เปิดเส้นทางการศึกษาของประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษา เตรียมอุดมศึกษา ถึงระดับอุดมศึกษา

ระบบการศึกษาของมาเลเซีย

1.) ระดับก่อนประถมศึกษา

การศึกษาภาคบังคับของมาเลเซียเริ่มเมื่อนักเรียน อายุประมาณ 7 ปี มาเลเซียจึงไม่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการเรียนระดับก่อนประถมศึกษา

โรงเรียนอนุบาลในมาเลเซียเป็นโรงเรียนเอกชน ส่วนมากมีที่ตั้งอยู่ในชุมชนเมือง สําหรับกลุ่มผู้ปกครองที่มีฐานะทางการเงินที่ดีและต้องการส่งเสริมพัฒนาการของบุตรก่อนเข้าโรงเรียนประถม

2.) ระดับประถมศึกษา

มีระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ระดับ Year 1 (Tahun 1) ถึง Year 6 (Tahun 6) แม้จะมีการสอบภายในทุกภาคเรียน แต่นักเรียนสามารถเลื่อนระดับไปเรียนในปีถัดไปได้เลย แม้จะสอบได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ (แต่ละปีมี 2 ภาคเรียน ภาคที่ 1 เดือน ม.ค.- พ.ค. 20 สัปดาห์ และภาคที่ 2 เดือน มิ.ย.- พ.ย. 22 สัปดาห์ มีหยุด 4 ครั้ง ระหว่างภาคและกลางภาค รวม 10 สัปดาห์)

การศึกษาของรัฐแบ่ง ร.ร. ออกเป็น 2 ประเภทได้แก่

(1) National schools (Sekolah Kebangsaan: “SK”) ใช้ภาษามาเลเซียเป็นสื่อหลักในการเรียนการสอน

(2) National-type schools หรือ Vernacular schools (Sekolah Jenis Kebangsaan: “SJK”) ใช้ ภาษาอื่นเป็นสื่อหลักในการเรียนการสอน ปัจจุบันคงเหลือเพียงโรงเรียนที่ใช้ภาษาจีนกลางในระบบการเขียนแบบ simplified “SJK (C)” และที่ใช้ภาษาทมิฬ “SJK (T)” ในอดีตเคยมีโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาปัญจาบเป็นสื่อการเรียนการสอนด้วย แต่ปัจจุบันไม่มี

3.) ระดับมัธยมศึกษา

มีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ระดับ Form I (Tingkatan 1) จนถึง Form V (Tingkatan 5) แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่มัธยมศึกษาตอนต้น (Forms I-III) และตอนปลาย (Forms IV-V) โดยทั่วไป นักเรียนสามารถเลื่อนระดับได้ทุกปี แม้ว่าจะสอบได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์

รัฐบาลมาเลเซียกําหนดให้การเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด (ไม่รวมวิชาภาษา) ใช้ภาษามาเลเซียเป็นภาษาหลัก

4.) ระดับเตรียมอุดมศึกษา

นักเรียนมาเลเซียที่ประสงค์จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐสามารถเลือกศึกษาในระดับเตรียมอุดมศึกษาได้ 2 แนวทางได้แก่

(1) ศึกษาต่อในระดับ Form VI เป็นเวลา 1.5 ปี เพื่อสอบประกาศนียบัตร Sijil Tinggi Persekolahan Malaysia (“STPM” - เดิม เรียกว่า Higher School Certificate) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับระบบการสอบ Advanced GCEs ของอังกฤษ นักเรียนสามารถลงเรียนและสอบได้ไม่เกิน 5 วิชา ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐส่วนใหญ่มักกําหนดให้วิชา General Studies เป็นหนึ่งในวิชาบังคับสําหรับการเข้าศึกษาต่อ ทั้งนี้ นักเรียนสามารถเลือกสอบวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษได้ด้วย

(2) ศึกษาในหลักสูตร Matriculation Programme ของสถาบัน ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษโดยมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในลักษณะคล้าย Foundation Programme ซึ่งผลการสอบจะสามารถใช้ได้เฉพาะกับมหาวิทยาลัยนั้น ๆ เท่านั้น

5.) ระดับอุดมศึกษา

หลักสูตรปริญญาตรีโดยทั่วไปมีระยะเวลา 3 หรือ 4 ปี ส่วนมากใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน หรือผสมผสานระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษามาเลเซีย ยกเว้นมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia: “UKM”) ซึ่งใช้ภาษามาเลเซียในการเรียนการสอนทั้งหมดในวิชาที่ไม่ใช่วิชาภาษาต่างประเทศ

มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนชั้นนํามักกําหนดใช้ผลการสอบ STPM (หรือ UEC ในมหาวิทยาลัยเอกชน) และคะแนนสอบ Malaysian University English Test (MUET) เป็นเกณฑ์ในการสมัครเข้าศึกษาต่อ และรับพิจารณาวุฒิการศึกษาจากต่างประเทศสําหรับนักศึกษาต่างชาติ โดยสำหรับประเทศไทยนั้น กําหนดให้นักเรียนต้องจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีคะแนนดีเพียงพอสําหรับการเข้ามหาวิทยาลัยไทยในระดับเดียวกัน (นักเรียนที่มีคะแนน O-NET/GAT/PAT ที่ดี หรือมีมหาวิทยาลัยไทยรองรับแล้ว อาจได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ) และมีคะแนนสอบภาษาอังกฤษ (IELTS หรือ TOEFL) ประกอบ

โดยภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยตอบรับแล้ว นักศึกษาต่างชาติทั้งหมด จะต้องจัดส่งเอกสารทางการศึกษาทั้งหมดให้หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย คือ Education Malaysian Global Services Bhd. (“EMGS”) เป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานก่อนจึงจะสามารถขอตรวจลงตรา (“วีซ่า”) ได้ หลักสูตรปริญญาโททั่วไปมีระยะเวลา 2 ปี และปริญญาเอก ประมาณ 4 - 5 ปี โดยทั่วไปใช้ปริญญาตรีและปริญญาโทเป็นวุฒิหลักในการสมัครตามลําดับ แต่มีรายละเอียดแตกต่างกันไป


ขอบคุณข้อมูลจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

ขอบคุณที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3494320973985936&id=541186885966041