ออสเตรเลีย อนุมัติใช้วัคซีน ‘ไฟเซอร์ - ไบออนเทค’ นับเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวแรกที่ได้รับอนุมัติการใช้งานในออสเตรเลีย มั่นใจมีมาตรฐานความปลอดภัย โดยแรงงานดูแลสุขภาพและผู้สูงอายุจะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก
องค์การกำกับดูแลสินค้ารักษาโรค (TGA) ของออสเตรเลียอนุมัติการใช้งานชั่วคราวในประเทศแก่วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของไฟเซอร์/ไบออนเทค (Pfizer/BioNtech)
องค์การฯ ประกาศว่าวัคซีนฯ มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และคุณภาพ จึงรับรองให้ใช้งานในผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยนับเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวแรกที่ได้รับอนุมัติการใช้งานในออสเตรเลีย
สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวขณะร่วมงานแถลงข่าวในกรุงแคนเบอร์ราว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือดำรงความปลอดภัยและปกป้องชีวิตชาวออสเตรเลีย” พร้อมเสริมว่า “การอนุมัติครั้งนี้เป็นอีกก้าวยิ่งใหญ่ เพื่อปกป้องกลุ่มบุคคลที่เปราะบางที่สุด” โดยชาวออสเตรเลียจะได้รับวัคซีนฯ คนละ 2 โดส ห่างกันอย่างน้อย 21 วัน
รัฐบาลวางแผนเริ่มฉีดวัคซีนช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งช้ากว่าที่กำหนดไว้ก่อนหน้าว่าจะเริ่มช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากความล่าช้าในการผลิตและจัดส่ง โดยแรงงานดูแลสุขภาพและผู้สูงอายุจะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก
ออสเตรเลียจะแบ่งการฉีดวัคซีนออกเป็น 5 ระยะในช่วง 2 - 3 เดือนข้างหน้า พร้อมทั้งจะจัดตั้งสถานที่ฉีดวัคซีนมากกว่า 1,000 แห่ง
ด้านเกร็ก ฮันต์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การฯ “ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเหนือสิ่งอื่นใด” ระหว่างกระบวนการอนุมัติ โดย “การอนุมัติครั้งนี้และการเปิดตัววัคซีนที่กำลังจะมาถึงจะมีส่วนสำคัญในการจัดการกับโรคระบาดใหญ่ในปี 2021”
ทั้งนี้ รัฐบาลออสเตรเลียสั่งซื้อวัคซีนของไฟเซอร์ จำนวน 10 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอต่อประชาการ 5 ล้านคน โดยรวมวัคซีนมากกว่า 53 ล้านโดสที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ซึ่งจำเป็นต้องผ่านการประเมินและอนุมัติจากองค์การฯ ก่อน
ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงฯ ระบุว่าออสเตรเลียมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสม 28,766 ราย ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวอยู่ 130 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิต 909 ราย เมื่อนับถึงบ่ายวันอาทิตย์ (24 ม.ค.) โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ถูกตรวจพบที่สถานดูแลผู้สูงอายุในรัฐวิกตอเรียระหว่างการติดเชื้อระลอกสองของรัฐ
แม้ออสเตรเลียจะประสบความสำเร็จในการป้องกันการระบาดใหญ่ แต่พอล เคลลี หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ ชี้ว่าชาวออสเตรเลียยังจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับไวรัสตัวนี้
“เราจะควบคุมไวรัสให้ได้มากขึ้นกว่าปีก่อน แต่เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมัน เพราะผมไม่คิดว่ามันจะถูกกำจัดจนหมดสิ้นในเร็ววันนี้” เคลลีให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อไม่นานนี้