ครม. เคาะปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ก.พ.–มี.ค. 64) โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือ 0.5% ของค่าจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จากเดิมอัตรา 278 บาทต่อเดือน ให้เหลืออัตรา 38 บาทต่อเดือน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนก.พ. – มี.ค. 2564 โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือ 0.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน จากเดิม 3% ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือ 75 บาทต่อเดือน สำหรับฝ่ายนายจ้างให้คงอัตราเดิมโดยส่งเงินสมทบ 3% ของค่าจ้างผู้ประกันตน รัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม 2.75% ของค่าจ้างผู้ประกันตน
สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จากเดิมอัตรา 278 บาทต่อเดือนให้เหลืออัตรา 38 บาทต่อเดือน ซึ่งจะทำให้นายจ้าง 486,192 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,387 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้จ่ายเสริมสภาพคล่อง เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง มีนาคม 2564 จำนวน 23,119 ล้านบาท ลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้น
นายอนุชา กล่าวว่า การลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนในครั้งนี้ ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลงจำนวน 7,166 ล้านบาท และหากรวมกับการลดอัตราเงินสมทบครั้งที่หนึ่งตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 ครั้งที่สองตั้งแต่เดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2563 และการลดอัตราเงินสมทบปัจจุบันตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564 เงินสมทบทั้งหมดรวมกัน 9 เดือนจะลดลงประมาณ 68,669 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีผู้ประกันตน ม.33 ได้รับผลกระทบหนัก ทางพรรคก้าวไกล ก็เตรียมเชือด ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน’ กลางเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฐานละเลยแรงงานอยู่
โดยนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเเรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะปีกเเรงงาน พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีเครือข่ายสิทธิแรงงานเพื่อประชาชนและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่อยู่ในระบบของประกันสังคม รวมตัวกันไปเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล ให้เยียวยาผู้ใช้เเรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ อย่างถ้วนหน้า เสมอภาคและเท่าเทียมกันบริเวณ หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันนี้ ( 26 มค. 64 )
นายสุเทพ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นคือการเรียกร้องของผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคมที่ถูกตัดออกจากการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยามาตั้งเเต่การระบาดของโควิดในรอบแรก เนื่องจากรัฐบาลอ้างว่า ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ไปใช้เงินสะสมในส่วนของประกันสังคม ซึ่งสำนักงานประกันสังคม มีระเบียบเเละเงื่อนไขในการรับเงินเยียวยาหรือเงินกรณีที่เกิดวิกฤติโควิดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของผู้ประกันตน
ได้ระบุไว้ว่า การเยียวยาในรอบเเรกที่รัฐให้เงินเยียวยาเดือนละ 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน คือ 7,000 บาทนั้น รัฐเยียวยาไปทั้งหมดเพียง 31 ล้านคน แต่ยังมีการตกหล่นเเละได้อย่างไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะพี่น้องผู้ใช้เเรงงานในระบบประกันสังคมในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างในธุรกิจหน่วยงานทุกภาคส่วนที่มีมากถึง 11 ล้านคน รวมไปถึงเเรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบประกันสังคมประมาณ 1.5 ล้านคน ยังไม่ได้รับการเยียวยาเลย
ในฐานะที่ตนเป็นประธานกรรมาธิการการเเรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้ทางคณะกรรมาธิการได้ส่งเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( ศบค. ) เพื่อให้มีการพิจารณาให้ผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม 11 ล้านคน ได้รับการเยียวยาด้วย และเรื่องนี้จะเข้าสู่การหารือเป็นวาระเร่งด่วนของคณะกรรมาธิการการเเรงงานในวันที่ 27 ม.ค. ในส่วนของปีกเเรงงานของพรรคก้าวไกล ขณะนี้ได้จัดประชุมเครือข่ายเเรงงานในทุกภาคส่วน เพื่อรับฟังปัญหาและนำปัญหาเหล่านี้เข้าสู่การแก้ไข รวมถึงจะนำไปใช้เป็นประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในกลางเดือนกุมพาพันธ์
“ขอฝากไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงาน จากการที่เคยหารือไปหลายครั้งให้นำเรื่องมาตรการเยียวยาแรงงานในระบบให้เท่าเทียมกับประชาชนทั่วไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายสุชาติ อ้างว่า การดำเนินการในส่วนของตนเป็นการช่วยเหลือผู้ใช้เเรงงานอยู่เเล้ว เช่น เรื่องของการลดเงินสมทบประกันสังคมหรือเงื่อนไขการได้รับชดเชยในกรณีว่างงาน
เเต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ใช้แรงานในระบบ 11 ล้านคน จะต้องตกหล่นจากการรับการเยียวยาเหมือนประชาชนคนอื่นๆ เพราะในข้อเท็จจริงยังมีผู้ประกันตนในระบบมีรายได้ลดลงมากแต่ก็ต้องทำเพื่อรักษางานไว้ จึงอยากให้นายสุชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สะท้อนปัญหาดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด เป็นรูปธรรมเเละเยียวยาประชาชนได้อย่างทั่วถึง”
ขณะที่ วรรณวิภา กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกันตน มาตรา 33 เป็นกลุ่มเดียวที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากรอบเเรกของภาครัฐ ซึ่งการบริหารของรัฐรอบแรกต่อกรณีนี้ทำให้เงินประกันสังคมไหลออกอย่างมหาศาล ซึ่งเงินเหล่านี้เป็นเงินสะสมของลูกจ้างเเละนายจ้างเพื่อไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน 7 อย่าง ตามประกาศเเละระเบียบของประกันสังคม
อาทิ รักษาพยาบาล ชราภาพ คลอดบุตร และว่างงาน แต่ตอนนี้ได้ถูกนำเงินส่วนนี้ออกมาใช้เพื่อเยียวยาแทนรัฐบาล เเละในปัจจุบันผู้ประกันตนในส่วนนี้ลดน้อยลง ทำให้เงินในกองทุนลดลง สวนทางกับความต้องการของคนที่ใช้เงินจากกองทุนนี้มากขึ้น ซึ่งการบริหารเช่นนี้ไม่เป็นผลดีกับกองทุนประกันสังคมในอนาคต เมื่อมีการเยียวยารอบ 2 คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับการประกาศเยียวยาจากภาครัฐอีก นวันนี้จึงมีที่ผู้ประกันตนออกมาเรียกร้องสิทธิของเขา
“ทำไมรัฐไม่เยียวยา ตกหล่น และเป็นเหตุให้ต้องนำเงินของเขาที่สะสมไว้ในอนาคตมาใช้ ทั้งที่รัฐควรจะต้องเยียวยาอย่างทั่วหน้า เเละให้เงินเยียวยาเป็นเงินสดเหมือนรอบแรก แรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ควรจะต้องได้รับการดูแลเหมือนประชาชนทุกคนที่ได้รับสิทธิดังกล่าว รวมไปถึงสิทธิต่างๆที่จะได้รับจากรัฐในการเยียวยาอย่างถ้วนหน้า เเละเท่าเทียม” วรรณวิภา กล่าว