ตรงไหนดี พี่จะรับไปพิจารณา

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ที่พรรคประชาธิปัตย์  นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ผ่านการลงมติจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวาระที่หนึ่ง จำนวน 2 ร่าง ไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ว่า ต้องถือว่าเป็นอีกก้าวที่สำคัญในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้ประกาศไว้ชัดตั้งแต่แรกเมื่อครั้งร่วมรัฐบาล คือการแก้มาตรา 256 และต่อมามีการเพิ่มเติมให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งประสบความสำเร็จมาอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญ แต่คงไม่หยุดเพียงเท่านี้เพราะทุกฝ่ายยังต้องหาความเห็นชอบร่วมกันในวาระที่สองในชั้นคณะกรรมาธิการฯ และยังมีวาระที่สามที่เสียงของสมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 3 ที่ต้องร่วมกันทำให้สำเร็จ เพราะเราจะต้องทำให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน และประเทศ ภายใต้การปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นายราเมศ กล่าวต่อว่า การหาความเห็นพ้องจากประชาชนก็เป็นส่วนสำคัญ ในชั้นกรรมาธิการฯนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะมีการเสนอให้รับฟังเสียงจากประชาชนให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ซึ่งจะมีผลต่อการทำประชามติที่จะเป็นไปในทิศทางที่ดี 

ส่วนร่างของภาคประชาชนหรือไอลอว์ ตนไม่อยากให้มองว่าถูกปัดตกไปทั้งหมด ความตั้งใจทำในส่วนที่ดีที่เป็นประโยชน์ ก็จำเป็นต้องนำมาประกอบการพิจารณา อาจมีบางประเด็นที่เห็นไม่ตรงกัน แต่ส่วนไหนรับได้ส่วนไหนรับไม่ได้ก็ควรหยิบยกมาพูดคุยกันก็จะเกิดประโยชน์

อย่างไรก็ตามใน 11 ประเด็นของร่างไอลอว์ มีบางประเด็นที่น่าสนใจและควรหยิบยกมาพูดคุยกันในชั้นกรรมาธิการฯ เช่นกรณีของท้องถิ่น การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น และกระจายอำนาจอย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังอยากให้กรรมาธิการฯนำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯที่มีนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน มาประกอบการพิจารณาด้วย