Saturday, 14 September 2024
WEEKEND NEWS

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2567 : เทพ เทวดา อยู่ที่ไหน?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘เทพ เทวดา อยู่ที่ไหน?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

คำถาม: การที่เราไหว้เทพต่าง ๆ ที่บ้าน แท้จริงแล้วเทพท่านประจำอยู่ที่ไหน?

พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ท่านอยู่ในภพภูมิของท่าน เหมือนลม ที่อยู่ทุก ๆ ที่ เรานั่งอยู่ตรงนี้ก็มีลม มีออกซิเจน มีลมหายใจ เทพท่านก็อยู่แบบนี้แหละ อยู่ทุกที่ เราไหว้ท่าน ระลึกถึงท่าน ท่านก็ทราบได้ทันที ส่วนท่านจะช่วยหรือไม่ช่วยก็อยู่ที่บุญของเรา

คำถาม: มีบางคนไม่เชื่อเรื่องเทพเจ้า เทวดาเลย ในความเป็นจริงแล้ว แต่ละคนมีเทพ เทวดาประจำตัวหรือไม่?

พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): มีสิ ต่อให้ไม่เชื่อก็มี เพราะการมีเทวดาไม่ได้เกี่ยวกับเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่เขา (คนนั้น ๆ) ไม่ได้รับประโยชน์จากการมีเทวดา เป็นการมีที่แห้งแล้ง เป็นการมีแบบอาภัพ และหากคน ๆ นั้นไม่ได้พฤติตนดี เทพ เทวดาประจำตัวก็จะไม่มีพลัง 

ต้องเข้าใจด้วยว่า เทพ เทวดา อารักษ์ บางท่าก็เป็น ‘สัมมาทิฏฐิ’ บางท่านก็เป็น ‘มิจฉาทิฐิ’ (ในองค์เทพนั้น ๆ เทวดานั้น ๆ) ยกตัวอย่างเช่น เมื่อโจรทำพิธีบวงสรวง เชิญมาเทพมา ท่านก็มา โจรขอให้ปลอดภัย ท่านก็ช่วย แปลว่าท่านก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นอย่างไร ถูกหรือผิด

หากพูดตรง ๆ เทพชอบให้คนไหว้ ถ้าคนไหว้ท่านก็ชอบหมด ผู้หญิงก็ชอบ ผู้ชายก็ชอบ แต่ถ้าไม่ไหว้ท่าน ท่านก็ไม่อยู่ อย่างศาลที่ร้างไป เพราะท่านไม่อยู่ ที่ใดที่ท่านอยู่มาก ก็จะมีผู้คนไปไหว้ ไปกราบมาก

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2567 : ทำบุญตอนนี้ ได้บุญตอนไหน?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ทำบุญตอนนี้ ได้บุญตอนไหน?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

คำถาม: ทำบุญชาตินี้ ทำไมต้องหวังผลชาติหน้า?

พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ต้องเคลียร์และทำความเข้าใจก่อน ในเรื่องของการทำบุญ ทำบาป ทำเดี๋ยวนั้น มันได้เดี๋ยวนั้นเลยนะ ยกตัวอย่างเช่น หากเราตีหัวคน เป็นการทำบาป ตีเดี๋ยวนั้น ก็เกิดเรื่องเดี๋ยวนั้น หรือเรายิ้มให้เพื่อนเดี๋ยวนั้น เขาก็ยิ้มตอบ ก็เป็นบุญเดี๋ยวนั้น หรือเรากราบพระ เราไหว้พระ เรารักษาศีล ทำแล้วมันได้เลย มันไม่ได้รอเลย แต่ว่าผลที่มันจะเกิดขึ้น บางครั้งเกิดมากเดี๋ยวนั้น บางครั้งก็ต้องรอเวลาที่มันจะเกิด คือมันอยู่ที่ปริมาณ 

สมมติถ้าตีหัวคนธรรมดา ๆ ก็เป็นเรื่อง หากตีหัวพระสงฆ์ เรื่องก็จะใหญ่ขึ้น และหากไปตีหัวผู้มีอำนาจใหญ่โต เรื่องก็ยิ่งใหญ่โตขึ้นตามไปด้วย จะเห็นได้ว่า เป็นการตีเหมือนกัน แต่วัตถุที่เป็นเหตุให้เกิดขึ้นจะมีพลังต่างกัน

