“ชินวรณ์” แย้ม 9 ร่าง แก้รธน.ปชป.-ภท-ชทพ. จ่อยื่น “ประธานรัฐสภา” สัปดาห์นี้ ย้ำ ตัดอำนาจส.ว.เลือกนายกฯ ยัน ยินดียกมือผ่านทุกร่างหากเห็นด้วย

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 3 พรรคร่วมคือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า ขณะนี้มีร่างทั้งหมด 9 ร่าง ร่างที่ 1 คือ อำนาจหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 55/1 ที่ให้รัฐช่วยเหลือผู้ยากไร้ ร่างที่ 2 เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควรมีการปรับเปลี่ยนใหม่เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ ร่างที่ 3 ยกเลิกมาตรา 272 ห้ามให้ส.ว.ใช้สิทธิเลือกนายกฯ ซึ่งสอดคล้องกับ 6 ประเด็นเดิมของพรรคประชาธิปัตย์

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ร่างที่ 4 เป็นเรื่องสิทธิของประชาชน เช่น สิทธิชุมชน สิทธิบริโภคเรื่องที่ดินทำกิน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ร่างที่ 5 ระบบการเลือกตั้ง ยืนยันชัดเจนว่าเห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ คือแบ่งเขต 400 เขต บัญชีรายชื่อ 100 คน ส่วนกระบวนการในการคิดคะแนนให้ไปอยู่ในกฎหมายการเลือกตั้งต่อไป ร่างที่ 6 เกี่ยวข้องกับอำนาจสมาชิกวุฒิสภาเชื่อมโยงกับการเลือกนายกรัฐมนตรี บุคคลที่จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีในสภา จะต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่ผ่านการตรวจสอบและเลือกมาแล้วส่วนหนึ่งจากประชาชนและพรรค หรือนายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และไม่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรีในมาตรา 272 

นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า ร่างที่ 7 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โครงสร้างเดิมตัดอำนาจของส.ว.ออกไปในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 จำนวน 1 ใน 3 โดยใช้จำนวนสมาชิก 3 ใน 5 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างที่ 8 เรื่องการตรวจสอบทุจริตให้เกิดความเข้มข้นเรื่องการดำเนินคดีกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แก้ไขกระบวนการตรวจสอบ ไม่ควรให้ส.ส. ยื่นเรื่องให้แค่ประธานรัฐสภาเพื่อให้ดำเนินคดีต่อป.ป.ช. ชั้นเดียว เนื่องจากประธานรัฐสภามาจากพรรคการเมือง ซึ่งอาจมีการเจรจาต่อรองระหว่างพรรคการเมืองกับประธานรัฐสภาเพื่อไม่ให้ยื่นเรื่องตรวจสอบไปยังศาลฎีกาได้ จึงต้องตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระขึ้นมาเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากหลายฝ่ายก่อนจะส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา และร่างที่ 9 การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งได้หารือในรายละเอียดเรียบร้อย 

“ส่วนประเด็นการกำหนดระเบียบการประชุม เราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะกำหนดระเบียบวาระเรื่อง พ.ร.บ.ประชามติ ก่อน เพราะกฎหมายฉบับนี้พิจารณาเหลืออีก 10 กว่ามาตราเท่านั้น ซึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มีการเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 หากสามารถแก้ไขให้เป็นไปตามนั้นได้ ก็ต้องทำประชามติอยู่ดี เรายืนยันที่จะให้มีการเสนอกฎหมายประชามติ และพรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นด้วยกับกฎหมายประชามติ โดยคาดว่าทั้ง 3 พรรคจะสามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายชวนได้ภายในสัปดาห์นี้” นายชินวรณ์ กล่าว

เมื่อถามว่าจากกรณีที่พรรคภูมิใจไทยเสนอเพิ่มมา 3 ร่าง เป็นการเสนอแยกกันเลยหรือไม่ เพราะมีประเด็นมาตรา 272 ที่ซ้ำกัน นายชินวรณ์ กล่าวว่า วิธีการคือจะเสนอร่างเป็นลำดับไป ประเด็นใดที่เห็นพ้องต้องกันหรือเป็นไปในทำนองเดียวกันก็ไม่มีปัญหา เราก็พร้อมจะลงชื่อทุกฉบับอยู่แล้ว เพื่อให้ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด 

เมื่อถามว่าหากมาตรา 272 ถูกตีตกในวาระแรกอีก จะเสนอใหม่หรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ ต้องรอผลการประชุมว่าจะเป็นแบบไหน อย่างไรก็ตามในฐานะที่เคยเสนอเรื่องนี้ก่อน และยังยืนยันหลักการเดิม เพราะการห้ามไม่ให้ส.ว.ใช้สิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องของส.ว.ชุดนี้แต่เป็นเรื่องของหลักการประชาธิปไตย เหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นเหตุการณ์พิเศษได้เลือกนายกรัฐมนตรีไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่หลังจากนี้มีระบบพรรคการเมือง มีรัฐบาลแล้วหากมีการเลือกตั้งอีกก็ควรให้กติการเปลี่ยนไปด้วย ไม่เช่นนั้นการเมืองก็จะกลับไปสู่วงจรเดิม 

เมื่อถามว่าเสียงของทั้ง 3 พรรคอาจจะไม่เพียงพอที่จะให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบได้ จะต้องมีการดีลกับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลที่จะให้เห็นชอบ เช่น มาตรา 272 ด้วยหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า เวลาลงมติเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา มีเอกสิทธิ์ที่จะลงมติในกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลใดเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกพรรคต้องมีจิตสำนึก ในการเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นและแก้ไขกับดักของประเทศ เป็นปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ 

เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะให้ความเห็นชอบในประเด็นที่เห็นพร้อมกันกับพรรคอื่นด้วยหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า จากการหารือเบื้องต้นประเด็นที่เห็นพ้องต้องกันเราก็ยกมือให้หมดและพร้อมจะยกมือให้ทุกฉบับ 

เมื่อถามถึงการลงมติในวาระแรก เนื่องจากมีร่างรัฐธรรมนูญเสนอเข้ามาหลายฉบับ นายชินวรณ์ กล่าวว่า รวมทุกร่างที่เสนอเข้ามาแล้วทั้งหมด 15 ฉบับ โดยในวาระแรกจะให้ผู้เสนอร่างแต่ละฉบับนำเสนอร่างทีละร่าง จนครบทั้ง 15 ฉบับและจะให้อภิปรายรวมกันในทุกฉบับ หลังจากนั้นในชั้นลงมติก็จะแยกลงมติในแต่ละฉบับ ตามด้วยการดำเนินการในวาระที่ 2 ในขั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) หมายความว่าแม้จะมีหลายฉบับก็ตามแต่ได้มีกระบวนการในการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญมาแล้วและได้มีการตั้งกมธ.ศึกษาก่อนรับหลักการมาแล้ว โดยน่าจะใช้เวลาในการพิจารณา 45 วัน ซึ่งหลังจากกมธ.พิจารณาเสร็จแล้วต้องหยุดไว้ 15 วันเพื่อให้สมาชิกได้ไปทบทวนในแต่ละประเด็นอีกครั้งหนึ่ง และมาลงมติในวาระที่ 3 ซึ่งจะใช้วิธีให้สมาชิกขานชื่อรับตามลำดับ คาดว่าน่าจะทันในสมัยประชุมนี้ หากเป็นเช่นนี้ก็จะสามารถทูลเกล้าฯ ประกาศใช้กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ต่อไป