การเมือง - คู่แค้น - เพื่อนรัก ไร้มิตรแท้ และศัตรูถาวร ในเกมการเมือง

เกมการเมืองแบบเพื่อนหลักหักเหลี่ยมโหด และการแปรเปลี่ยนจากคนคุ้นเคยเป็นคนไม่คุ้ยชิน อาจจะดูเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่เฉยชา

แต่เชื่อเถอะว่านี่คือกรณีศึกษาของเกมการเมืองไทย ที่ผ่านไปกี่ปีก็ไม่เปลี่ยน และน่าจะทำให้เราไม่ควรไปอินให้มากนัก

เพราะการเมืองที่แท้จริงต้อง ‘ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร’

กรณีหนึ่งที่เล่าเรื่องนี้ได้ดี คือ 2 คู่กัดที่เบื้องหลังน่าจะรักกันแบบไม่ออกจออย่างกรณีของ ‘วัชระ เพชรทอง’ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ แบบบัญชีราย และ ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน เผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

อันที่จริงแล้ว ช่วง2-3 ปีมานี้ 2 ท่านนี้มีกรณีฟ้องร้องหมิ่นประมาทกันว่อนศาล จนคนคิดว่าทั้งคู่นี้ คือ คู่แค้นแบบไม่มีวันหาจุดจบอันดีให้กันได้

เพราะในภาพเบื้องหนัาหลายคนอาจจะมองเห็น ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ในระดับ (ลบ) และมักแสดงอาการไม้เบื่อไม้เมาระหว่างกันมาโดยตลอด จนสื่อมวลชนประจำรัฐสภาเคยให้ทั้งคู่เป็น ‘คู่กัดแห่งปี’ มาแล้ว

แต่ในความเป็นจริงทั้ง 2 คนซี้กันเสียยิ่งกว่าใดๆ เสียอีก

วัชระ เคยออกหนังสือ ‘ทองแท้ไม่กลัวไฟ’ เพื่อเป็นการตีแผ่บทบาทของจตุพรในช่วงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ว่าไม่ได้มีความเป็นผู้นำศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงอย่างแท้จริง

เพราะได้พาตัวเองออกจากสถานการณ์บริเวณราชดำเนินทันที เมื่อมีเสียงปืนดังขึ้นมาเป็นนัดแรก และต่อมาก็ได้ ออกหนังสือเรื่อง ‘หยุดก่อน! สส.จตุพร พรหมพันธุ์ หยุดระบอบทักษิณ!’ เป็นครั้งแรกที่วัชระออกหนังสือที่พูดถึงจตุพรเป็นการเฉพาะจากเดิมก่อนหน้านี้หนังสือที่พูดถึงจตุพรจะมีเสี้ยวเดียวเท่านั้น

ทั้งนี้ เนื้อหาโดยรวมของหนังสือเล่มนี้หนีไม่พ้นการเป็นพื้นที่สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของจตุพรทั้งในฐานะสส.และแกนนำคนเสื้อแดง

แต่ในตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้มีจุดที่น่าสนใจตรงที่การบรรยายถึงความสัมพันธ์ของคนทั้งสองเมื่อครั้งสมัยศึกษาภายในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วยกันมาก่อน ซึ่งวัชระไม่ค่อยจะเล่าออกมาผ่านเป็นลายลักษณ์อักษรมากนัก

วัชระ เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า “ในสมัยก่อน เราเป็นเพื่อนสนิทกันในรั้วรามคำแหง รู้จักกันที่รามคำแหง จตุพรเป็นคนพูดเก่ง และเป็นคนเก่ง เป็นนักกิจกรรม ซึ่งผมเองก็สนับสนุนให้คุณจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรคแทนตัวเองในรั้วรามคำแหง และเราก็เป็นเพื่อนที่ดีกันมาตลอด จนกระทั่งมีครั้งหนึ่ง พอเขาได้ไปเป็นหัวหน้าพรรค ก็ไปไล่ผมให้ไปนั่งอ่านหนังสือที่อื่น มันก็จะตลกๆ หน่อย คุณจะบริหารงานก็บริหารไป แต่ผมนั่งอ่านหนังสือก็ไล่ให้ไปนั่งที่อื่น”

