โควิดสมุทรสาครดีขึ้น จังหวัดทยอยปิดโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง ในสมุทรสาคร หลังรองรับผู้ป่วยโควิดต่อเนื่องช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ปฎิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าฯ / นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องภาครัฐ - เอกชน ร่วมกันปิดโรงพยาบาลแห่งแรก ของจังหวัดสมุทรสาคร หรือ ‘ศูนย์ห่วงใยคนสาคร1’ ที่สนามกีฬาจังหวัด ซึ่งเริ่มรองรับผู้ป่วยโควิด จำนวน 700 เตียง มาตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการแพร่ระบาดโควิดในจังหวัด
โดยโรงพยาบาลสนาม นับเป็นจุดเริ่มต้นของการหาสถานที่กักตัว ผู้ติดเชื้อโควิด ที่มีอาการไม่รุนแรง และ ไม่แสดงอาการ เพื่อนำตัวแยกออกจากชุมชน แยกออกจากสังคม มากักตัว เพื่อสังเกตอาการเพื่อจะได้ไม่เกิดความเสี่ยงแพร่เชื้อกับคนอื่นต่อในช่วงที่จังหวัดสมุทรสาคร ยังต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิดในช่วงนั้น
โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้น ที่นำไปสู่หาสถานที่อื่นๆ เพื่อสร้างโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมในจังหวัดจนนำมาสู่การมี รพ.สนาม จำนวน 8 แห่ง ในช่วงเวลา 1 เดือน ของการแพร่ระบาด และเพิ่มเป็น 10 แห่ง ในช่วง 2 เดือน ของการแพร่ระบาด
สำหรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ คือ กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อจากตลาดกลางกุ้งจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด ในจังหวัดสมุทรสาคร จากนั้นเป็นกลุ่มแรงงานจากโรงงานอื่นๆ และ สถานที่อื่นๆ ที่พบผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่มากนัก หรือไม่แสดงอาการ ถูกทยอยส่งมาที่นี่ รวมถึงกระจายไปยัง โรงพยาบาลสนามแห่งอื่น ๆ ที่อยู่ใน จังหวัดสมุทรสาคร
แม้การปิดโรงพยาบาลสนามครั้งนี้ ทางจังหวัดต้องการทำให้เห็นว่าทิศทางของสมุทรสาครดีขึ้นแล้ว แต่หากตรวจพบผู้ป่วยจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก ก็จะถูกส่งตัวไปยังสถานที่อื่น ซึ่งอยู่ในรูปแบบที่เจ้าหน้าที่สามารถดูแลในระบบ ‘Local Quarantine’ ได้ โดยจะแตกต่างจากโรงพยาบาลสนาม เพราะมีอาคาร มีสถานที่สำหรับกักตัวที่ชัดเจน มีห้องพักอยู่ได้เป็นสัดส่วน ห้องละ 1 คน หรือ 2 คน เพราะจำนวนไม่มากเหมือนช่วงสถานการณ์พีคๆ เมื่อ 1 เดือนก่อนที่พบผู้ติดเชื้อ 500+ / 600+ หรือ 900+ ในบางวัน
นอกจากการปิด โรงพยาบาลสนาม ‘ศูนย์ห่วงใยคนสาคร1’ แล้ว ทางจังหวัดสมุทรสาคร ยังปิดอีกแห่งคือ ‘ศูนย์ห่วงใยคนสาคร3’ ที่ วัฒนา แฟคตอรี่ ของ นายก อบต. พันท้ายนรสิงห์ ‘นายวัฒนา แตงมณี’ ที่ยกอาคารโกดังขนาดใหญ่ 2 อาคาร อาคารละ 120 เตียง รวม 2 อาคารมี 240 เตียง ซึ่งก่อนหน้านี้ นายวัฒนา ได้ยกอาคารโกดังให้เจ้าหน้าที่ให้ทำเป็น โรงพยาบาลสนาม ในทันที เมื่อทราบว่าจังหวัดกำลังหาสถานที่ ที่ต้องการสร้างโรงพยาบาลสนาม เพิ่มเติมเมื่อช่วงต้นเดือน มกราคม 2564 และต่อมายังก่อสร้างโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม (ศูนย์ห่วงใยคนสาคร8) เพื่อรองรับอีก 1,000 เตียง
สำหรับโรงพยาบาลสนามแห่งอื่น ๆ คาดว่าจะทยอยปิดตาม แต่จะยังคงเปิดบางแห่งไว้เผื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ในช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อและสถานการณ์ โควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ยังไม่นิ่ง
ที่มา: https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=3945770772110687&id=100000334098614