ย้อนมองอดีตเส้นทางชีวิต ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ จากอดีตผู้บริหารไทยซัมมิท สู่อดีตหัวหน้า 'อนาคตใหม่' และเงาแห่งผู้บัญชาการทัพม็อบล้มตู่

โดยพรรคการเมืองเลือดใหม่นี้ถูกจุดขึ้นจากอุดมการณ์ของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" อดีตผู้บริการเครือไทยซัมมิท ที่ต้องการเปลี่ยนหน้าการเมืองไทยให้สะเทือน

หากมองย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของ ‘ธนาธร’ ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่เกมการเมืองอย่างเต็มตัวในปี 2561 เขาคือรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มไทยซัมมิท ธุรกิจของครอบครัว ตั้งแต่ปี 2545 เป็นเวลาร่วม 16 ปี ซึ่งเรียกได้ว่าบริษัทผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ

เจาะลึกถึงขุมทรัพย์ ‘ไทยซัมมิท’ ของครอบครัว ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ ที่ปัจจุบันมี สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ แม่ของธนาธร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

หลังจากพ่อของธนาธร หรือนายพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ เสียชีวิต ธนาธร จึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงช่วยแม่บริหารธุรกิจ พร้อมน้อง ๆ อีก 3 คนถือหุ้นที่เหลือและร่วมบริหาร ด้วยประสบการณ์การบริหาร ความไว้วางใจกับคู่ค้า และอีกหลายๆ เหตุผลทำให้ไทยซัมมิท สามารถทำรายได้เติบโตต่อเนื่อง จากหลักพันล้าน สู่หมื่นล้าน และหลายหมื่นล้าน​ (80,000 ล้านบาท)​ อย่างในปัจจุบัน

มีธุรกิจในเครือข่ายทั้งอดีตและปัจจุบันราว 102 บริษัท โดยบริษัทที่ 'ธนาธร' เคยเป็นกรรมการมีอยู่ประมาณ 60 บริษัท และในจำนวนนี้ ตามข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่ามีบริษัทที่ยังดำเนินการอยู่ราว 25 บริษัท

นอกเหนือจากธุรกิจใจครอบครัว ธนาธร ยังเคยนั่งตำแหน่งกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเครือญาติเข้าไปถือหุ้นในบริษัทมติชน ตั้งแต่ปี 2556 ต่อมา 14 มี.ค.2561 มติชนแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ธนาธร ได้ลาออกจากตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อย

อีกหนึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องและเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือ การถือ "หุ้นวี - ลัค" หรือหุ้นบริษัท วี - ลัค มีเดีย จำกัด (มหาชน) ของธนาธร ที่เข้าข่าย เข้าข่ายเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นในธุรกิจสื่อ

ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาว่าสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เนื่องจากถือหุ้นสื่อ บริษัทวี - ลัค

แม้ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการบริหารธุรกิจครอบครัวเพื่อความมั่งคั่งจะยังไปได้สวย แต่ตลอดระยะเวลาที่นั่งตำแหน่งบริหารธุรกิจ 'ธนาธร' ยังคงตั้งเป้าเดินตามอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง ที่เป็นเรื่องที่สนใจตั้งแต่สมัยเรียน และอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในการเมืองไทย

ทำให้ ธนาธร ขอพ้นจากทุกตำแหน่งในบริษัทเครือไทยซัมมิท ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา เพื่อลุยการเมืองเต็มตัวภายใต้ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อย่างเป็นทางการ

แน่นอนว่า เส้นทางนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หรืออาจจะไม่มีกลีบกุหลาบในเส้นทางการเมือง เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธนาธร ยังคงต้องรับมือกับจุดเปลี่ยนผ่านที่คาบเกี่ยวระหว่างการเป็น ‘นักธุรกิจ’ สู่ ‘นักการเมือง’ อย่างเต็มตัว ที่ต้องรุกไปให้ถึงเป้าหมายที่ตัวเองและพรรคอนาคตใหม่วางเอาไว้ และต้องตั้งรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิดด้วยเช่นกัน

หนึ่งในนั้นคือวันศุกร์ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ โดยมีคำวินิจฉัยขององค์คณะตุลาการ ได้มีมติสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 ในคดีกู้เงิน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191.2 ล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญและ เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหาร และ ห้ามจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ เป็นเวลา 10 ปี ตามมาตรา 94

หลังจากสิ้นสุดสถานะการเป็นพรรคการเมืองของอนาคตใหม่​ ก็เกิดเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า​ 'ก้าวไกล'​ ขึ้นมาทดแทน

จากวันนั้นประเทศไทย​ ก็เริ่มเข้าสู่บรรยากาศแห่งการแตกแยกอีกครั้ง​ และเกิดกลุ่มม็อบหลากคอนเซ็ปต์​ ทั้งคณะราฎร​ ปลดแอก​ และอีกมากมาย​ ที่เดินตามแนวทางของ​ ธนาธร

เป้าหมายชัด​ ไม่ใช่แค่ซัดรัฐบาลหรือลุงตู่​ให้ร่วง​ ผ่านพลังของคนรุ่นใหม่ แต่ดูจะเหนือกว่านั้น​ จนวันนี้ไม่แน่ใจว่าเขาจะหาทางลงที่สวยงามได้​รึเปล่า​ ในสถานการณ์ที่ดูเหมือน

เป็นรองลงไปทุกวัน...