กรณ์ ไลฟ์สร้างความเชื่อมั่น ชวนคนลงทะเบียน "ฉีดวัคซีน" สร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศ ฟื้นคืนชีพเศรษฐกิจไทย

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij’ เชิญชวนประชาชนมาลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศ โดยระบุว่า การฉัดวัคซีน เป็นทางออกของประเทศ เนื่องจากขณะนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ลดลง ส่งผลต่อการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน เกิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ เราต้องยอมรับว่า โควิดนี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน การฉีดวัคซีนนั้น ไม่ใช่แค่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองอย่างเดียว แต่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนที่เรารักด้วย ถ้าเราฉีดกันมาก ๆ ก็จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ เพื่อให้ร้านค้าสามารถเปิดได้ เพื่อให้ธุรกิจเล็ก ๆ ไม่ตาย ทุกคนออกไปใช้ชีวิตกันแบบเดิมได้ เราจะหลุดพ้นออกจากสภาพนี้ได้ ก็ต่อเมื่อได้รับวัคซีน เพราะฉะนั้นการลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญกันมาก

“ในต่างประเทศที่ได้ฉีดวัคซีนกันไปเยอะแล้ว ทุกอย่างกลับมาสู่ความเป็นปกติ ยกตัวอย่างที่ประเทศอังกฤษ ก็ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา อย่างน้อย 1 โดส ไปกว่าครึ่งของประชากร และหนึ่งในสี่ที่ได้รับ 2 โดส หรือ 25% ซึ่งความจริงโดสแรกก็จะได้รับการคุ้มครองสูงถึง 90% แล้ว โดสสองเพียงแค่ต่ออายุการคุ้มครองวัคซีนไปเท่านั้น ซึ่งขณะนี้คนอังกฤษก็สามารถออกมาใช้ชีวิตกันตามปกติ การทำมาค้าขายก็เริ่มดีขึ้น เช่นเดียวกับอเมริกาที่ฉีดเข็มแรกให้กับประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ หรือ 34% สถานการณ์โดยรวมก็เริ่มดีขึ้น และคาดว่าจีดีพีของประเทศจะโตถึง 10% ได้” นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยวัคซีนล็อตแรก คือแอสตราเซเนกา ก็ได้รับการตรวจสอบแล้วว่ามีมาตรฐานคุณภาพที่ดี และจะเริ่มฉีดให้กับประชาชนวันที่ 7 มิถุนายนนี้ จึงอยากเชิญชวนทุกคน ใครที่ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะลงทะเบียนได้ก็ช่วยกันชี้แจงญาติผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เข้าเกณฑ์ ให้สบายใจที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตามตั้งแต่เปิดให้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม จากสำรวจพบว่ามีประชาชนมาลงทะเบียนยังไม่ถึง 2 ล้านคน จากผู้มีสิทธิประมาณ 12 ล้านคน ไม่รวมผู้มีโรคประจำตัว 7 ชนิด อีกหลายล้านคน ทั้งนี้

หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่า เหตุผลที่ประชาชนยังไม่กระตือรือร้นมีเหตุผลหลักคือ

1.) กลัวผลข้างเคียงเนื่องจากมีข่าวออกมามาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมาทบทวนว่า อย่างน้อยการฉีดวัคซีนก็ปลอดภัยกว่าการติดเชื้อที่มีผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทุกวัคซีนที่ใช้ในการฉีดก็ล้วนได้รับความไว้วางใจจากผู้นำทั่วโลกในหลายประเทศจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราคลายความกังวลได้ถึงอันตรายจากผลข้างเคียง โดยผู้นำที่ได้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาได้แก่ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ไต้หวัน ส่วนผู้นำที่ฉีดวัคซีน ซีโนแวค ได้แก่ นายกรัฐมนตรีไทย อินโดนิเซีย ฮ่องกง ชิลี ตุรกี

