ปัจจุบันการที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะมีอายุได้ยาวนานเป็นสิบปี ก็เรียกว่าเก่ง แต่ถ้าเป็นร้อยปี นี่ถือว่าหาได้ยากมาก ๆ แต่เชื่อไหมว่า ในโลกนี้มีธุรกิจที่มีอายุยาวนานถึง 1,400 ปีอยู่

และที่สำคัญยิ่งกว่า คือ บริษัทนี้ทำธุรกิจแบบเดียวกับที่ทำในอดีต มาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย

คงโงกูมิ (Kongō Gumi : 金剛組) หรือ ‘บริษัท คงโงกูมิ จำกัด’ คือ บริษัทที่ว่า...

คงโงกูมิ เป็นบริษัทรับจ้างก่อสร้างวัดและศาลเจ้า ก่อตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ปีพุทธศักราช 1121 โดยช่างไม้ชื่อ Shigemitsu Kongo จุดเริ่มต้น คือ เขาได้รับว่าจ้างจากราชสำนักให้สร้างวัดพุทธขึ้นเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น ซึ่งพวกเขาก็ได้สร้างวัดวัดชิเทนโนจิ ในจังหวัดโอซาก้าขึ้นมา และผลงานดังกล่าว ก็เป็นที่ชื่นชมอย่างมาก เขาจึงตัดสินใจก่อตั้ง บริษัท คงโงกูมิ เพื่อรับงานสร้างวัดอย่างจริงจัง

นับจากวันนั้น ศาสนาพุทธก็แพร่หลายในญี่ปุ่น ธุรกิจ คงโงกูมิ จึงมีงานสร้างวัด ศาลเจ้า และปราสาทต่าง ๆ เข้ามาอยู่ตลอด ด้วยความที่ผลงานเป็นที่ประจักษ์ คงโงกูมิ เลยมีงานให้ทำไม่หยุดหย่อน ยิ่งคนญี่ปุ่นมีศรัทธาแรงกล้าในพุทธศาสนามากขึ้นเท่าไร ธุรกิจของ คงโงกูมิ ก็ยิ่งเจริญเติบโตมากขึ้นเท่านั้น วัดชื่อดังหลายแห่งในญี่ปุ่นก็เป็นผลงานของพวกเขา รวมถึงปราสาทโอซาก้าที่เป็นจุดท่องเที่ยวยอดฮิตด้วย

คงโงกูมิ ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน สืบทอดมาถึง 40 รุ่น มีการคัดเลือกทายาทที่เหมาะสม มีทั้งผู้สืบทอดที่เป็นลูกชาย ลูกสาว ลูกเขย ซึ่งทั้งหมดจะต้องผ่านการพิจารณาว่ามีภาวะผู้นำที่ดี และบริษัทยังมีการปรับตัวในยุควิกฤต เช่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คนไม่สนใจจะสร้างวัด บริษัทก็หันมาต่อหีบศพขายเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด พอเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ พวกเขาก็เริ่มสร้างวัดด้วยคอนกรีตแทนไม้ โดยยังคงความงามของศิลปะดั้งเดิมไว้อยู่

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมบริษัทรับสร้างวัด จึงอยู่มาได้นานขนาดนี้?

มีการวิเคราะห์กันว่ามาจาก 3 ปัจจัยใหญ่ ๆ ซึ่งประกอบด้วย...

1.) ผู้นำที่ดี

ความน่าสนใจ ก็คือ การสืบทอดกิจการกันในครอบครัว ที่ไม่ได้ยึดติดกับ ‘ลูกคนโต’ มาสืบทอดงานตามปกติเหมือนธุรกิจอื่น ๆ แต่บริษัท คงโงกูมิ จะคัดเลือกผู้สืบทอดจากทายาทที่เหมาะสม โดยไม่สนทั้งอายุและเพศ ทำให้ผู้นำของบริษัทสามารถเป็นได้ทั้งลูกชาย ลูกสาว หรือแม้แต่ลูกเขย ที่แต่งเข้ามาก็ได้ ขอแค่พวกเขารักในงาน อยากสืบทอดกิจการ และมีความสามารถ ซึ่งนั่นทำให้ผู้นำบริษัท มักมีภาวะผู้นำที่ดีอยู่เสมอ

2.) สินค้ามีความต้องการอยู่ตลอดเวลา

บริษัท คงโงกูมิ ทำงานเกี่ยวข้องกับศาสนา ที่มีผู้คนศรัทธานับล้านคน ทำให้ตลอดพันปีที่ผ่านมา ความศรัทธานั้นก็ยังคงอยู่ พวกเขาจึงมีงานสร้างวัดอยู่เสมอ ๆ พอวัดใหม่ถูกสร้าง วัดเก่าก็ต้องการการปรับปรุง แล้วงบก็จะมาจากทั้งการว่าจ้างของเอกชน การระดมทุนของชุมชน หรือกระทั่งรัฐบาลสนับสนุนเงิน ทำให้มีเงินเข้ามาอยู่ตลอด ฉะนั้นลองคิดดูว่าใครที่ก่อสร้างวัด หรือปรับปรุงวัด ก็ต้องเรียกหา ‘คงโงกูมิ’ เป็นลำดับแรกๆ จนเรียกว่าเป็นเจ้าตลาด ในตลาดที่มีลูกค้าคอยใช้บริการอยู่ตลอด ก็ไม่ผิดนัก

