'ทิพานัน’ สวน ‘ช่อ’ บิดเบือน!! โยง EU ขัดแอสตราฯ ปมส่งวัคซีนสะดุด

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึง กรณีที่ศาลอาญามีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด เพราะมีเนื้อหาอันเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักรตามมาตรา 14(3) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

แต่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช และคณะก้าวหน้า ตอบโต้ว่า สิทธิ เสรีภาพ และผูกขาดการใช้กฎหมาย เฉพาะประโยชน์ของตนเอง ไม่ใช้หลักการ แต่ใช้เพียงหลักกูว่า น.ส.พรรณิการ์ ไม่ควรนำประเด็นของอียู มากล่าว อ้างสนับสนุนการกระทำของคณะก้าวหน้าว่ามีสิทธิทำได้ โดยสาเหตุหลักคืออียูขัดแย้งเรื่องการได้รับวัคซีนล่าช้า ไม่เป็นไปตามกำหนด จึงได้เปิดเผยสัญญาจัดซื้อที่เป็นความลับ และในข้อ16 ของสัญญากำหนดไว้เกี่ยวกับการรักษาความลับ ทางอียูได้เผยแพร่สัญญา โดยทำเครื่องหมายปิดข้อความบางส่วน 24 หน้า จาก 42 หน้า เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับ ราคา วิธีการปรับขึ้นราคา กำหนดวันส่งมอบ การให้ทุนสนับสนุนต่างๆ ลิขสิทธิ์ เพื่อสนับสนุนข้อขัดแย้งเรื่องความล่าช้า ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เกิดจากประเด็นต้องการตรวจสอบหรือเรียกร้องความโปร่งใสของรัฐบาลอียู ตามที่ น.ส. พรรณิการ์เข้าใจผิดและเอามาปะติดปะต่อ แบบอ่านไม่แตกแล้วนำไปบิดเบือน

“สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของนายธนาธรเกี่ยวกับวัคซีน ในเบื้องต้นศาลได้พิจารณาจากคำฟ้องและหลักฐาน เห็นว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร ฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว จึงขอให้ยุติการเผยแพร่ และแสดงให้เห็นว่าการใช้สิทธิตั้งคำถามของนายธนาธรไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐ ไม่ได้เป็นการใช้กฎหมายมาปิดปาก แต่เป็นเพราะการใช้ สิทธิที่เกินส่วนของนายธนาธร ทำให้ผู้อื่นเสียหาย เป็นการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดผู้อื่น ขอให้ น.ส.พรรณิการ์ทำความเข้าใจและฝึกจิตเคารพคำสั่งศาล” น.ส.ทิพานัน กล่าว

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ส่วนที่กล่าวหาว่าถูกกฎหมายปิดปากในการแสดงความคิดเห็นทั้งที่ตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐนั้น ขอให้ย้อนดูตัวเองว่าเคยใช้กฎหมายฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชนที่ใช้สิทธิโดยสุจริต ในการตรวจสอบความโปร่งใสของการใช้เงินโครงการ MaydayMaydayโดยเรียกร้องให้ประชาชนลบข้อความ ให้หยุดเผยแพร่โดยที่ไม่ได้ฟ้อง และได้รับคำสั่งศาล หรือไม่ ทำไมถึงใช้กฎหมายแบบผูกขาดเข้าข้างเฉพาะกรณีของตัวเองฝ่ายเดียว