นี่ก็เป็นเกริ่นเรื่องขำๆ จากคำพูดของวัชระ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ขัดแย้งกันมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะหลังจากนั้น จตุพร ก็เริ่มไปหันสนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ในรั้วรามคำแหง ซึ่งวัชระก็ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น และก็บอกให้ระวัง และในที่สุด จตุพร ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของทักษิณ และปัจจุบันของจตุพรในวันนี้คือ คนที่ต้องติดคุกและใช้คำว่าจบชีวิตการเมืองไวกว่าที่คาด

“จนทุกวันนี้ใครก็ไม่รู้ ที่อยู่เมืองนอก หลอกเพื่อนผมว่าจะให้ตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ที่สุด ก็ทำให้เพื่อนผมต้องติดคุกแทน มันก็เลยเป็นที่มาของความขัดแย้งกันระหว่าง ‘ทักษิณ’ และ ‘จตุพร’ เหตุจากไปหลอกเขาว่าจะให้เป็นรัฐมนตรี ถึงขั้นจะเลี้ยงฉลองกันล่วงหน้า”

วัชระ เล่าถึงช่วงที่จตุพรเริ่มฝักใฝ่ในระบอบทักษิณ และทำให้เพื่อนของเขาเปลี่ยนไป

“เขากลายเป็นคนที่มี ‘จิตอีกมิติหนึ่ง’ อันนี้ผมใช้คำที่สุภาพนะ เชื่อไหมว่าเขาเคยบอกต่อหน้าสื่อมวลชน ว่าไม่รู้จักผม จะไม่รู้จักได้ไง ก็เลี้ยงข้าวทุกมื้อ แต่ก่อนผมมีแบงก์ 20 แล้วก็พับใส่มือเขา ข้าวจานละ 5 บาท ผมก็เลี้ยงจริงๆ เพราะตอนที่รู้จักกับจตุพรในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผมอยู่ในฐานะนักกิจกรรมรุ่นพี่ เขาก็เรียกผมพี่ทุกคำ ใช้ให้ทำอะไรก็ทำ ใช้ให้ไปซื้อเหล้าขาวน้ำแดงก็ไป

“ผมเอ็นดูจตุพรในฐานะรุ่นน้องร่วมพรรคสัจธรรม ไม่เพียงแต่ดูแลเลี้ยงข้าวเป็นประจำทุกมื้อ แม้แต่ค่าหน่วยกิตก็ยังหยิบยื่นให้ นายจตุพรมาขอให้ผมช่วยแนะนำการพูดการปราศรัยการทำกิจกรรม ผมก็ถ่ายทอดประสบการณ์ให้อย่างไม่ปิดบัง เพราะเห็นในความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวจตุพร และผมก็ส่งเสริมให้นายจตุพรเป็นผู้นำพรรค (นักศึกษาสัจธรรม) แทนตัวเอง”

วัชระ ขยายความอีกว่า “ความรัก ความสนิทสนมของเรา 2 คน เหมือนกับพี่ชายน้องชาย ตอนผมเมาแล้วอาเจียนรดหมอนที่นอนใต้ถุนกุฎีพระมหาระแบบ วัดบวรนิเวศ (พี่ชายจตุพร) นายจตุพรก็เป็นคนเช็ดอาเจียนของผม ยามผมอิ่มนายจตุพรก็อิ่ม ยามผมอดนายจตุพรก็อด แม้กระทั่งผู้หญิงนายจตุพร ก็เคยจีบคนเดียวกับผม

“แต่เมื่อผมสนับสนุนให้นายจตุพรเป็นผู้นำพรรคแทนแล้ว...ผลลัพธ์ก็ปรากฏ

“จตุพรสนองคุณผมโดยเอ่ยปากไล่ผมให้ไปนั่งที่อื่น อย่าเข้าไปนั่งในพรรคสัจธรรมอีก ผมรู้สึกทันทีว่าถูกรุ่นน้องที่ฟูมฟักมาทรยศหักหลัง จึงขอให้เปิดประชุมสมัชชาพรรค ผลปรากฏว่านายจตุพรต้องพ่ายแพ้ นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกว่า 20 ปีแล้ว”

ความบาดหมางจากวันนั้น อาจจะดูเหมือนเป็นความแค้นแบบไม่มีวันจบ!!

