รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย พฤติกรรมการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ปัจจุบันนายหน้าเถื่อนใช้สื่อออนไลน์โฆษณาจัดหางานอย่างเปิดเผย พร้อมแอบอ้างรู้จักเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พบขบวนการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ อาศัยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 โฆษณาการจัดหางาน ทางสื่อสังคมออนไลน์ ว่าคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน และสามารถพาไปทำงานต่างประเทศได้แม้เป็นช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 โดยเรียกเก็บเงินค่าดำเนินการรายละ 10,000 –50,000 บาท แบ่งเป็นค่าดำเนินการ ค่าออกวีซ่า ค่าประกันภัย ฯลฯ ภายหลังรับเงินจะตัดขาดการติดต่อ จนผู้เสียหายรู้ตัวว่าถูกหลอกลวง และเข้าแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งประเทศที่พบคนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ แคนาดา สวีเดน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 13,523,004 บาท

“รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญและเน้นย้ำให้กระทรวงแรงงานดูแลแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศให้เดินทางไปทำงานอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เนื่องจากแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศถือเป็นกลุ่มแรงงานที่นำรายได้เข้าประเทศไทย เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้มีการสอดส่องดูแล และตรวจสอบผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และบริษัทจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีผู้คิดฉวยโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าวหลอกลวงคนหางาน

ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขอให้คนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งงาน ลักษณะงาน ตลอดจนประเทศที่จะไปจากเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน ก่อนตัดสินใจจ่ายเงินหรือโอนเงินให้กับผู้ใด และสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd โดยปัจจุบันมีบริษัทฯ ที่ได้รับอนุญาต จำนวน 129 บริษัท ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงมหานคร 90 บริษัท และกระจายอยู่ในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ 39 บริษัท ที่ผ่านมาตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2563 - เมษายน 2564 ด่านตรวจคนหางานได้ตรวจสอบเอกสารคนหางานที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนหางานทั้งสิ้น 17,922 ราย ตรวจสอบผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 785 ราย และระงับการเดินทาง จำนวน 254 ราย


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32