เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางสภาคองเกรซสหรัฐเพิ่งลงมติอนุมัติเงินเยียวยากู้วิกฤติ Covid-19 รอบล่าสุดเพิ่มอีก 9 แสนล้านเหรียญ หรือประมาณ 27 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากพิษ Covid-19 ที่ทำเศรษฐกิจตกต่ำ เจ็บยาวกันข้ามปีไปจนถึงปีหน้า

ซึ่งงบช่วยเหลือล่าสุดของสหรัฐก้อนนี้ จะเป็นเงินสดช่วยเหลือค่าครองชีพให้ชาวสหรัฐคนละ 600 เหรียญ + เงินช่วยเหลือแรงงานที่ว่างงานอีกสัปดาห์ละ 300 เหรียญ เป็นระยะเวลา 11 สัปดาห์

และยังอัดฉีดกองทุนสนับสนุนภาคธุรกิจขนาดเล็ก ที่เรียกว่า Paycheck Protection Program ที่สนับสนุนเงินกู้ให้กับ SME ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 รวมถึงเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้เช่าบ้านที่กำลังจะถูกไล่ที่เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าอีกด้วย

หากรวมกับเงินเยียวยา Covid-19 ที่รัฐบาลสหรัฐได้อนุมัติงบออกมาก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนมีนาคม ภายใต้โปรเจค CARES Act และเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาวัคซีน Covid-19 อื่นๆอีก เท่ากับว่าในปีนี้สหรัฐได้อนุมัติงบประมาณเยียวยา Covid-19 ไปแล้วเกือบ 4 ล้านล้านเหรียญ!!!

งบประมาณก้อนนี้ใหญ่ขนาดไหน?

นิตยสาร Time ได้สรุปว่า งบประมาณก้อนใหญ่นี้ เทียบได้กับมูลค่าทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปีของบราซิล ออสเตรเลีย และ เม็กซิโก รวมกัน และมากกว่า Recovery Act 2009 กองทุนฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ของสหรัฐ ที่เป็นผลพวงของวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ถึง 4 เท่า

แต่ถึงจะเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ครอบคลุมเงินช่วยเหลือชาวสหรัฐหลายล้านคนทั่วประเทศขนาดนี้ แต่โดนัลด์ ทรัมพ์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ณ เวลานี้ กลับขู่ว่าเขาจะไม่ยอมเซ็น

เพราะงบก้อนใหญ่เกินไปหรือ?

เปล่า ไม่ใช่! แต่ทรัมพ์บอกว่า ควรได้งบก้อนใหญ่กว่านี้อีก และคนอเมริกันควรได้รับเช็คกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 2,000 เหรียญ ไม่ใช่แค่ 600 เงินไม่พอครับ กลับไปประชุมกันใหม่!

หากมองว่าสหรัฐอัดฉีดงบประมาณอย่างโหด เหมือนโกรธใครมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจขาลงในช่วง Covid-19 แต่หากเทียบกับศักยภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแล้ว เงินเยียวยาทั้งหมดที่ทุ่มลงมาให้ตั้งแต่ต้นปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของ GDP ใน 1 ปีของสหรัฐ

และหากมองเทียบในแง่มุมนี้ จะพบว่ามีหลายประเทศที่ยอมทุ่มงบประมาณมหาศาลยิ่งกว่าสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีแรงพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้ผ่านพ้นจากยุค Covid-19 ไปให้ได้

ประเทศที่นำโด่งออกมาเป็นที่ 1 ในตอนนี้คือญี่ปุ่น ที่เพิ่งอนุมัติงบประมาณเพิ่มอีกกว่า 7 แสนล้านเหรียญเพื่อสกัดการระบาดระลอกใหม่ของ Covid-19 ในประเทศ ไม่รวมกับงบที่เพิ่งอนุมัติไปแล้วก่อนหน้านี้กว่า 2.2 ล้านล้านเหรียญเมื่อตอนต้นปี ทำให้ญี่ปุ่นอนุมัติงบเยียวยา Covid-19 ไปแล้วไม่น้อยกว่า 42% ของ GDP

ประเทศสโลเวเนียมาเป็นอันดับ 2 ที่เจียดงบแล้ว กว่า 24.5% ของ GDP ในประเทศในการเยียวยาแก้ปัญหา Covid-19 ที่แจกเงินช่วยเหลือทั้งผู้เกษียณอายุ เงินช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา คนว่างงาน ครอบครัวที่มีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ปล่อยเงินกู้เพิ่มให้ภาคธุรกิจและอื่น ๆ

ส่วนประเทศอื่นในยุโรป ทั้งสวีเดน ฟินแลนด์ และเยอรมัน ต่างควักทุนเยียวยา Covid-19 กันเกิน 20% ของ GDP ไปแล้วทั้งสิ้น

สหรัฐเพิ่งตามมาที่อันดับ 6 ด้วยมูลค่า 18.3% ของ GDP

มิน่า ที่โดนัลด์ ทรัมพ์ ของเราจะไม่ปลื้ม ด้วยนโยบาย America First ที่ต้องเป็นที่ 1 ทุกเรื่อง

ศาตราจารย์ Ceyhun Elgin อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ให้ความเห็นว่า ปริมาณของเม็ดเงินเยียวยา Covid-19 นั้นอาจไม่สำคัญเท่ากับเนื้อหาว่า จะบริหารจัดการงบประมาณอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตรงจุดที่สุด เพราะจำนวนงบประมาณไม่ได้การันตีว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลหรือไม่

โดยศาตราจารย์ Elgin เสริมว่าสาระสำคัญอยู่ที่การเข้าถึงตลาดภาคแรงงานให้อยู่รอด ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย ที่มีความแตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องท้าทายของผู้ที่กำหนดนโยบายในการใช้เงินเยียวยาก้อนโตเพื่อปั๊มหัวใจกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้

ส่วนประเทศไทยก็ออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากพิษ Covid-19 ด้วยงบประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 10% ของ GDP ที่มีแผนช่วยเหลือออกมาหลากหลายรูปแบบ ทั้งจ่ายเงินช่วยเหลือแรงงาน 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน มาตรการลดหย่อนภาษี ชิมชอปใช้ เราเที่ยวด้วยกัน หรือล่าสุด โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น


แหล่งข่าว

https://time.com/5923840/us-pandemic-relief-bill-december/

https://www.aljazeera.com/economy/2020/12/8/japan-announces-708-bn-in-fresh-stimulus-as-covid-cases-rise

https://news.yahoo.com/trump-calls-900-billion-covid-155505344.html

https://seenews.com/news/slovenian-govt-adopts-seventh-anti-coronavirus-economic-stimulus-package-725657

https://www.channelnewsasia.com/news/asia/thailand-passes-record-stimulus-package-to-combat-covid-19-12789232


เครดิต : หรรสาระ By Jeans Aroonrat