ชุดนักเรียน...กับที่มาของแต่ละประเทศ

คอลัมน์ "ข้างครัวริมแม่น้ำบริสเบน"

หลายวันมานี้ แว่วหูมากับข้อเรียกร้องของผู้ไม่จำนนต่อกฎระเบียบว่า....

“หนูจะไม่ยอมใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียนอีกแล้ว” คำถามที่ตามมา คือ แล้วหนูจะใส่ชุดอะไรไปเรียนคะ ?

ราตรีสั้น ราตรียาว บิกินี่ หรือ กิโมโนดี ? เอาเวลาคิดว่าจะใส่อะไรไปโรงเรียน ไปทำการบ้านให้เสร็จทันส่งครูดีกว่าไหม ?

ยกตัวอย่างง่าย ๆ วันนี้มีชั่วโมงพละศึกษา นักเรียนทุกคนต้องลงสนามเล่นบาสเกตบอล ทุกคนอยู่ในชุดพละศึกษา แต่ถ้าหนูจะมาในชุดราตรียาว หนูจะวิ่งไล่ลูกบาสยังไง?

ไอ้ที่ร่ายยาวมาก็แค่เกริ่นขำ ๆ เรามาดูประวัติชุดนักเรียนในแต่ละประเทศกันดีกว่า

ประเทศอังกฤษ เป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎให้นักเรียนต้องสวมเครื่องแบบ บันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุในช่วงปีค.ศ.1222 สัญลักษณ์โรงเรียนและรูปแบบบางอย่างถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายที่นี่ซึ่งทำให้นักเรียนแตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในอังกฤษเครื่องแบบยังเป็นแหล่งแห่งความภาคภูมิใจ แจ็คเก็ต กางเกงขายาว เนคไท และแม้แต่ถุงเท้าไม่ควรเบี่ยงเบนไปจากประเพณีที่กำหนดไว้ นี่ไม่ใช่แค่การละเมิด แต่ยังเป็นการดูหมิ่นสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะ

ประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่ 3 เดือนมกราคม ปีค.ศ.1996 ประธานาธิบดี บิลล์ คลินตั้น กล่าวกับสภาคองเกรสว่า "If it means that teenagers will stop killing each other over designer jackets, then our public schools should be able to require their students to wear school uniforms." จากนั้น กระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกาก็ออกคู่มือพิเศษเกี่ยวกับชุดนักเรียนซึ่งระบุถึงประโยชน์ของเครื่องแบบ อธิบายถึงการทดลองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแนะนำแบบฟอร์มในบางโรงเรียน ซึ่งผลจากนโยบายยังทำให้การก่ออาชญากรรมในโรงเรียนน้อยลงและวินัยทางการศึกษาทั่วไปก็ดีขึ้น

ในประเทศไทยการแต่งกายด้วยชุดนักเรียนมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2428 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อทำสยามให้ทันสมัยทัดเทียมชาติตะวันตก โดยกำหนดให้เครื่องแบบนักเรียนต้องมีหมวกฟาง เสื้อราชปะแตนสีขาว กางเกงขาสั้น และรองเท้าสีดำ

ประเทศญี่ปุ่น การปลูกฝังเรื่องเครื่องแบบนักเรียนมีขึ้นในช่วงยุคปฏิวัติเมจิ (ในช่วงปี ค.ศ.1868 - 1912) ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นพยายามพัฒนาทั้งชาติด้วยการศึกษา ยุคนี้เป็นช่วงหนึ่งของยุคลัทธิจักรวรรดินิยมแบบนานาชาติ ไอเดียการใส่เครื่องแบบนั้นได้รับความนิยมในญี่ปุ่นอย่างมากเนื่องจากในหลายพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น ประชาชนยังพยายามถีบตัวเองจากสถานะความเป็นไพร่พล ด้วยเหตุนี้เองเครื่องแบบนักเรียนจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรับผิดชอบและความทันสมัยของเยาวชนในช่วงยุคเมจิ แล้วก็เพราะเหตุนี้เอง เครื่องแบบนักเรียนในยุคแรกของญี่ปุ่น จึงเป็นการสะท้อนภาพความฝันและความหวังของผู้ปกครองด้วย

ชุดนักเรียน นักศึกษา คือ ความภาคภูมิใจของผู้มีการศึกษาในอังกฤษ คือการลดปัญหาความรุนแรงในอเมริกา คือการประกาศก้าวว่าเราทันสมัยทัดเทียมต่างชาติในไทย คือความหวังความฝันของผู้ปกครองในญี่ปุ่น เครื่องแบบธรรมดาที่ทุกคนสวมใส่เหมือนกัน ยังบ่งบอกถึงความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน บ่งบอกถึงวัยแห่งความฝัน ฉะนั้น เมื่อยังมีโอกาสสวมใส่มัน ก็จงสวมใส่อย่างภาคภูมิใจเสีย อย่ารอให้หน้าแก่หนังเหี่ยวแล้วคิดจะมาใส่ เพราะถึงเวลานั้นมันไม่ใช่วัย เดี๋ยวจะหาว่าป้าไม่เตือน

ในออสเตรเลียก็เช่นกัน โรงเรียนแห่งหนึ่งมีเด็กเพิ่งกลับจากเที่ยวต่างประเทศย้อมผมและตัดผมแฟชั่น โรงเรียนไม่ให้เข้าเรียนจนกว่าจะทำผมให้กลับเป็นเหมือนเดิม แม้จะมีการถกเถียงเรื่องการใส่ชุดนักเรียนและระเบียบวินัยต่างๆในโรงเรียน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ออสเตรเลียก็ยังคงกฏระเบียบชุดนักเรียนไว้ตามเดิม เพราะนอกจากจะความเป็นระเบียบวินัยแล้ว ยังช่วยลดความรุนแรงในสังคม "เมื่อพวกเขาสวมใส่ชุดนักเรียน นั่นบ่งบอกว่าเขามีชื่อเสียงของโรงเรียนอยู่กับตัวเขา จะทำอะไรก็ต้องคิดถึงโรงเรียน รวมถึงเมื่อมีใครสักคนของเราโดนรังแก เราก็สามารถรู้ได้ทันทีและเข้าช่วยเหลือได้ทัน" เจ้าหน้าที่โรงเรียนแห่งหนึ่งได้กล่าวไว้

แหล่งข้อมูล

https://www.carondeleths.org/resources/uniforms/

https://taleb.com.au/cumberland-high-school-uniform-shop/


แพร

อดีตผู้ประกาศข่าว สำนักริมแม่น้ำเจ้าพระยา  ชีวิตดิ้นรนมาเป็นเชฟในเมืองบริสเบน  รัฐควีแลนด์ประเทศออสเตรเลีย  สรรหามุมมองเรื่องเล่าจากดินแดนดาวน์อันเดอร์ มาให้อ่านกันบ่อยๆ