หัวหน้าพรรคก้าวไกล 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ' จัดหนักแถลงการณ์ นายกรัฐมนตรี รายประเด็น ชี้ควรปรับทัศนคติดด่วน เลิกโทษคนอื่น ระบุโควิดรอบใหม่มาจากรัฐหละหลวม จี้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่มีเอี่ยวขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติหรือไม่
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นภายหลังการแถลงข่าวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาโดยระบุว่า ข่วงหนึ่งของการแถลงเมื่อวานนี้ มีประโยคที่ว่า “เพียงคนไม่กี่คนที่ละเลยความรับผิดชอบต่อสังคม และมีพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัว จะสร้างปัญหาให้คนเป็นล้าน ๆ ได้” แสดงถึงทัศนคติของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่โทษคนอื่นยกเว้นตนเองและรัฐบาล
อย่างที่เคยเป็นมาหลายครั้งแล้วนั้น ตนจำเป็นต้องออกมาสื่อสารเพื่อขอให้ท่านทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกใหม่ มีต้นเหตุมาจากความหละหลวม และการปล่อยปละละเลย การลักลอบเข้าประเทศของแรงงานต่างชาติ และความด้อยประสิทธิภาพในการจัดการกับแรงงานต่างชาติ ที่ยังคงอยู่ในประเทศไทย หลังจากที่ถูกเลิกจ้าง หรือสถานประกอบการปิดตัวไป
ในประเด็นแรก เรื่องการลักลอบเข้าประเทศของแรงงานต่างชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ควรไปโทษผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสาคร แต่ถ้าท่านนายกเปิดใจสืบสวนข้อมูลในเชิงรุก ก็จะทราบว่ามีข้อสงสัยที่เชื่อได้ว่ามีขบวนการในการลักลอบพาแรงงานต่างชาติเข้าประเทศตามช่องทางธรรมชาติ อย่างผิดกฎหมาย โดยมีเรื่องพัวพันกับการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนด้วย ซึ่งประเด็นข้อสงสัยนี้ ลำพังเพียงการปฏิเสธสั้น ๆ จากกองทัพ ไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจได้
ดังนั้น ในข้อครหานี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน และหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนใด ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือพลเรือน เข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ หรือการลักลอบพาแรงงานต่างชาติเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย
รัฐบาลก็ควรต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยไม่มีข้อยกเว้น ต้องยอมรับว่า การปฏิเสธสั้นๆ แบบกำปั้นทุบดินว่า “ไม่มีการรับสินบนใด ๆ เลย ในกรณีการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย” นั้น ไม่อาจทำให้ประชาชนเชื่อได้
ประเด็นที่สอง หลังจากที่โควิด-19 ระบาดในระลอกแรก ทำให้มีแรงงานต่างชาติจำนวนมากทั้งที่ถูกกฎหมาย และที่ผิดกฎหมาย อยู่ในสภาวะว่างงานจากการปิดตัวลงของสถานประกอบการ แรงงานต่างชาติต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ และอยู่ปะปนกันภายในจังหวัด
โดยไม่มีมาตรการด้านสาธารณสุขใด ๆ ดูแล หากเจ็บป่วย ก็ต้องซื้อยารับประทานเอง ไม่สามารถเข้าไปรับการตรวจรักษาโรคได้ ที่แย่ที่สุดก็คือ แรงงานต่างชาติที่เป็นแรงงานถูกกฎหมาย เมื่อสถานประกอบการปิดตัวลง หลายคนไม่ได้รับเอกสารการเลิกจ้างจากนายจ้าง ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถลงทะเบียนใหม่ได้ ทำให้จากเดิมที่เป็นแรงงานต่างชาติถูกกฎหมาย ก็ต้องกลายสภาพเป็นแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายไปโดยปริยาย ปัญหาการระบาดของโรคที่อาจะเกิดขึ้นจากแรงานต่างชาติ ก็มีหลายภาคส่วนส่งสัญญาณเตือนไปยังรัฐบาลตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมาแล้ว หลังจากที่ประเทศสิงคโปร์ เกิดการระบาดของโควิด-19 ในหอพักแรงงานต่างชาติ