เพราะในฐานะของการเป็นนักการเมือง ทั้ง 2 ก็อยู่กับคนละขั้ว และก็มีเหตุให้เกิดการฟ้องร้องหมิ่นประมาทของทั้ง 2 บ่อยครั้ง

“ล่าสุดมีกรณีการฟ้องหมิ่นประมาทระหว่างกัน คือ เขามาฟ้องร้องผม หาว่าผมหมิ่นประมาทเขา ผมก็เลยฟ้องเขาบ้าง แต่สุดท้ายเขาก็มาขอให้ผมช่วยถอนฟ้อง

“ผมยินดี เพราะในที่สุด เราก็ไม่อยากให้เพื่อนต้องมาติดคุกเพราะเรา และตัวเขาเองก็เคยติดคุกมาแล้ว ถ้าผมยืนยันจะฟ้องต่อ ก็ไม่สามารถรอลงอาญาได้อีก ติดคุกอีกรอบชัวร์

“ฉะนั้นเมื่อเขามาขอให้ถอนฟ้อง ผมก็ยินดีถอน ในฐานะเป็นเพื่อนกัน เพราะถึงที่สุด ถ้าเขาติดคุก เพราะคดีที่ผมมาฟ้องคดีหมิ่นประมาท ผมก็ไม่สบายใจ”

วัชระ เล่าให้ฟังว่า “วันนี้ เราดีกัน อโหสิกรรม ให้กันแล้ว”

ที่เล่ามายาวยืดนี้ วัชระ อยากให้ข้อคิดอย่างหนึ่ง คือ ใครก็ตามที่เข้ามาในวงการเมือง มักจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือไปหมด นี่คือสัจธรรมสมชื่อพรรคที่เขาเคยสังกัดในรั้วรามคำแหง

“ผมคิดว่าถ้าเขาใช้หลักธรรมในการนำตนเข้าสู่การเมือง เขาจะไปได้ไกล เขาเก่งขนาดที่เป็นรัฐมนตรีได้จริงๆ แต่เมื่อเขาหลงไปกระทำการต่างๆ กับระบบทักษิณ สุดท้ายชีวิตเขาถึงเป็นเช่นนี้

“แต่คนที่ฉลาด ก็คือ แรมโบ้อีสาน - สุภรณ์ อัตถาวงศ์ เพราะเขามาปรึกษาผม โดยเพื่อนเก่าอีกคนหนึ่ง ซึ่งในอดีตเขากับผม เคยลงสมัครแข่งประธานนักเรียนที่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี เขาเป็นคนโคราช แต่ไปเรียนที่นั่น เพราะพี่สาวเป็นครู ผลในวันนั้นเขาได้ 7 คะแนน ผมได้เป็นประธานนักเรียน ซึ่งโรงเรียนมีนักเรียน 3 พันคน ก็ไม่ต้องบอกว่าผมได้กี่พันคะแนน แต่วันนี้ เขามาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ก็ออกมารายวัน และตอบโต้แทนลุงตู่ทุกวัน และก็กลับมาว่าผม แต่ผมก็ให้อภัย

“พูดถึงแรมโบ้แล้ว ต้องขอเล่าหน่อย เชื่อไหมว่า ในสมัยหลังรัฐประหารของลุงตู่ เขาก็เป็นคนหนึ่งที่หารือผม หลังจากเขาถูกทหารควบคุมตัว ซึ่งตอนนั้นเขาบอกว่า ทหารนำตัวเขาไปกลางป่า เอาปืนจี้หลัง และให้แก้ผ้าหมดเลย คิดดูว่าเขาเสียวขนาดไหน แต่เขาก็รอดมาได้

“แล้วเขาก็ถามผมว่า แล้วกูจะไปทางไหนดี ผมก็บอกว่า เมิงมีคดีเยอะ ก็ต้องไปอยู่กับ คสช. เพราะเขาจะตั้งพรรค แล้วลุงตู่ ลุงป้อม ช่วยมึงได้แน่นอน ผมก็แนะนำแบบนั้น และวันนี้ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ”

แม้ความสัมพันธ์ในทางตรง อาจจะดูเหมือนเป็นการขัดแย้งกันของคนในแวดวงการเมือง แต่หากได้ลองฟังจากปาก วัชระ ที่เล่าถึง 2 เพื่อนซี้ในอดีต (วันนี้ก็ยังซี้) มันแอบสะท้อนให้เห็นตรงกับภาษิตโบราณทุกกระเบียดที่ว่า...

ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร ในวงการเมือง จริงๆ