คมนาคม ผุดคณะทำงาน ฟื้นฟู ขสมก. ตั้ง “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” เป็นประธาน

วันที่ 2 เมษายน 2564 นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานฯ ในการพิจารณาเพื่อปรับแผนแนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม และนายจิรุฒม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นเลขานุการคณะทำงาน รวมทั้งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังมีข้อเสนอให้ดูสัญญาเพิ่มเติม เนื่องจากในปัจจุบันแผนดังกล่าว จะนำรถร่วมเอกชนเข้ามาให้บริการด้วย โดยทั้ง 2 ฝ่าย ต้องเจรจาในการจ้างเช่าวิ่งตามระยะทางร่วมกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุป โดยเชื่อว่า เรื่องดังกล่าว สามารถอธิบายได้ ขณะเดียวกัน ในเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสาร เป็นอัตราเดียว (Single Price) ในอัตรา 30 บาท/คน/วัน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนนั้น หากประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งใช้ค่าโดยสารไม่ถึง 30 บาท/วัน จะเรียกเก็บค่าโดยสารตามเดิมของรถโดยสารสาธารณะในแต่ละเส้นทาง ซึ่งต้องมาพิจารณาด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนการขอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) นั้น ที่ผ่านมา ขสมก.ได้เสนอของบประมาณเพื่อขออุดหนุน จำนวน 9,000 ล้านบาท แต่ทางกระทรวงคลัง สภาพัฒน์ฯ และสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่าควรปรับปรุงรายละเอียดของแผนฟื้นฟู ขสมก.ในบางประเด็นให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการขอเงินอุดหนุนนั้นสามารถดำเนินการได้ ต่อเมื่อเป็นราคาที่ถูกจำกัดเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งส่งผลให้ขาดทุนจึงจะสามารถขอเงินอุดหนุนได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบันการเสนอขอเงิน PSO ไม่ใช่ราคาที่ถูกจำกัดเพื่อประชาชนเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนถ่ายแผนปฏิรูป ขสมก.ในระยะ 7 ปี

ขณะเดียวกัน ขสมก. มีงบประมาณที่ต้องให้ค่าตอบแทนแก่พนักงาน ซึ่งมีอัตราการจ้างที่สูงกว่าปกติ ซึ่งหลังจากนั้นภายใน 7 ปี พนักงาน ขสมก.จะเกษียณอายุราชการ ทำให้ ขสมก.ต้องจ้างพนักงานภายนอก (เอาท์ซอร์ส) เข้ามาเพิ่มในการบริหารจัดการแทน อย่างไรก็ตาม มองว่า หากดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟู ขสมก. ล่าช้า จะทำให้ ขสมก.มีผลประกอบการขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปัจจุบัน ขสมก. ขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 300 ล้านบาท หรือขาดทุนปีละ 4,000 ล้านบาท

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า คณะทำงานชุดดังกล่าว จะใช้ระยะเวลาดำเนินการพิจารณาภายใน 1 เดือน เพื่อให้ได้ข้อยุติในกรณีที่หน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) สำนักงบประมาณ ที่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับแผนฟื้นฟู ขสมก.ในบางประเด็น หลังจากนั้น ขบ. และ ขสมก.จะดำเนินการพิจารณาสรุปรายละเอียด พร้อมทั้งจัดทำแผนลงทุน เพื่อเสนอต่อสภาพัฒน์ฯ ภายใน พ.ค. 2564 ก่อนที่จะเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด