อดีตเลขาฯ อังก์ถัด ‘ศุภชัย พานิชภักดิ์’ ชี้ รัฐบาลกู้หนี้สู้วิกฤติโควิด เต็มเพดาน 60% ของจีดีพี ยังไม่น่ากังวล เหตุรัฐบาลทั่วโลกกู้เหมือนกันหมด ระบุ สัดส่วนยังต่ำกว่าหลายประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) เปิดเผยในงาน TJA Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 66 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่อง มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้จะดีขึ้นเรื่อย ๆ แบบเรียบ ๆ เพราะหลายประเทศยังต่อสู้กับวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เพราะเป็นเศรษฐกิจในรูปแบบที่เรียกว่าเซอร์ไววัล หรือเศรษฐกิจที่จำเป็นจะต้องหาทางบริหารให้อยู่รอด

นายศุภชัย กล่าวว่า การทำเศรษฐกิจให้อยู่รอดแม้ว่าจะทำให้เกิดปัญหาหนี้แต่ก็มีความจำเป็น เพราะทางเลือกในการแก้ปัญหามีไม่มาก ซึ่งการกู้เงินมาใช้ต่อสู้กับวิกฤต ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลทั่วโลกก็โดนโจมตีเหมือนกันหมดว่าเป็นรัฐบาลนักกู้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่ากู้มากหรือกู้น้อย และการกู้มาต้องใช้ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ และใช้ในสิ่งที่เหมาะสม ล่าสุดทั้งธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต่างก็เปิดช่องให้หลายประเทศกู้เงินในเงื่อนไขพิเศษทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนทั่วโลก

ทั้งนี้การกู้เงินมาสู้กับวิกฤตครั้งนี้ มองว่า แม้จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเข้าใกล้กรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลังที่กำหนดเอาไว้ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี แต่ก็ไม่อยากให้กังวลใจมาก เพราะสัดส่วนยังต่ำกว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนหนี้สูงกว่านี้มาก