แต่ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มิได้นำพา ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลนี้ ควรเร่งดำเนินการควบคู่ไปกับการล็อคดาวน์ในจุดเสี่ยงต่าง ๆ ก็คือ การบริหารจัดการแรงงานต่างชาติที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ ที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่าง ๆ โดยเปิดให้มีการลงทะเบียน และดำเนินมาตรการคัดกรองโรค กักกันโรค และดำเนินการตามมาตรการทางสาธารณสุขต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนด้วย ถ้ารัฐบาลยังคงซุกปัญหานี้เอาไว้ใต้พรม การควบคุมการระบาดของโรค ก็จะไม่มีทางได้ผลอย่างเต็มประสิทธิภาพเลย
ประการสุดท้าย ต้องยอมรับว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาลที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาอย่างยาวนานมาก โดยเหตุผลที่ใช้อ้างก็คือ เพื่อการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กลับไม่ได้มีการวางระบบที่เป็นรูปธรรมในการควบคุมการระบาดของโรคเลย อย่างในกรณีของสถานกักกันโรคโดยองค์กร (Organizational Quarantine) เพื่อเอาไว้ใช้ในการกักกันโรคของแรงงานต่างชาติ ที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ก็มีความล่าช้าอย่างมาก ที่สำคัญค่าใช้จ่ายในการคัดกรองโรค และกักกันโรค ของแรงงานต่างชาติ ในปัจจุบันก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากราว 20,000 บาทขึ้นไป
ด้วยระดับค่าใช้จ่ายที่สูงขนาดนี้ จึงเอื้อให้เจ้าหน้าที่บางราย ใช้เป็นช่องทางในการเรียกรับผลประโยชน์กับผู้ประกอบการ หรือแรงงานต่างชาติ เพื่อแลกกับการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ รัฐบาลควรเร่งดำเนินการจัดให้มีสถานกักกันโรคในพื้นที่ระดับจังหวัด (Local Quarantine) และสถานกักกันโรคโดยองค์กร (Organizational Quarantine) อย่างเพียงพอ และเร่งด่วน รวมทั้งการพยายามดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการกักกันโรคลง เพื่อให้มาตรการการกักกันโรคของแรงานต่างชาติ ที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งในส่วนของแรงงานประมง แรงงานภาคบริการ แรงงานภาคเกษตร มีเรายังคงมีความจำเป็นในการใช้แรงงานต่างชาติ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้รับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ที่ประชาชนไว้ใจได้
สุดท้ายนี้ สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเร่งปรับเปลี่ยน ก็คือ ทัศนคติของตัวเอง ที่ในทุก ๆ ครั้งที่ปัญหาเกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ มักจะโทษปัญหาทั้งหมดไปที่ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และผลักความรับผิดชอบไปที่ประชาชน แทนที่จะมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐ ซึ่งรัฐต้องเร่งวางระบบ วางมาตรการ และสร้างกลไกที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ กรณีสนามมวยลุมพินี คณะ VIP ทั้งกรณีลูกทูต และทหารอียิปต์ กรณีการลักลอบเข้าประเทศของคนไทยที่ไปทำงานที่โรงแรม 1G1 ฝั่งท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน จนมาถึงกรณีแพปลา จ.สมุทรสาคร สะท้อนว่ารัฐบาลไม่เคยที่จะเรียนรู้ และดำเนินการวางระบบในการควบคุมการระบาดของโรคอย่างเป็นรูปธรรมเลย พอมีปัญหาที ก็โทษประชาชน แล้วปลูกผักชีโรยหน้า แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นคราวๆ ไป
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องเรียกร้อง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งปรับทัศนคติของตนเองอย่างเร่งด่วน เลิกโทษประชาชน เลิกผลักความรับผิดชอบไปที่ประชาชน แล้วให้หันมามองตัวเอง เร่งถอดบทเรียนที่เกิดขึ้น เลิกซุกปัญหาไว้ใต้พรม การขึ้นเสียง ทำท่าขึงขังแบบเผด็จการแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วหันมาวางระบบในกาแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้แล้ว