'ข้าวกล่องแห่งความรัก' ธุรกิจจาก 'หลานชาย' ที่อยากเจอหน้า 'อาม่า' ทุกวัน

คุณค่าของใครบางคน อาจจะดูไร้ค่า จนเหมือนกับต้นไม้แก่ที่แห้งเหือดไปตามกาลเวลา แต่ต้นไม้แก่ที่โรยราย สามารถกลับมามี ‘คุณค่า’ ได้ใหม่ หากมีใครสักคนให้ความสำคัญ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย และสักวันหนึ่งต้นไม้ต้นนั้น ก็อาจจะพร้อมกลับมามอบ ‘ร่มเงา’ แก่คนที่ยังเห็นคุณค่าและดูแลมันได้กลับคืน

‘ข้าวกล่องอาม่า’ (ARMABOX) ธุรกิจของคนต่างวัย ที่เริ่มต้นจาก ‘ไบรท์-พิชญุตม์ กุศลสิทธิรัตน์’ หลานชายวัย 26 ปี กับ ‘อาม่า-รัตนา อภิเดชากุล’ ในวัย 75 ปี เป็นสิ่งที่ช่วยอธิบายคุณค่าของไม้ใหญ่ที่กำลังโรยราให้กลับมามีชีวิตชีวาได้เป็นอย่างดี

จุดเริ่มต้นธุรกิจข้าวกล่องอาม่า เกิดขึ้นจากผู้เป็นหลาน ซึ่งมองเห็นคุณค่าของอาม่าจากภาพจำตอนเด็ก เขาจำภาพคนเก่งที่ลุกขึ้นขายข้าวแกงในแต่ละวัน จนสามารถหาเลี้ยงดูครอบครัวมาได้จนถึงปัจจุบัน แต่หลังจากนั้นเมื่อถึงวัยชรา อาม่าก็กลายเป็นคนแก่ที่โดดเดี่ยว เมื่อเลิกขายข้าวแกง ไบรท์ เข้ามาเป็นตัวตั้งตัวตีให้ครอบครัว ลุกขึ้นมาทำธุรกิจข้าวกล่องขาย โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของเขา คือ อยากให้ครอบครัวได้อยู่ใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะกับ ‘อาม่า-รัตนา’ ที่แม้จะอยู่ในกรุงเทพฯ แต่โอกาสเจอกันก็น้อยมาก

นั่นก็เพราะอาม่าอาศัยอยู่ย่านเจริญกรุง ส่วนตัวเขาอยู่คลองเตย ซึ่งเขาเคยชวนอาม่ามาอยู่ด้วย แต่ท่านก็ไม่ยอม (อาม่ากลัวเป็นภาระ) ตอนที่ไบรท์คิดที่จะทำธุรกิจข้าวกล่อง เขานำเรื่องนี้ไปคุยกับคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงตัวอาม่าด้วยนั้น แน่นอนว่าเด็กวัยรุ่นกำลังโตในมุมผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ย่อมไม่อยากให้ลูกหลานของตนมาลำบากกับอาชีพที่พวกเขาเคยผ่านมาก่อน และมองว่าไปตั้งหลักปักฐานกับบริษัทหรือองค์กรดี ๆ เพื่อกินเงินเดือนจะดีกว่า

ไบรท์รู้อยู่แล้วว่าคำตอบที่จะได้มา คือ No!! แต่เขามองว่าการทำงานในบริษัทยุคนี้ ก็อาจจะไม่ได้มั่นคงเหมือนสมัยก่อน ขณะที่การเริ่มต้นเป็นเถ้าแก่มือใหม่ บนปัจจัยบางอย่างของโลกธุรกิจยุคดิจิทัล อาจจะเหนื่อยแต่น่าท้าทาย ยิ่งไปกว่านั้น เขาเป็นคนที่ผูกพันกับอาม่ามาก และไม่อยากให้อาม่าโดดเดี่ยว เพราะท่านแก่มากแล้ว เขาอยากเจอและอยู่กับอาม่าทุกวัน ฉะนั้นต่อให้ธุรกิจเล็กๆ นี้จะได้เงินไม่เยอะเท่าทำงานในบริษัท แต่ก็อยากลอง และถ้ามันไปไม่รอดค่อยว่ากันอีกที

เมื่ออธิบายถึงความตั้งใจให้รับรู้…ทั้งอาม่า คุณพ่อ และคุณแม่จึงยอม!!

