ศาลปกครอง เพิกถอนคำสั่ง ‘คลัง’ เรียกเงิน ‘ยิ่งลักษณ์’ จ่ายชดเชยทุจริตจำนำข้าวจำนวน 3.5 หมื่นล้าน ระบุ เป็นการทุจริตในระดับปฏิบัติ มีหลายส่วนราชการเกี่ยวข้อง

ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จ่ายค่าชดเชยสินไหมในโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งของกระทรวงการคลังเป็นคำสั่งมิชอบ เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่บุคคลเพียงคนเดียวที่มีอำนาจสั่งการ แต่เป็นการดำเนินการผ่านคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกทั้งยังมีส่วนราชการอื่นๆที่ร่วมพิจารณาด้วย

ศาลฯ ได้รวมพิจารณา 4 คดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี, รมว.คลัง, รมช.คลัง, ปลัดกระทรวงการคลัง, สำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงคลัง, กรมบังคับคดี, อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร

เนื่องจากถูกเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 3.57 หมื่นล้านบาท จากการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและประธาน กขช. ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยังความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ

โดยศาลพิจารณาแล้ว แม้ฟังได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น การตรวจสอบคุณสมบัติเกษตรกร การลักลอบนำเข้าข้าวจากต่างประเทศมาสวมสิทธิ การเก็บรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งการทุจริตดังกล่าวเกิดขึ้นในระดับปฎิบัติการที่มีเจ้าหน้าที่หลายคนเกี่ยวข้อง แต่การสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกลับไม่ได้มีการดำเนินสอบสวนให้ได้ว่าเจ้าหน้าที่คนใดควรต้องรับผิดเป็นจำนวนเท่าใดจากการทุจริต

อีกทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี รับรู้เฉพาะขั้นตอนการทำเอ็มโอยูเพื่อให้มีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ แต่ในส่วนการทำสัญญาระบายข้าวไม่ได้เกี่ยวข้อง ส่วนการเป็นประธาน กขช.ก็เข้าประชุมครั้งแรกเพียงครั้งเดียว และมีมาตรการตรวจสอบทุจริตเรื่อยมา จึงไม่ใช่การกระทำที่จงใจปล่อยให้เกิดการทุจริต และไม่ยับยั้งหลังมีหน่วยงานท้วงติง เนื่องจากเป็นการกำกับดูแลของ กขช. ที่มีหลายส่วนราชการ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังรับว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายโดยตรง และขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดก็ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

ขณะเดียวกัน โครงการรับจำนำเป็นนโยบายสาธารณะที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ไม่ใช่นโยบายแสวงหากำไร จึงไม่สามารถประเมินเรื่องความคุ้มค่าจากผลกำไรขาดทุน การคิดคำนวณความเสียหาย โดยไม่หักรายได้จากการระบายข้าวในอนาคต หรือสินค้าเหลือคงคลัง