"คนละครึ่ง" งานดี!! ดัน "ดัชนี" ดีดตัว

นาทีนี้ "โครงการคนละครึ่ง" กลายเป็นพระเอกสร้างชื่อให้กับรัฐบาล สร้างผลงานดี จนส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยกันมาก หมุนวนจนระบบเศรษฐกิจเริ่มขยับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า "แต้มบุญของโครงการคนละครึ่ง ทำให้เกษตรกรได้หายใจหายคอกันบ้าง เนื่องจากโครงการนี้มีส่วนช่วยกระตุ้นราคาพืชผลทางการเกษตรดีขึ้นหลายรายการ โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมันและปศุสัตว์ สร้างกำลังซื้อในหลายจังหวัดให้ดีดตัวขึ้นไปตาม ๆ กัน"

แรงบวกของโครงการดังกล่าวสะท้อนไปสู่ตัวชี้วัดด้านต่าง ๆ ของประเทศที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค" เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 ที่สำรวจจากประชาชน 2,241 คน ทั่วประเทศ ซึ่ง "ดีดตัว" ขึ้นทุกรายการเป็นเดือนที่ 2 และถือเป็นการดีดตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2563 เป็นสัญญาณดีที่เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง

ธนวรรธน์ กล่าวถึงดัชนี้ในส่วนอื่น ๆ อีกว่า…

- ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมก่อนหน้า คือ 43.9 ดีดขึ้นเป็น 45.6 ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2563

- ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานก่อนหน้านี้อยู่ที่ 49.0 เพิ่มขึ้นเป็น 50.0

- ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตจาก 59.9 ดีดมาอยู่ที่ 61.6 ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนมาถึง "ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค" ที่เคยอยู่ที่ 50.9 ดีดตัวเพิ่มขึ้นมาที่ 52.4

- คิดเป็นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัจจุบันจาก 35.1 ขึ้นมาอยู่ที่ 36.3

- และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตจาก 58.5 ขึ้นมาที่ 60.1

ถึงกระนั้น ก็ไม่ใช่ดัชนีทุกรายการที่จะขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนของดัชนีความเห็นทางการเมืองนั้นกลับอยู่ที่ 23.0 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 14 ปี 3 เดือน เห็นได้ชัดเลยว่าผู้บริโภคมองการเมืองขาดเสถียรภาพอยู่มาก

อย่างไรเสีย แม้ดัชนีจะดีดตัวขึ้นในทุกรายการก็ตาม แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับปกติที่อยู่ในระดับ 100 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมองเศรษฐกิจในมุมลบจากปัญหาการเมืองในประเทศ และวิกฤต โควิด-19 ทั่วโลกอยู่