ส่วนเรื่องทำบุญ เช่น การใส่บาตร ใส่ส้ม 1 ผล ใส่แกง 1 ถุง ใส่ข้าวสุก 1 ถุง ใส่น้อย ๆ แต่ใส่ทุกวัน บุญก็สะสมทุกวัน หรืออย่างเช่นการเรียนหนังสือ เข้าชั้นอนุบาล ประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย ถามว่าตอนเรียนในมหาวิทยาลัย ความรู้สมัยอนุบาลติดตัวมาด้วยหรือไม่? แน่นอนว่าติดตัวมาด้วย เพราะเราอ่านออก เขียนหนังสือได้ นี่แหละเปรียบเสมือนการสะสมบุญ สะสมเรื่อย ๆ ต่อเนื่อง

ตราบใดที่เรายังทำบุญอยู่ ทำบุญสม่ำเสมอ เติมบุญอีกเรื่อย ๆ ทั้งบุญเก่า บุญใหม่ก็ส่งผลให้เกิดความสุข เกิดความสำเร็จ 

มีพระบาลีกำกับว่า ‘ยัง ยัง เทวาภิปัตเถนติ สัพพะเมเตนะ ลัพภะติ’ แปลว่า ‘บุคคลมนุษย์และเทวดา ปรารถนาผลเลิศ ผลประเสริฐอันใด ผลเลิศ ผลประเสริฐอันนั้น จะสำเร็จได้ด้วยบุญดังนี้’

ดังนั้นเมื่ออยากจะให้เกิดความสุข เกิดความสำเร็จ ก็พึงทำบุญ ไม่ต้องรอว่าจะไปรับผลชาติหน้า แต่จะได้รับผลชาตินี้

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2567 : การเกิดเป็นทุกข์ แล้วทำไมยังต้องเกิด?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘การเกิดเป็นทุกข์ ทำไมยังต้องเกิด?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

คำถาม: ถ้าการเกิดเป็นทุกข์ แล้วทําไมถึงยังให้มนุษย์เกิดอีก? แล้วอะไรจะการันตีว่าถ้าเดินตามทางพุทธศาสนา จะพบความสุขหรือนิพพาน ทั้งที่บางคนก็เกิดมาทุกข์บางคนก็เกิดมาสุข เพราะบางศาสนาหลักการมันง่ายกว่าศาสนาพุทธหรือเปล่า?

พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): การเกิดหรือไม่เกิด เป็นเรื่องของเรานะ ไม่มีใครมาให้เกิดหรือไม่ให้เกิดนะ ไม่มีเทพหรือศาสดาองค์ใดมาอนุมัติให้เราเกิด เพียงแต่ว่าในคําสอนทางพุทธเจ้า สอนไว้ว่าถ้าไม่อยากเกิดก็ให้ปฏิบัติธรรมให้ได้บรรลุเป็นขั้น ๆ ไป แต่การจะบรรลุธรรมให้สิ้นภพสิ้นชาติ ก็ไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ ถ้าเรามานะและทำถึง

ยกตัวอย่าง การเรียนจบปริญญาตรี โท เอก มีคนเรียนจบมากมาย คนเรียนไม่จบก็มาก คำถามคือคนที่เรียนไม่จบ ทำไมถึงไม่เรียน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็มีเหตุ มีปัจจัยมากมายต่างกัน เช่น สุขภาพไม่ดี เงินทองไม่พอ เวลาไม่เอื้ออำนวย จึงไม่สามารถกำหนดให้ทุกคนเหมือนกันหมดไม่ได้

ฉะนั้น ตามหลักคำสอนของศาสนาพุทธที่พระพุทธเจ้าสอนไว้เปรียบเสมือนพระองค์บอกทาง ส่วนการเดินไปถึงจุดหมายหรือไม่เป็นเรื่องของเรา บางคนอยากไปถึงไว ก็รีบเดิน บางคนไม่ได้อยากถึงไว ก็จะเดินช้า ๆ ดังนั้นไม่มีใครมาทําให้เราเกิด หรือไม่เกิด

