ส.ส.ก้าวไกล ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ โต้ ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ กรณีพาหมอสูตินารีค้านกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ โดยยกเหตุมโนธรรมชั้นสูงของแพทย์ ย้ำกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ผ่านการพิจารณาอย่างรอบด้าน จากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และฐานะประธานอนุกรรมาธิการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ต่อกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
นำคณะหมอสูตินารีเดินทางไปยื่นหนังสือร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อค้าน “กฎหมายยุติการตั้งครรภ์” โดยให้เหตุผลว่า ถึงแม้ในทางกฎหมายทารกยังไม่ “สภาพบุคคล” แต่ในทางการแพทย์ตัวอ่อนอายุเกิน 12 สัปดาห์ที่แขนขาครบแล้ว ประกอบด้วยเหตุผล “มโนธรรมชั้นสูง” ของแพทย์ที่สร้างบาดแผลในจิตใจ
โดยนายธัญวัจน์ ระบุว่า “เรียนนายศรีสุวรรณ จรรยา ด้วยความเคารพ กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภานั้นได้ผ่านการกลั่นกรองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งแพทย์ นักกฎหมาย ภาคประชาชน และในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญที่ผ่านมาอย่างรอบด้านแล้ว ด้วยเหตุผล 2 ด้าน
ที่เราต้องย้ำเตือนตนเองเสมอคือ สถานการณ์จริง และความปลอดภัย จึงเป็นเหตุที่ร่างคณะรัฐมนตรีมีการเพิ่มอนุมาตรา 5 หรือเหตุผลด้านสังคมและเศรษฐกิจที่หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์”
ทั้งนี้ เรายังมีการพิจารณาจากองค์กรอนามัยโลกที่พูดถึงการยุติการตั้งครรภ์ โดยมองว่าในระยะ 22 สัปดาห์บวกลบคือช่วงเวลาแท้ง กับ คลอดก่อนกำหนด ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีการแพทย์ว่ามีความทันสมัยแค่ไหน และหากเราพิจารณาในหลายประเทศทั่วโลก
การยุติการตั้งครรภ์ตามคำร้องขอนั้นหมายถึงสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เพราะคำนึงเรื่องความปลอดภัยและก็มีอายุครรภ์ต่างกัน 8 - 24 สัปดาห์ และในหลายประเทศเรื่องยุติการตั้งครรภ์ก็เป็นบริการสุขภาพของผู้หญิง และมี 70 กว่าประเทศทั่วโลกไม่กำหนดอายุครรภ์ หรือตัวอย่างของ ไต้หวัน สิงคโปร์ อินเดีย ญี่ปุ่น ก็กำหนดอายุครรภ์ไว้ 24 สัปดาห์
นายธัญวัจน์ กล่าวอีกว่า ไม่ใช่ว่าคณะกรรมาธิการไม่พิจารณาเรื่องความเชื่อทางศาสนา หรือจริยธรรม เราถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวางในการทำงาน แต่ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องศาสนานั้นเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เช่นเดียวกับที่หญิงต้องตัดสินใจการยุติการตั้งครรภ์
หากหญิงมีความเชื่อในแบบหนึ่งก็จะตัดสินใจแบบหนึ่ง ซึ่งเราต้องเคารพไม่ตีตรา เช่นเดียวกัน กฎหมายผ่านแล้วทางแพทยสภาก็ต้องไปออกระเบียบความสมัครใจของแพทย์ที่จะทำการยุติการตั้งครรภ์
สุดท้ายนายธัญวัจน์ กล่าวว่า การที่นายศรีสุวรรณมีความคิดเห็นต่างนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก สามารถกระทำได้ สามารถนำเสนอสู่สังคมได้ แต่ตนมองว่าแต่การค้านกฎหมายโดยไม่มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ก็เท่ากับว่าเราผลักผู้หญิงสู่การทำแท้งเถื่อนไม่ปลอดภัย ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา
ถ้านายศรีสุวรรณ จะหารือการจัดการของแพทยสภาในกรณีคุณหมอบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย และไม่ต้องการทำ ก็น่าจะออกแบบระเบียบให้เป็นไปตามความสมัครใจของแพทย์ อันนั้นน่าจะช่วยกันแก้ปัญหามากกว่า
เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผู้หญิงก็ต้องมาพบแพทย์อยู่ดี ขึ้นอยู่กับว่าจะมาพบแพทย์ก่อนตอนเกิดปัญหา หรือมาพบตอนที่มดลูกทะลุ บาดเจ็บมาแล้ว