2.) การตัดสินใจว่าจะฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไรดี ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็มีหลักวิทยาศาสตร์ที่ต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือลดโอกาสในการติดเชื้อ และลดการแพร่ระบาด ส่วนผู้ที่ติดแล้วเป้าหมายเดียวกันคืออาการไม่หนักจนกระทั่งต้องเข้าไอซียู อย่างไรก็ตามยอมรับว่าสิ่งที่เป็นปัญหาอีกอย่างเวลานี้คือการขึ้นทะเบียนที่ค่อนข้างยากสำหรับผู้สูงอายุ และจากการสำรวจพบว่าคนในชนบทบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการลงทะเบียน เรื่องของการสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ควรจะพึ่งพาเฉพาะรัฐเท่านั้น ทุกคนสามารถช่วยกันสื่อสารบอกต่อกันได้

นายกรณ์ ยังได้ถอดประสบการณ์ สองจังหวัดที่ประสบความสำเร็จจากการขึ้นทะเบียนและเข้ารับการฉีดวัคซีนคือจังหวัดลำปาง และภูเก็ต โดยเฉพาะที่ จ.ลำปาง ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดคือ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร หรือ “ผู้ว่าหมูป่า” รณรงค์ให้ประชาชนมาขึ้นทะเบียนได้แล้วกว่า 220,000 คน เทียบกับจังหวัดอื่นส่วนใหญ่ที่มีการขึ้นทะเบียนเพียงหลักพันคน ลำปางมีประชากร 730,000 คน ซึ่งมีอายุในเกณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนได้ (เกิน 60ปี) 170,000 คน ดังนั้นโดยตัวเลขหมายถึง มีผู้มีโรคประจำตัวอีกราว ๆ 50,000 คน

“ทำไมลำปางทำได้ ในขณะที่จังหวัดอื่นทำไม่ได้ แม้แต่กรุงเทพที่มีประชากรมากกว่าลำปางถึง 8 เท่า การเข้าถึงข้อมูล รวมถึงตัวเลขสัดส่วนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสูงกว่ามาก แต่กลับมีผู้ขึ้นทะเบียนมากกว่าลำปางเพียงเท่าเดียว ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องรีบศึกษา เพื่อแนะแนวให้กับทุกจังหวัดได้เรียนรู้และปฏิบัติตาม เพราะการฉีดวัคซีนโดยเร็วคือทางออกของประเทศ และเป็นความหวังของประชาชนที่เดือดร้อนหนักหนาสาหัสจากผลกระทบโควิดระลอกที่ 3 นี้ ส่วนที่ จ.ภูเก็ตก็จัดลำดับขั้นตอนการฉีดวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าสองจังหวัดทำได้ ทุก ๆ จังหวัดก็ต้องทำให้ได้ครับ” นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวว่า เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์ ก่อนวัคซีนจะมาถึง ตนยังเชื่อว่าทำได้ แต่ดูจากสถานการณ์วันนี้แล้ว ต้องเร่งอีกมาก เนื่องจากมีคนเดือดร้อนกันมาก ถ้าเรายังลังเลและรอให้คนอื่นฉีดก่อน ก็จะไม่ทำให้เราเข้าสู่เป็นปกติในการดำรงชีวิตได้ จึงอยากให้การฉีดวัคซีนเป็นหน้าที่ในฐานะประชากรที่ดีคนหนึ่ง เรื่องการทะเลาะกันในเรื่องวัคซีน มันผ่านไปแล้ว มันเป็นเพียงข้อบกพร่องในอดีต อยากให้ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดี และมองไปอนาคต หน้าที่ของรัฐเวลานี้คือ รณรงค์ให้คนมาฉีดวัคซีน ส่วนหน้าที่ของประชาชน คือเตรียมความพร้อมในการไปรับวัคซีน ที่สำคัญคือสร้างความเชื่อมั่นจากการสื่อสารที่ชัดเจนต่อเนื่อง เราจะผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน


ที่มา : https://fb.watch/5pO-rZArBf/