ส่วนเรื่องที่บอกว่า ‘การเกิดเป็นทุกข์’ พระพุทธเจ้าตรัสสอนอย่างนี้ เพื่อให้เราหาทางออกจากทุกข์ เพราะว่าต้นธารแห่งความทุกข์ มีที่มาจากการเกิด การเจ็บป่วยก็มาจากการเกิด แก่ชราก็มาจากการเกิด หรือแม้กระทั่งความตายก็มาจากการเกิด

สุดท้าย ‘พระนิพพาน’ อยากจะบอกทุกท่านว่าอย่าไปเถียงกัน เพราะจะไม่จบด้วยการเถียง การคุยกันเรื่องนิพพาน ก็เหมือนกันการคุยเรื่องรสชาติ (หวาน เค็ม มัน เผ็ด) แต่ทั้งคู่ไม่เคยกินเลย ต่อให้เถียงกันจนตายก็ไม่รู้เรื่อง ทางเดียวที่จะรู้คือเอาเข้าปากแล้วเคี้ยว ถึงจะรู้ว่านั้นคือรสชาติอะไร 

ดังนั้นในเรื่องของ ‘นิพพาน’ การรู้กับความรู้ ไม่เหมือนกัน

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2567 : ‘ปัญญา’ คือสิ่งที่สูงส่งกว่าคำว่า ‘ฉลาด’ หรือไม่?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ปัญญา’ คือสิ่งที่สูงส่งกว่าคำว่า ‘ฉลาด’ หรือไม่? จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

💛คำถาม: ‘ปัญญา’ คือสิ่งที่สูงส่งกว่าคำว่า ‘ฉลาด’ หรือไม่? แล้วในทางพุทธศาสนา ‘ปัญญา’ เกิดขึ้นเมื่อใด?

🌕พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): มาดูวิธีที่ทำให้เกิดปัญญาก่อน อย่างแรกคือ ‘ฟัง’ หรือ ‘สุตามยปัญญา’ แปลว่า ปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง การไปเรียนหนังสือก็คือการไปฟัง หรือการไปฟังพระเทศน์ ก็คือการไปฟัง

อย่างที่สองคือ ‘จินตามยปัญญา’ แปลว่า ปัญญาสำเร็จด้วยการคิด เมื่อฟังแล้ว ก็เก็บมาคิดไตร่ตรองว่าจริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ ควรหรือไม่ควร เป็นการคิดวิเคราะห์

อย่างที่สามคือ ‘ภาวนามยปัญญา’ แปลว่า ปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม หรือปฏิบัติ เช่น การสวดมนต์เป็นภาวนา การนั่งสมาธิเป็นภาวนา 

ปัญญาจะเกิดเป็นลำดับ ๆ ผ่านวันเวลาและการฝึกฝน เช่น เด็กชาย ก. กลายมาเป็น นาย ก. ต่อมากลายเป็น ร้อยตรี ก. ขยับมาเป็น พันโท ก. และไปถึง พลเอก ก. 

ส่วนคนที่เกิดมาแล้วมีปัญญาหลักแหลม ในทางพระพุทธศาสนา เชื่อว่าเป็นการสะสมมาจากชาติก่อน ถ้าสะสมมามากก็จะฉลาดหลักแหลม อย่างที่เห็นได้ เด็กบางคนเรียนจบ ป.ตรี ตั้งแต่อายุ 11 ปี จบป.เอก ตอนอายุ 22 ปี บางคนกลายเป็นอัจฉริยะและนักวิทยาศาสตร์ คิดบางเรื่องได้มากกว่าคนอื่น ๆ เป็นกลุ่มคนที่มีปัญญาล้ำเลิศ

อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าจะดีเลิศที่สุด จะต้องเป็นคนที่มีปัญญานำตนให้พ้นทุกข์ได้

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 : ‘สวดมนต์’ หรือ ‘นั่งสมาธิ’ อะไรได้บุญมากกว่า?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘‘สวดมนต์’ หรือ ‘นั่งสมาธิ’ อะไรได้บุญมากกว่า?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

🔔คำถาม: ‘สวดมนต์’ หรือ ‘นั่งสมาธิ’ แบบไหนได้บุญมากกว่ากัน?