3.) ความยืดหยุ่นของบริษัท

บริษัท คงโงกูมิ นับว่าเป็นบริษัทที่ผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายมามากที่สุดบริษัทหนึ่งเลยก็ว่าได้ ดังนั้นพวกเขาจึงมีความสามารถในการปรับตัวสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น…

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่พวกเขาแทบไม่มีงานก่อสร้างวัดเลย เพราะนอกจากผู้คนจะยากลำบาก งบทุกอย่างยังต้องทุ่มไปที่สงครามด้วย แต่ผู้นำบริษัทในตอนนั้นก็ไม่อยู่นิ่ง เมื่อสงครามทำให้คนตายมหาศาล บริษัทก็ผันตัวไปผลิตโลงศพ เพื่อพยุงกิจการไว้

แถมหลังสงคราม พวกเขาก็กลับมารับหน้าที่บูรณะวัดที่ถูกทำลายจากช่วงสงครามได้อีกครั้ง

พอในยุคหลัง บริษัทยังเลือกที่จะเปลี่ยนจากการสร้างวัดด้วยไม้ ไปเป็นคอนกรีต เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ลดความเสี่ยงไฟไหม้ และทำให้บริการพวกเขาน่าสนใจกว่าคู่แข่งอีก

อย่างไรก็ตาม แม้ คงโงกูมิ จะมีชื่อเสียงทั้งเรื่องความมั่นคง และการปรับตัวแค่ไหน แต่พวกเขาก็ต้องพบปัญหาใหญ่!!

ในช่วงยุคปี 2523 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเฟื่องฟู บริษัทแห่งนี้ จึงเริ่มหันมาจับงานด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น และเพื่อขยายกิจการ ทางบริษัท จึงตัดสินใจได้กู้เงินก้อนใหญ่มาเพื่อลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ

ทว่าพวกเขากู้เงินมาลงทุน ในช่วงเวลาที่ไม่ค่อยจะเหมาะเท่าไร และอย่างที่ทราบกันดีว่า เหตุการณ์ฟองสบู่แตกของญี่ปุ่นช่วงปี 2532 เป็นความบอบช้ำเหมือนต้มยำกุ้งที่คนไทยต้องเผชิญ ทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวลงไป และนั่นก็ทำให้ คงโงกูมิ ต้องประสบกับภาวะที่ลำบาก

แม้ คงโงกูมิ จะไม่ถึงขั้นต้องปิดบริษัทในตอนนั้น แต่ปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้น ดันเข้ามาพร้อม ‘การถดถอยของศาสนาพุทธในญี่ปุ่น’ ทำให้รายได้ของบริษัทเริ่มลดลงอย่างน่าใจหาย เนื่องจาก 80% ของรายได้บริษัทแห่งนี้ ล้วนแต่มาจากการสร้างและปรับปรุงซ่อมแซมวัดแทบทั้งสิ้น

บริษัท คงโงกูมิ ใช้เวลาล้มลุกคลุกคลานกับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเวลาเกือบ 20 ปี โดยมีรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 2,200 ล้านบาท แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็กลับมีหนี้มหาศาล เกินกว่าที่จะจ่ายได้

จนกระทั่งเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 เมื่อเห็นท่าว่าจะไปต่อไม่ไหว คงโงกูมิ จึงตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และขายให้กับ ‘บริษัททากามัตสึ’ ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ไป

และนั่นก็ทำให้ ธุรกิจของตระกูลคงโง กับคงโงกูมิ ต้องยุติธุรกิจลงที่อายุ 1,428 ปี

แม้บทบาทของคนในตระกูลจะจบลง แต่อย่างไรก็ตาม คงโงกูมิ ก็เกิดใหม่ภายใต้บริษัททากามัตสึ ที่มีความเคารพในเกียรติยศของบริษัทที่มีอายุมากที่สุดในญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าแบรนด์ คงโงกูมิ ยังขายต่อไปได้

โดยทางบริษัททากามัตสึอนุญาต จึงคงชื่อ คงโงกูมิ ไว้ และไม่มีการยุบหรือควบรวมเข้ามาเป็นบริษัทเดียวกัน และยังให้คนในตระกูลคงโงสามารถทำงานได้ภายใต้ชื่อของบริษัทคงโงกูมิ สืบมาจนถึงทุกวันนี้...


ที่มา

https://www.facebook.com/331394447302302/posts/1166482313793507/

https://www.facebook.com/powersmethai/photos/a.1125773347499569/2573378549405701/?type=3&theater