8 ปีที่รอคอย!! ไทยเข้า ‘ตี้’ RCEP หุ้นส่วนเศรษฐกิจ 15 ชาติสะเทือนโลก

ประเทศไทยปิดดีล RCEP เรียบร้อย หลังการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่ยาวนานกว่า 8 ปี จบลงโดยมี 15 ชาติพันธมิตรเข้าร่วม หากนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2555 ก็เรียกว่าผ่านมาเนิ่นนานร่วม 8 ปี ของการเจรจา RCEP!!

RCEP คืออะไร?

RCEP มีชื่อย่อมาจาก Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เป้าหมายของการก่อตั้ง RECP ก็เหมือน ๆ กับการตั้ง EU ในยุโรปนั่นแหละ เพราะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ การค้า และให้แก่ทุกประเทศที่เข้าร่วม

โดยอยู่ภายใต้ระบบการค้าเสรีที่ใช้กฎระเบียบเดียวกันของผู้มีส่วนใน RCEP (ภาคี) ที่มีทั้งหมด 15 ประเทศ แบ่งเป็รนชาติอาเซียน (รวมไทย) 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ การรวมตัว RCEP จะทำให้เกิดภาพอะไรขึ้น?

- ประชากรในประเทศสมาชิก RCEP จะครอบคลุมคนถึง 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก

- คาดจะเกิดมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 326 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก

- และสร้างตัวเลข GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท) หรือ 30% ของ GDP โลก

.

จะเรียกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาครอบนี้ กลายเป็นเรื่องใหญ่ของโลกเลยก็ได้ เพราะ RCEP จะเหมือนกับ 1 ประเทศใหญ่ที่คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจได้ถึง 1 ใน 3 ของโลกกันเลยทีเดียว เมื่อทั่วโลกเห็นภาพแบบนี้ จะมีใครไม่อยากมาลงทุน พอมาลงทุน เม็ดเงินก็ไหลเวียนในระบบประเทศสมาชิก เกิดตลาดงานใหม่ โครงการใหม่ ๆ เกิดการสะพัดทางเม็ดเงินเศรษฐกิจแบบต่อเนื่อง สรุปประเทศรวย ประชาชนก็สบาย

ฉะนั้นทุกประเทศที่อยู่ในการเจรจา RCEP ต่างพยายามให้ข้อตกลงนี้ลุล่วง

แล้วก็เป็นข่าวดีมาก ๆ โดยเฉพาะกับไทย เพราะร่วมปิดดีลนี้ได้แล้ว!! โดยรัฐบาลไทยที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมประชุม RCEP รอบนี้ และมี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ลงนาม RCEP กันทางออนไลน์ไปเป็นทีเรียบร้อย

จากนั้นคาดว่า เมื่อแต่ละประเทศให้สัตยาบัน ก็น่าจะเริ่มเปิดเสรี RCEP ทางการค้าและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้ในช่วงครึ่งหลังปี พ.ศ.2564

ผลบวกที่ 15 ชาติ RCEP รอคอย?

- RCEP นั้นจะทำให้ประเทศสมาชิกสามารถซื้อขายสินค้าและบริการได้อย่างเสรี ‘ไร้กำแพงภาษี’ ใน 15 ประเทศ RCEP

- RCEP ในส่วนของอาเซียน อาจจะได้อานิสงค์จากประเทศจีน ที่ถือเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ได้สำเร็จ

- การลงนามในข้อตกลง RCEP จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยเชื่อมเศรษฐกิจอาเซียนเข้าสู่เศรษฐกิจโลกได้ง่ายยิ่งขึ้น

.

ทั้งนี้ RCEP ได้ถูกยกให้เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศสมาชิกประกอบไปด้วยอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แต่อินเดียได้ถอนตัวออกไปก่อนหน้านี้ จึงเหลือแค่ 15 ประเทศ เพราะอินเดียกลัวปัญหาสินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้าประเทศ

แม้จะขาดตลาดใหญ่อย่างอินเดีย แต่ก็เชื่อว่าประเทศสมาชิกใน RCEP ที่ว่ามาก็ยังสร้างระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้อยู่ดี

ความลุล่วงของ RCEP ในช่วงเวลานี้ จึงนับเป็นข่าวดีอย่างมากของเศรษฐกิจไทย!!

เพราะในจังหวะที่ทั่วโลกยังเจอปัญหาโควิด-19 แต่ไทยเราสามารถรับมือได้ จะเป็นแต้มต่อที่ผสมกับแรงหนุนใหม่ที่มี 15 ชาติ RCEP ผลักให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้ไวกว่าเดิม...