📢พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ต้องอธิบายความให้เข้าใจก่อนว่า ‘พระพุทธศาสนา’ เกิดในดินแดนนักปราชญ์ ประเทศอินเดีย มีหลากหลายความเชื่อ หลากหลายลัทธิ รวมมาเป็นศาสนา แน่นอนว่าก็จะมีการโจมตีกัน ไม่โจมตีกัน อยู่ร่วมกัน แต่ที่แน่ ๆ ‘พระพุทธศาสนา’ ไม่โจมตีใคร รู้ได้จากหลักโอวาทปาฏิโมกข์ พระองค์ทรงให้หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 วิธีการ 6 

หลักการมี 3 ข้อ นำหลักการนี้ไปเผยแพร่ พูดที่ไหนก็พูดให้ตรงกัน ส่วนอุดมการณ์คือเป้าหมายมี 4 ข้อ ได้แก่ อย่ากล่าวร้าย อย่ากล่าวหา / ไม่ใช้กําลัง ไม่ทําร้าย / ระมัดระวังในข้อปฏิบัติ ในศีลของตน / หมั่นทําความเพียรเนือง ๆ ความเพียรนี้จะมาอยู่ในเรื่องของการสวดมนต์และนั่งสมาธิ 

ในสมัยก่อนชาวพุทธฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าโดยตรง หรือถ้าไม่มีโอกาสก็จะฟังจากครูอาจารย์ที่ไปฟังจากพระพุทธเจ้าอีกที วันเวลาผ่านไป ก็เริ่มคิดว่าจะทํายังไงให้จําคำสอนได้ วิธีเดียวคือ ‘การท่อง’ ท่องให้เกิดความจํา เพราะถ้าไม่ท่องก็จะลืม

ส่วนที่ถามว่า ‘สวดมนต์’ กับ ‘ทําสมาธิ’ อันไหนดีกว่า ก็ต้องตอบแบบนี้ว่า ‘การสวดมนต์’ วัตถุประสงค์เพื่อให้ใจสงบ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม ระลึกถึงพระสงฆ์ เป็นองค์พระกรรมฐาน 40 ข้อในคําสอนอยู่แล้ว ส่วนการนั่งสมาธิ โดยไม่สวดมนต์ ก็เป็นการปิดตา เปิดใจ 

พูดตามหลักแล้ว ‘การสวดมนต์’ กับ ‘การนั่งภาวนา ทําสมาธิ’ คือสิ่งเดียวกัน อยู่ในหมวดบุญ หมวดเดียวกัน (ภาวนามัยกุศล) ส่วนจะให้บอกว่าได้บุญมากน้อยต่างกันอย่างไร อันนี้ตอบยาก เพราะถ้าผู้ปฏิบัติเลื่อมใสทั้งการสวดมนต์และนั่งสมาธิ มีครูอาจารย์คอยชี้แนะ ยังไงก็ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ 

การสวดมนต์ ไม่ได้ทำไปเพื่อให้บรรลุธรรม แต่เป็นการเตรียมตัว เปรียบเสมือนการปรับหน้าดินก่อนสร้างบ้าน เพื่อเตรียมลงเสาเข็ม ดังนั้นการสวดมนต์คือการปรับดิน ปรับพื้นที่จิตใจ ให้ราบเรียบ ให้สงบ

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2567 : พระพุทธเจ้าสอนอะไร?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘พระพุทธเจ้าสอนอะไร?’ 

จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท) กล่าวว่า พระพุทธเจ้าสอนหลักใหญ่ ๆ 3 หลัก ได้แก่ 

(1) สัพพะปาปัสสสะ อะกะระณัง หมายถึง ต้องไม่ทำบาป ไม่ทำความชั่วทุกชนิด 
(2) กุละสัสสูปะสัมปะทา การทำกุศลให้สมบูรณ์แบบ ความดีอันใดที่ยังไม่ได้ทํา ทําให้ถึงทําให้เต็ม 
(3) สะจิตตะปะริโยทะปะนัง พึงทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส อย่าให้จิตเครียด อย่าให้จิตขุ่นมัว 

‘เอตัง พุทธานะสาสะนัง นี่คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย’ คําว่าทั้งหลาย ไม่ใช่หมายถึงพระองค์เดียว แต่พระองค์อื่นก็ตรัสแบบนี้เช่นกัน 

แต่หากให้พูดเป็นภาษาชาวบ้านที่เข้าใจได้ง่ายว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร ก็จะแยกเป็นดังนี้

