“วิษณุ” ระบุ ร่างแก้ รธน. ของ พปชร. ไม่ใช่ร่างรัฐบาล บอก รอดูรายละเอียดอยู่ 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯให้สัมภาษณ์กรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่จะยื่นวันที่ 7 เมษายน จะถือเป็นร่างของรัฐบาลหรือไม่ ว่า เป็นร่างของพรรคพลังประชารัฐที่เขาไปล่าลายเซ็น ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ 100 กว่าคนตามหลักเกณฑ์ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็จะเสนออีกหนึ่งร่าง แสดงว่าเป็นร่างของสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ตนยังไม่เห็นเนื้อหาสำคัญของร่างพรรคพลังประชารัฐเห็นแต่ที่เป็นข่าว ซึ่งก็อยากเห็นอยู่เหมือนกันว่ารายละเอียดเห็นเช่นไร 

เมื่อถามว่าประเด็นที่พรรคพลังประชารัฐเสนอสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประเทศได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็แล้วแต่ว่าเป็นโจทย์ของใคร คำว่าโจทย์ของประเทศอาจมองไม่เหมือนกัน แม้กระทั้งการแก้เรื่องบัตรเลือกตั้งที่เสนอเป็น 2 ใบ ตนก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเรื่องที่เห็นพ้องต้องกันเพราะบางพรรคก็ได้ประโยชน์จากบัตรเลือกตั้งใบเดียว บางพรรคก็ได้ประโยชน์กับบัตรเลือกตั้งสองใบ ดังนั้นอาจทำให้เกิดความเห็นไม่ตรงกันทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่แต่ละพรรคการเมืองไม่สามารถทำให้เสนอร่างร่วมกันได้   

เมื่อถามว่าการที่พรรคพลังประชารัฐไม่แก้อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ จะเป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องไปถามสังคม จะมาถามอะไรตน เมื่อถามว่าการที่แต่ละพรรคเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของตัวเองแล้วจำเป็นที่รัฐบาลต้องเสนอร่างของรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ยังไม่เคยเห็นพูดกันในส่วนนี้ เมื่อถามย้ำว่าก่อนหน้านี้นายกฯเคยบอกว่าจะมีร่างแก้ไขรธน.ของรัฐบาล นายวิษณุ ถามกลับว่า “ท่านพูดเหรอ” สื่อจึงตอบกลับไปว่าพูดก่อนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำในวาระ 3 นายวิษณุ กล่าวว่า “ไม่ทราบ”

เมื่อถามว่า พรรคพลังประชารัฐเสนอแก้มาตรา 144 เกี่ยวกับการใช้งบประมาณจะทำให้ระบบการตรวจสอบลดลงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มาตรา 144 เพิ่งมามีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อมีแล้วทำให้ระบบตรวจสอบเข้มข้นขึ้นถือเป็นจุดแข็งอันนึ่งของรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งพอไปแก้ตนก็อยากเห็นเหมือนกันว่าจะแก้อย่างไร ตอนนี้ยังตอบไม่ถูกเพราะยังไม่เห็นร่าง 

เมื่อถามว่าการแก้ไขมาตรา 185 ที่ห้าม ส.ส. เข้าไปแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ ส.ส. เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับราชการหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สื่อลงไปเช่นนั้นแต่ตนขอดูรายละเอียดก่อนว่าเขาแก้อย่างไร เพราะข้อเท็จจริงแล้ว ส.ส. ก็ไปยุ่งกับข้าราชการไม่ได้อยู่แล้วและหลักของมาตราดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ใช้มานานแล้วในรัฐธรรมนูญหลายฉบับไม่ได้เพิ่งมามีในรัฐธรรมนูญ 60 

เมื่อถามว่า สำหรับมาตรา 270 จากเดิมให้ ส.ว. เป็นผู้ตรวจสอบติดตามการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แล้วให้ ส.ส. เข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้จะมีผลดีผลเสียอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ซึ่งตนยังไม่เห็นแต่การให้ ส.ส. เข้ามามีส่วนร่วมก็ถือเป็นเรื่องดีมาก ๆ แต่ก็ต้องดูว่ามาตรานี้มีหลายวรรคว่าเขาจะแก้อย่างไร ซึ่งตนก็อยากให้แก้เรื่องการรายงานรัฐสภาทุกสามเดือนเพราะเป็นภาระแก้ทุกฝ่ายและวรรคอื่น ๆ ที่บอกว่าหากเป็นกฎหมายปฏิรูปต้องเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภายังไม่เห็นว่าเขาจะแก้หรือไม่