คืบหน้า รัฐประหาร เมียนมา หลังกองทัพได้คุมตัว ‘ออง ซาน ซูจี’ที่ ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา และ ‘วิน มิ่นท์’ ประธานาธิบดีเมียนมา ล่าสุด ‘มิน อ่อง หล่าย’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยึดอำนาจบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการเบ็ดเสร็จ พร้อมประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปี

หลังจากที่เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา ระบบสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา ถูกตัดขาด ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารได้เดินทางไปยังบ้านของหัวหน้าคณะรัฐมนตรีประจำภูมิภาคต่าง ๆ  รวมถึงนาง ออง ซาน ซูจี และประธานาธิบดี วินต์ มินต์ พร้อมแกนนำพรรคคนอื่น ๆ ไปควบคุมตัวไว้

ล่าสุด พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี พร้อมเข้ายึดอำนาจทั้ง ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการทั้งหมด พร้อมแต่งตั้ง พล.อ. มิน ส่วย รองประธานาธิบดี เป็นประธานาธิบดีชั่วคราว

สำหรับปมใหญ่ที่ทำให้กองทัพเมียนมาใช้เป็นมูลเหตุแห่งการยึดอำนาจ มาจากการพบหลักฐานการทุจริตการเลือกตั้ง เช่น ปลอมบัญชีรายชื่อผู้ใช้สิทธิ์ ราว 8.6 ล้านรายชื่อจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 37 ล้านคน และมองว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.พม่า) เอื้อประโยชน์กับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ( NLD)

ทั้งนี้ หลังจากพรรค NLD ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว กองทัพเมียนมาและบรรดาพรรคฝ่ายค้านได้ออกมาคัดค้านผลการเลือกตั้ง โดยอ้างว่ามีการโกงเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง

โดยทางพรรค NLD ภายใต้การนำของนางซู จี ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อ 8 พ.ย. 2563 อย่างถล่มทลาย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2 ด้วยการคว้าที่นั่งในสภาไปถึง 346 ที่นั่ง แบ่งเป็น สภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง 258 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง) และสภาชนชาติ หรือสภาสูง 138 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง) ขณะที่ฝ่ายค้านอย่างพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ได้เสียงในสภาล่าง 26 ที่นั่ง และสภาชนชาติ 7 ที่นั่ง (ลดลงจากเดิมสภาละ 4 ที่นั่ง)