ไบรท์ใช้ทุนเริ่มต้นประมาณ 30,000 บาท จากเงินเก็บที่เคยทำงานประจำก่อนหน้า มาเริ่มต้นทำธุรกิจข้าวกล่องแบบเดลิเวอรี่ในชื่อ ‘ข้าวกล่องอาม่า’ โดยความตั้งใจของเขา คือ อยากให้ทุกเมนู ทุกสูตรในการปรุง และไอเดียด้านอาหารทั้งหมดออกมาจาก ‘อาม่า’ เพราะเขาเชื่อในฝีมือรสชาติอาหารของอาม่าที่เขาเคยทานมาตั้งแต่เด็ก ๆ

ข้าวกล่องอาม่า เริ่มต้นโดยเน้นที่อาหารไทยเป็นหลัก มีการสร้างเมนูขึ้นมามากกว่า 120 เมนู มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 49 บาท และรวมถึงยังมีขนมหวานขายอีกด้วย แน่นอนว่า ช่วงแรก ๆ ของการเริ่มต้นธุรกิจ ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักข้าวกล่องอาม่ามากนัก แต่เมื่อไบรท์ตั้งใจทำธุรกิจนี้มาก เขาจึงใช้ทุกหนทาง เพื่อให้คนได้รับรู้ ตั้งแต่พิมพ์แผ่นพับแล้วไปเดินแจกตามสำนักงาน และห้างสรรพสินค้าเพื่อหาลูกค้า

แรก ๆ ก็มีออเดอร์เข้ามาประมาณ 100 กล่อง ต่อวัน เฉลี่ยยอดขายอยู่ที่ 5,000-7,000 บาท ต่อวัน ซึ่งยังน้อยอยู่ แถมมีปัญหาเยอะ คนไม่พอ ส่งไม่ทัน จึงเริ่มชักชวนเพื่อนและรุ่นน้องที่เคยทำธุรกิจจำลองสมัยเรียนด้วยกันมาเป็นหุ้นส่วน อย่างไรก็ตาม ด้วยรสชาติจากฝีมืออาม่าที่ไม่เป็นสองรองใคร ทำให้ร้านข้าวกล่องอาม่าเริ่มเป็นที่รู้จัก คนที่สั่งไปก็โทรกลับมาสั่งซ้ำมากขึ้น…

ไม่นาน!! ก็มียอดสั่งซื้อราว 1,000 กล่อง ต่อวัน ทำให้ ไบรท์ เริ่มปรับแนวทางในการทำธุรกิจ โดยการนำระบบซอฟท์แวร์มาช่วยการขายผ่านออนไลน์ (โปรแกรม ERP สำหรับใช้งานในองค์กร) เช่น…

ระบบรับออเดอร์ผ่านเว็บไซต์ ระบบคำนวนออเดอร์ ว่าแต่ละวันต้องผลิตเมนูอะไรบ้าง จำนวนเท่าไรบ้าง มีการใช้เทคโนโลยีในการช่วยจัดการข้อมูลลูกค้า เก็บสถิติเมนูขายดี เพื่อมาเป็นฐานข้อมูลในการออกเมนูหรือโปรโมชั่นใหม่ๆ มี Line Official Account ที่เป็นช่องสื่อสารกับลูกค้า สามารถรับฟังเสียงสะท้อนต่างๆ และข้อมูลการสนทนาก็ไม่หายไปไหนด้วย สามารถกลับมาดูได้ตลอด และยังใช้การตลาดออนไลน์ เช่น การยิงโฆษณาในโซเชี่ยลมีเดียช่วยสร้างการรับรู้ตลอด จึงทำให้กิจการเติบโตได้เร็วขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันร้านข้าวกล่องอาม่าเปิดมาได้ 2 ปีกว่า ๆ จากช่วงแรกที่ยอดขายมีแค่วันละไม่กี่กล่อง แต่ตอนนี้มีออเดอร์เฉลี่ยต่อวันไม่น้อยกว่า 1,500 กล่อง พิสูจน์ให้คุณพ่อคุณแม่ และอาม่าเห็นแล้วว่าเขาทำมันได้

ใครจะคิดว่าจากวันที่เริ่มต้นธุรกิจ เพียงเพราะอยากอยู่ใกล้ชิดกันกับคนในครอบครัว และเริ่มต้นจากคนไม่กี่คน จะกลายเป็นธุรกิจที่มีอนาคตได้อย่างจริงจัง ที่สำคัญ คือ ทุกวันนี้ ไบรท์ บอกว่าสุขภาพของ ‘อาม่า’ แข็งแรงมาก เพราะการกลับมาทำในสิ่งที่ท่านรักอีกครั้ง แถมยังสร้าง ‘คุณค่า’ ให้กับคนรอบข้าง บวกกับได้มีโอกาสพบปะลูกหลานในทุกๆ วัน ได้เพิ่มพลังงานชีวิตที่เต็มเปี่ยมแก่ท่านอย่างมากทีเดียว

เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า อย่ามองข้าม ‘ต้นไม้ใหญ่ที่โรยรา’ เพียงเพราะเราคิดว่า ‘กำลังจะตาย’ เพราะสุดท้ายไม้ใหญ่นั้น อาจจะกลับมาเป็นร่มเงาที่มั่นคง ให้เราได้พักพิง ในวันที่ท้อและเหนื่อยล้า ก็เป็นได้…