนี้เข้าไปหารือในที่ประชุมร่วมรัฐสภา

ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่พรรคก้าวไกลระบุว่าหลังจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … ผ่านความเห็นชอบในที่ประชุมรัฐสภาในวันนี้แล้วจะเสนอญัตติด่วนต่อรัฐสภาให้คณะรัฐมนตรีทำประชามติถามความเห็นของประชาชนต่อการตั้ง ส.ส.ร. เรื่องนี้ทำได้เลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ประชามติยังไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย ตามขั้นตอนแล้วหลังจากที่ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้ว ทางรัฐสภาจะส่งให้รัฐบาลเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพิจารณา ลงพระปรมาภิไธยก่อนจะนำไปสู่การประกาศใช้ ดังนั้นถ้าอยู่ๆ จะนำร่างกฎหมายฉบับนี้มาใช้ทั้งที่ยังไม่ได้เป็นกฎหมายเลยก็อาจจะทำให้เกิดการถกเถียงกันไปเปล่าๆ ทั้งนี้สามารถเตรียมการเอาไว้ได้ แต่ถ้าจะทำถึงขั้นนำกฎหมายนั้นมาใช้เลยคงจะไม่ได้