ม็อบชาวนากลุ่มใหญ่ จัดขบวนแห่รถแทร็กเตอร์กว่า 50,000 คัน ออกมาแย่งซีนงานวันชาติอินเดีย ประท้วงกฎหมายปฏิรูปเกษตร ยืนยันปักหลักประท้วงจนกว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเรียกร้อง พร้อมอยู่ยาวได้เป็นปี ไม่ได้ ไม่กลับบ้าน!
เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมาเป็นวันชาติของอินเดีย ที่จะมีพิธีฉลอง และขบวนแห่สวนสนามของกองทัพอินเดียอย่างยิ่งใหญ่ ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของงาน เพื่อเป็นการฉลองวันคล้ายวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการในปี 1950 และจัดต่อเนื่องมาทุกปี
แต่เนื่องจากปีนี้ อินเดียยังติดสถานการณ์ Covid-19 จึงทำให้ต้องจัดพิธีฉลองอย่างรวบรัด แต่นอกเหนือจากเหตุผลด้านโรคระบาดแล้ว ยังมีม็อบชาวนากลุ่มใหญ่ ที่จัดขบวนแห่รถแทร็กเตอร์กว่า 50,000 คันออกมาแย่งซีนงานของรัฐบาล และเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางจุดด้วย ทำให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิต 1 ราย โดยทางการอินเดียแถลงว่าเกิดจากอุบัติเหตุรถแทร็กเตอร์คว่ำ แต่กลุ่มผู้ประท้วงกลับยืนยันว่าผู้เสียชีวิตถูกยิง
การประท้วงของม็อบชาวนาในกรุงนิวเดลี เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2020 ยังคงตึงเครียด และถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่และยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งของอินเดีย
ชนวนสาเหตุที่ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ ที่มีผู้ประท้วงมาปักหลักยึดถนนไฮเวย์สายหลักในกรุงนิวเดลีมากกว่าแสนคน เกิดจากร่างกฎหมายปฏิรูปการเกษตรใหม่ถึง 3 ฉบับของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ เพิ่งดันผ่านสภาเมื่อเดือนกันยายน 2020 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายค้านในสภา และจากเกษตรกรอินเดียจำนวนมากทั่วประเทศ
ก่อนที่จะมีร่างกฎหมายปฏิรูปการเกษตรฉบับใหม่นี้ รัฐบาลอินเดียได้จัดระบบการซื้อขายสินค้าเกษตรในตลาดกลาง ที่เรียกว่า Mandi โดยรัฐบาลอินเดียจะเป็นผู้ควบคุมการซื้อขาย มีการประกันราคาผลผลิตขั้นต่ำให้ และบริหารโกดังเก็บผลผลิตเอง ซึ่งเป็นระบบตลาดภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่อินเดียใช้มานานตั้งแต่ปี 1960
แต่ร่างกฎหมายปฏิรูปการเกษตรฉบับใหม่นี้ จะให้อิสระแก่เกษตรกร และผู้บริโภคติดต่อกันได้เองโดยตรง จะขายผลผลิตตรงให้กับซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ได้ ขายเองทางออนไลน์ก็ได้ ราคาแล้วแต่จะตกลง ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงราคากลางในระบบตลาด Mandi อีกต่อไป
ฟังดูแล้วเหมือนจะดี แต่ชาวนาอินเดียกลับมองว่าร่างกฏหมายใหม่จะเข้ามาฆ่าระบบการซื้อขายในตลาด Mandi และเป็นการผลักภาระของรัฐบาลอินเดียไม่ต้องเข้ามาประกันราคาพืชผลให้กับเกษตรกรอีกแล้ว ปล่อยให้ระบบการค้าเสรีเข้ามาทำหน้าที่แทน
นอกจากเปิดระบบการค้าเสรีสินค้าเกษตรทั่วประเทศแล้ว ร่างกฏหมายนี้ยังยกเลิกข้อกำหนดในการสต็อคสินค้าเกษตร นั่นคือใครมีโกดังใหญ่ ทุนหนา จะสต็อคสินค้าเท่าไหร่ก็ได้ และยังสนับสนุนให้นายทุนเข้ามาพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ที่จะบีบให้เกษตรกรอินเดียไม่มีทางเลือก นอกจากปลูกพืชตามใบสั่งของบริษัทใหญ่ และไม่มีระบบประกันราคาที่จะเป็นข้อต่อรองให้กับเกษตรกรในการขายผลผลิตในราคาที่สูงขึ้นได้
และก็เป็นดั่งที่หลายฝ่ายกังวล เพราะตั้งแต่รัฐบาลออกร่างกฏหมายฉบับใหม่มา ราคาผลผลิตการเกษตรก็ตกต่ำลง ที่เป็นผลจากนายทุนเข้าไปกดราคาแลกกับการกว้านซื้อสินค้าล็อตใหญ่ ซึ่งผู้ที่เดือนร้อนก็คือเกษตรกรรายย่อย ที่มีมากถึง 60% ของประชากรทั้งประเทศนั่นเอง
ดังนั้นเกษตรกรชาวอินเดียนับแสน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรัฐปันจาบ และ รัฐหรยาณา ที่นอกจากจะเป็นรัฐของชาวซิกข์แล้ว ยังเป็นรัฐที่มีภาคการเกษตร และระบบตลาด Mandi ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย เดินทางเข้ากรุงนิวเดลี และยึดเอาถนนไฮเวย์สายหลักถึง 5 เส้นทาง ประท้วงให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกร่างกฎหมายใหม่ทั้ง 3 ฉบับทันที ซึ่งการประท้วงปิดถนนเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 จนถึงวันนี้ แถมมีการขนเต้นท์ ที่พัก โรงครัว เผื่อไว้แล้วในกรณีที่จำเป็นต้องอยู่ยาว
โดยชาวนาที่มาประท้วงยืนยันว่าจะปักหลักประท้วงจนกว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเรียกร้องของพวกเขา และพร้อมอยู่ยาวได้เป็นปี ไม่ได้ ไม่กลับบ้าน
และก็เป็นที่มาของขบวนแห่รถแทร็กเตอร์ประท้วงรัฐบาลเต็มท้องถนนในกรุงเดลีหลายหมื่นคันในวันชาติ ที่ขนาดรถถังยังต้องถอย และทำให้การประท้วงของชาวอินเดียเป็นที่จับตามองมากจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ประท้วงส่วนมากเป็นกลุ่มชาวซิกข์ที่มีประชากรมากกว่า 20 ล้านคนในอินเดีย และมีชุมชนที่เข้มแข็งมากในต่างแดน โดยเฉพาะในแคนาดา สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ที่เริ่มออกมาร่วมแสดงจุดยืนประท้วงรัฐบาลอินเดียในร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้แล้วเช่นกัน
และกลายเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สั่นคลอนรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ที่มีจุดยืนในแนวคิดชาตินิยมฮินดู และได้ออกร่างกฎหมายใหม่หลายฉบับที่กลายเป็นประเด็นมากมายในอินเดีย เช่น ร่างกฎหมายพลเมืองใหม่ ที่กีดกันกลุ่มชาวมุสลิมไม่ให้ถือสัญชาติอินเดีย จนเกิดการประท้วงใหญ่ในรัฐอุตรประเทศ และอีกหลายเมืองทั่วประเทศมาแล้ว
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/world-asia-india-54233080
https://indianexpress.com/article/explained/government-farmer-talks-deadlock-explained-7106698/