-สอนให้รู้ ท่านตรัสเรื่องปัญญา ‘ปณฺญา โลกสุมิ ปชฺโชโต’ แปลว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก  
-สอนให้รัก ท่านตรัสเรื่องความรักมากมาย ‘โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา’ แปลว่า โลกจะอยู่ได้ ต้องเมตตาต่อกัน 
-สอนให้รวย หัวใจเศรษฐี ‘อุ อะ กะ สะ’ หากทำตามก็มีโอกาสเป็นเศรษฐี
-สอนให้ลด ลดความฟุ้งเฟ้อ ลดสิ่งที่ไม่จำเป็น 
-สอนให้ละ ละสิ่งที่คสรละ สิ่งที่ไม่จำเป็นลง
-สอนให้เลิก มาถึงตรงนี้ ก็จะบรรลุถึงมรรคผล

ผู้ศึกษาคำสอนก็เลือกได้ว่าจะเอาระดับไหน มีทั้งระดับชาวบ้านธรรมดา และระดับนักบวย ซึ่งแต่ละระดับก็จะต้องทุ่มเทความพยายามมากน้อยต่างกัน ก็ต้องดูที่ความพร้อมของเราในขณะนั้น ๆ ด้วย ถ้าหวังบรรลุธรรม ก็ต้องเข้าสู่ระดับ ลด ละ เลิก ซึ่งเราเป็นคนเลือกเองได้ ศาสนาไม่ได้บังคับ พระพุทธเจ้าไม่เคยบังคับใคร 

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2567 : นับถือหลายศาสนาได้หรือไม่?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘นับถือหลายศาสนาได้หรือไม่?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

🔆คำถาม: คนหนึ่งคนนับถือหลายศาสนาได้หรือไม่?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ตอบตรง ๆ เลยว่าได้ ที่เห็นทุกวันนี้ พุทธเพียว ๆ ที่ไม่ไหว้แม่กวนอิม ไม่ไหว้พระศิวะ ไม่ไหว้เทพองค์ใดเลย ไม่มีแล้วนะ ทุกวันนี้คนเราก็นับถือหลายศาสนาแล้วนะ ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย 

แต่คนที่จะมาตัดสินไม่ใช่เรานะ ยกตัวอย่าง นาย ก. ประกาศตนเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม ประกาศตนเลยว่านับถือ 3 ศาสนา คนอื่นที่มองมาจะคบหาด้วยหรือไม่? ทั้งผู้ร่วมงาน สามี หรือภรรยา จะคบหาหรือไม่? ฉะนั้นตัวตัดสินคือสังคม 

ศาสนาไม่ได้บัญญัติว่าให้ใครต้องนับถืออะไร แต่อยู่ที่ ‘สังคม’ เป็นตัวตัดสิน

🔆คำถาม: พบหลักคิดบางอย่างในศาสนาอื่น แล้วเราชอบมาก นำมาใช้แล้วเป็นประโยชน์

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): สำหรับประเด็นนี้ หลวงพ่อจะตอบว่าให้เรา ‘เคารพ’ ทุกศาสนา เราต้องยอมรับก่อนว่า ศาสนาคือ ‘แบรนด์เนม’ เราก็ประกาศตนเป็นหนึ่งศาสนา แต่ว่าใจของเราเปิดรับทุกศาสนา แบบนี้จะดีที่สุด

มาดูสิว่าในศาสนาอิสลาม คริสต์ ยูดาย พราหมณ์ ซิก บาไฮ มีอะไรดี ให้เอาข้อดี ๆ มาปรับใช้ ตัวอย่างเช่นศาสนาบาไฮ ศึกษามาจากหลายศาสนา หยิบเอาเรื่องดี ๆ มาสอน แล้วก็มาตั้งกฎศาสนาใหม่ เป็นศาสนาที่มีข้อดีตั้งเยอะแยะไปหมด 

หากเป็นคนนับถือศาสนาพุทธ แล้วศึกษาศาสนาอื่นบ้าง ถ้าดีก็ปฏิบัติตาม ก็ไม่มีอะไรเสียหายเลย เพราะศาสนาไม่ใช่ลิขสิทธิ์ ไม่ได้ห้ามใครว่าจะศึกษา หรือไม่ศึกษานะ

🔆คำถาม: บางคนไปศึกษาบางศาสนาแล้วมาบอกว่า ศาสนานี้มาจากพุทธ

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ก็นั่นคือสังคมเป็นตัวตัดสิน แต่ถ้าเรามาเปิดโลกยุคใหม่ หลวงพ่อคิดว่าควรจะให้ศาสนาเป็นเรื่องของจักรวาล

🔆คำถาม: หลวงพ่อกําลังจะบอกว่าคือคนรุ่นใหม่ไม่ควรจะมายึดติดแบ่งแยกเรื่องศาสนาแล้ว? 

