“ไพบูลย์” เผย กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ พิจารณาเนื้อหาเสร็จแล้ว รอโหวตบางประเด็น 4 ก.พ. นี้ ยันเดินหน้าไม่ถอนญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากเสียงข้างมากเห็นว่าไม่ควรส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตนก็ไม่ติดใจ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) รัฐสภา กล่าวว่า กมธ.ฯ พิจารณาเนื้อหาทั้งฉบับเสร็จแล้ว และในวันที่ 4 ก.พ. จะพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง รวมถึงการลงมติในประเด็นที่รอพิจารณา ได้แก่ มาตรา 256 ว่าด้วยมติของสมาชิกรัฐสภา ในชั้นรับหลักการ ที่มีผู้สงวนความเห็น ใน 3 ประเด็น คือ ใช้เสียง 3 ใน 5 , ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง และใช้เสียง 2 ใน 3

นอกจากนั้นยังมีประเด็นว่าด้วยการส่งทำประชามติ ในมาตรา 256(8) ตามร่างของส.ส.รัฐบาล ที่ระบุให้นำไปทำประชามติ หากเนื้อหาแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจหน้าที่ศาลหรือองค์กรอิสระหรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้

นายไพบูลย์ กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 9 ก.พ. เพื่อพิจารณาญัตติขอให้รัฐสภามีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 210(2) ของรัฐธรรมนูญ ที่ตนและนายสมชายแสวงการ ส.ว.เป็นผู้เสนอนั้น ว่ายังไม่มีบุคคลใดขอให้ตนถอนญัตติดังกล่าวและเชื่อว่ารัฐสภาจะพิจารณาในรายละเอียดและลงมติตัดสิน

ซึ่งตนไม่ติดใจในผลการลงมติ หากเสียงข้างมากเห็นว่าไม่ควรส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าหากมติรัฐสภาไม่ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้ส.ว. ไม่สบายใจ และส่งผลต่อการลงมติในวาระสองและวาระสามได้

"ผมยืนยันว่าญัตติดังกล่าวไม่มีผลกระทบให้รัฐสภายุติการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การลงมติจะอย่างไร ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของรัฐสภา แต่ผมมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอำนาจที่รัฐสภาต้องดำเนินการ

และการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราของรัฐสภานั้นจะทำให้เวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวดเร็ว ไม่ต้องใช้เวลามากเหมือนกับการให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ดำเนินการ เชื่อว่าจะใช้เวลาเกือบ 2 ปี เพราะหลังจากมีส.ส.ร. ต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องทำประชามติ และเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านแล้วต้องออกกฎหมายลูก ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ จะไม่ทันใช้ในการเลือกตั้งรอบที่จะมาถึงแน่นอน" นายไพบูลย์ กล่าว