“ก้าวไกล” ชี้ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ น่ากังวล ใช้หลักการ "ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น" 

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม เห็นชอบเสนอร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่...) พ.ศ.... อันเป็นการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณา ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กำลังเปลี่ยนหลักการของกฎหมายที่ได้ออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่เน้นการ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” กลายเป็น “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น” โดยร่าง พ.ร.บ. ที่ ครม.เสนอมีการแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญ 16 ประเด็น เช่น การเพิ่มนิยาม “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารผ่านระบบดิจิทัล การกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่าง ๆ ไปจนถึงวิธีการอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร 

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่ตนได้ศึกษา และได้พูดคุยกับนักวิชาการหลายท่านเห็นตรงกันว่ามีเรื่องที่น่าห่วงอยู่หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อกำหนดที่ระบุว่าข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อมูลด้านความมั่นคงของรัฐ ด้านการทหาร ด้านการป้องกันประเทศ ไปจนถึงความมั่นคงของรัฐด้านอื่น ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดจะเปิดเผยไม่ได้ เรื่องนี้กลายเป็นผิดหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการทำงานที่รัฐบาลเองพูดมาโดยตลอด เสมือนเป็นการตีเช็คเปล่าให้ ครม. กำหนด ซึ่งอาจมีการกำหนดจนทุกเรื่องกลายเป็นความมั่นคงของรัฐไปเสียหมด

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่ตนประหลาดใจมาก คือ การที่กฎหมายจะกำหนดว่าหน่วยงานอาจปฏิเสธให้ข้อมูลหากเห็นว่าผู้ยื่นคำขอขอข้อมูลเป็นจำนวนมากหรือบ่อยครั้ง ถึงแม้จะพยายามบอกว่าเฉพาะกรณีก่อกวนการปฏิบัติงานหรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการตีความ เรื่องนี้สะท้อนวิธีคิดที่ผิดมาก แทนที่หน่วยราชการจะยินดีที่ประชาชนสนใจในสิ่งที่ตนทำงาน แต่กลับมาหาว่าประชาชนเป็นปัญหาที่จะมาขอข้อมูล มิเช่นนั้นหน่วยราชการจะเก็บข้อมูลจำนวนมากไปทำไม หากไม่ให้ประชาชนใช้ได้ หรือกลัวประชาชนจะตรวจสอบได้ว่าหลายครั้งเป็นการใช้งบประมาณเกินจำเป็น

เรื่องการอุทธรณ์กรณีที่หน่วยราชการไม่ให้เปิดเผยต่อศาล ร่างกฎหมายนี้เขียนบังคับการทำหน้าที่ของศาลโดยได้ระบุว่าให้ศาลพิจารณาเป็นการลับและห้ามมิให้เปิดเผยเนื้อหาสาระของข้อมูล และวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลในคำพิพากษาหรือคำสั่ง เรื่องนี้ในแต่ละศาลจะมีกฎหมายที่ระบุไว้อยู่และให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาว่าเรื่องใดเป็นเรื่องลับและบันทึกข้อมูลแบบใด กฎหมายไม่ควรไปกำหนดแทรกแซงการทำหน้าที่ของศาล อีกทั้งให้มีการอุทธรณ์ได้ในศาลปกครองชั้นต้นเพียงชั้นเดียวและถือเป็นที่สุด จะทำให้ศาลปกครองสูงสุดไม่มีโอกาสได้ทบทวนและวินิจฉัยคดีวางบรรทัดฐานในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ

อีกทั้ง ครม. เห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ หมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ซึ่งระบุให้พิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา โดยหลายกฎหมายที่ผ่านมาพบว่าฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสภาจะพิจารณาและลงมติไปในทิศทางเดียวกันทั้งในชั้นรับหลักการวาระ 1 และชั้นพิจารณาวาระ 2 ทำให้หากจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาสาระที่ไม่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้น นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชน จะต้องช่วยกันส่งเสียงท้วงติงร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่ตอนนี้

"จะเห็นว่า พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ ต้องอยู่บนหลักการ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ที่ ครม. มีมติเห็นชอบนี้ไม่ได้อยู่บนหลักการดังกล่าว พรรคก้าวไกลจึงตั้งคณะทำงานศึกษาเนื้อหาสาระที่แก้ไข พร้อมเสนอความเห็นต่อที่ประชุม ส.ส. พิจารณาว่าควรจะรับหรือไม่รับหลักการกฎหมายฉบับนี้ต่อไป” นายณัฐวุฒิ กล่าว