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): อย่าเลยเถิดขนาดนั้น ต้องมีสังกัดซะหน่อย ยกตัวอย่าง นาย ก. สังกัดบริษัท 4 บริษัทเลย แบบนี้บริษัทเขาก็ไม่เอา เพราะความลับบริษัทรั่วหมด เอาเป็นว่าเลือกอยู่ 1 บริษัท แล้วตกเย็นไปขายค้าขายส่วนตัว ภรรยาขายของชํา หรือว่ามีงานอดิเรกดีกว่า

ควรมีสังกัด 1 สังกัด แล้วไปศึกษาศาสนาอื่นเพิ่ม แต่อย่าประกาศพร้อมกัน 3 ศาสนาเลย

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2567 : เจ้ากรรมนายเวร ให้อภัยแล้ว ยังบาปไหม?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘เจ้ากรรมนายเวร ให้อภัยแล้ว ยังบาปไหม?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

👍คำถาม: ถ้าเจ้ากรรมนายเวร ให้อภัยแล้ว เรายังต้องรับกรรมที่เคยกระทําต่อเขาอยู่หรือไม่?

✨พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ต้องถามก่อนว่า ‘เจ้ากรรมนายเวร’ ที่ว่ามานั้นชื่ออะไร? ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าชื่ออะไร แล้วเมื่อบอกว่าเขาอโหสิกรรมให้แล้ว ใครเป็นคนบอก? จะสมมติว่าเจ้ากรรมนายเวรบอกก็ไม่ได้ ในเรื่องบางเรื่องสมมติได้ แต่บางเรื่องสมมติไม่ได้ เรื่องเวรกรรมจึงเป็นเรื่องที่สมมติไม่ได้ 

ใครจะไปถามเจ้ากรรมนายเวร มีกี่คน? ชื่ออะไรบ้าง? อยู่ที่ไหน? รายละเอียดเยอะนะ ฉะนั้นต้องมีตรงกลางแล้วกัน หากทําความดีใด ๆ แล้วเราระลึกถึงท่านผู้มีเวร ก็ระบุได้ว่า “บุญกุศลที่ข้าพเจ้ามีในครั้งนี้ ข้าพเจ้าขอแผ่ถึงท่าน รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี เป็นมนุษย์ก็ดี เป็นสัตว์ก็ดี เป็นอทิสสมานกาย (สัตว์โลกผู้มีกายไม่ปรากฏ) ก็ดี เป็นโอปปาติกะ (ผู้เกิดผุดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ และโตเต็มตัวในทันใด ตามแต่อดีตกรรม ตายก็ไม่มีซากปรากฏ) ก็ดี เมื่อท่านรับทราบ ขอจงอนุโมทนาในบุญกุศลที่ข้าพเจ้าแผ่มานี้ เมื่อท่านรับแล้วขอได้โปรดยกโทษ หากโทษมี ขอให้อภัยหากให้อภัยกันได้” เป็นการใช้จิตใช้จิต แผ่พลังทางจิต

หลวงพ่อเคยเล่าเรื่องพระอรหันต์ครับนามว่า ‘อายุวัฒนกุมาร’ ซึ่งมีพราหมณ์บอกว่าเด็กคนนี้จะอายุไม่ยืน พระพุทธเจ้าจึงมอบพระสงฆ์ไปสวดพระปริตร ท่านก็มีชีวิตยืนยาวมานานถึง 120 ปี

ดังนั้น การสร้างความดีขึ้นมาใหม่ การสร้างกุศลขึ้นมาใหม่ ให้แรงกว่าบาปที่มีอยู่เดิม ก็สามารถที่จะบรรเทาเบาบางบาปนั้นให้ลดทอนลง หากมีผลอย่างแรงก็ลดเป็นปานกลาง หากมีผลอย่างปานกลางก็จะลดหายไป

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2567 : สวดมนต์ทุกวัน แต่ไม่มีสติ ได้บุญไหม?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘สวดมนต์ทุกวัน แต่ไม่มีสติ ได้บุญไหม?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

👍คำถาม: สวดมนต์ภาวนาทุกวัน แต่ไม่มีสติในการดำรงชีวิต จะได้บุญหรือไม่?

พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ตรง ๆ ได้บุญอยู่แล้ว ไม่ใช่ได้บุญในขั้นตอนสวด แต่ได้บุญตั้งแต่คิดจะสวดแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘เจตนาหํ กมฺมํ วทามิ’

เจตนาในที่นี้หมาย ความตั้งใจ ส่วนการตั้งใจมีอยู่ 3 ระยะ คือ ตั้งใจก่อนทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรียกว่า ปุพพเจตนา ต่อมาคือเจตนาท่ามกลาง หรือเจตนาขณะกำลังทำ เรียกว่า มุญจนเจตนา และสุดท้าย เมื่อเจตนานั้น ๆ สำเร็จเสร็จไปแล้ว เรียกว่า อปรเจตนา 

ดังนั้นหากท่านสวดมนต์ ท่านก็ได้บุญแล้ว แล้วก่อนจะสวดท่านก็คิดว่าจะสวด และเมื่อสวดจบแล้วท่านก็มีความสุข ไม่มีตรงไหนที่ท่านจะไม่ได้บุญ

ส่วนที่บอกว่าไม่มีสติในการดำรงชีวิต ในมุมมองของศาสนาพุทธ ถ้าท่านรู้ตัวว่าไม่มีสติ นั่นแปลว่าท่านรู้นะ ท่านมีสตินะ ท่านเป็นคนดี ท่านยังรู้ตัวว่าท่านไม่มีสติ ผิดกับคนหลายคนที่เข้าใจว่าตนเองมีสติ แต่จริง ๆ แล้ว ไม่มีสติ 

ดังนั้นท่านที่บอกไม่มีสติในการดำรงชีวิต คือท่านรู้ตัวแล้ว โอกาสปฏิบัติธรรมก้าวหน้ามีเปอร์เซ็นต์สูงมาก

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2567 : ชีวิตของเรา...ถูกกำหนดไว้แล้วไหม?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ชีวิตของเรา...ถูกกำหนดไว้แล้วไหม?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

✨คำถาม: หากมีหมอดูแม่นมาก ที่รู้อนาคตของเราว่าจะเป็นอย่างไร? แสดงว่าอนาคตถูกลิขิตไว้แล้วใช่หรือไม่?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ถ้าตามคําสอนทางพระพุทธศาสนา หากทําบุญมาก ๆ คนที่อายุสั้นอาจจะอายุยืนได้ มีตัวอย่างคือพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่า ‘อายุวัฒนะกุมาร’ โดยอายุขัยจะต้องเสียชีวิตเมื่ออายุ 7 ปี แต่เพราะนิมนต์พระไปสวด 7 วัน 7 คืน ปรากฏว่าเด็กคนนี้รอดพ้นและอยู่มาได้จนอายุ 120 ปี แล้วที่ว่าหมอดูทํานายทายทักอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะหมอดูหรือโหราศาสตร์ ประมวลผลจากสถิติ แต่หากบุคคลนั้นไปสร้างกรรมดีมากหรือดวงดีแต่ไม่ทําดีเลย มันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น (ไม่ตรงสถิติ) ก็อาจจะติดคุกติดตะรางได้

✨คำถาม: มองภาพง่าย ๆ คนเรามีกรรม มีบุญมาก่อนหน้านี้แล้ว?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): 
ต้องเข้าใจอีกนิดหนึ่งว่า ‘กรรม’ ไม่ใช่ทําร้าย ไม่ใช่คําชั่ว แต่แปลว่าการกระทํา บุญก็เป็นกรรมนะ แต่เป็นกุศลกรรม แต่ถ้ามั่นสร้างกรรมดีไปเรื่อย ๆ กรรมที่ไม่ดีก็จะตามไม่ทัน และพอนานวันเข้า ๆ ก็จะกลายเป็นอโหสิกรรม 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top