Tuesday, 17 September 2024
TOP SCHOOL

การเรียนสายอาชีพถือว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น้อง ๆ ที่จบมัธยมศึกษาตอนต้นมาได้ลงมือปฏิบัติ และ สามารถต่อยอด สร้างฝัน สร้างอาชีพได้ บางครั้งน้อง ๆ อาจจะมองไม่เห็นตัวเองว่าถ้าเรียนในสายสามัญเป็นอย่างไร สายอาชีพถือว่าตอบโจทย์น้อง ๆ สำหรับผู้ทีชื่นชอบลงมือทำ

วันนี้ THE STUDY TIMES จะขอมาแนะนำการเรียนอีกสายหนึ่งที่ถือได้ว่าหลาย ๆ คนที่ยังรู้สึกว่าตัวเองอาจจะต่อยอดพวกสายวิทย์ - คณิต หรือ สายศิลป์ ไม่ได้การเรียนสายอาชีพก็ถือว่าเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน

การเรียนสายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพ คือ การเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. เป็นการเรียนในหลักสูตรที่ไม่ได้เน้นการเรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกับสายสามัญ รับนักเรียนที่จบมาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยการเรียนสายอาชีพมีระยะเวลาในการเรียน 3 ปี โดยหากเรียนจบแล้วจะมีทางเลือกในการเรียนต่อ 2 ทางเลือกใหญ่ ๆ คือ

1.) การเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ (ปวส.) ใช้เวลาเรียน 2 ปี หลังจากจบแล้วสามารถเรียนต่อปริญญาตรี อีก 2 ปี

2.การเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย (ระดับปริญญาตรี) ใช้เวลาเรียน 4 – 5 ปี แล้วแต่คณะวิชาที่เลือก

สิ่งที่ถือเป็นจุดเด่นสำหรับการเรียนสายอาชีพคือสำคัญ ได้มีโอกาสเรียนในสายวิชาที่เน้นการทำงานจริงเป็นหลัก ต่อให้เรียนจบระดับ ปวช. ก็สามารถทำงานได้ และทำให้นักเรียนได้เข้าใจถึงการเรียนตามหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต

สำหรับข้อดีของการเรียนในระดับสายอาชีพมีดังต่อไปนี้

ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ มีรายได้ระหว่างเรียน
หลักสูตรสายอาชีพเน้นการลงมือภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง ทุกหลักสูตรมีการฝึกงานเพื่อสร้างเสริม

ประสบการณ์และทักษะ
วิชาชีพตั้งแต่ยังเรียนอยู่ไม่น้อยกว่า 300 ชั่วโมง ได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติงานจริง ฝึกใช้อุปกรณ์ เรียนรู้ กระบวนการในสายอาชีพนั้น ๆ เป็นประสบการณ์ตรงจากหน้างาน

มีทักษะวิชาชีพติดตัว
เพราะการฝึกฝนปฏิบัติงานเป็นประจำย่อมทำให้เกิดทักษะและความเชี่ยวชาญติดตัวไปตลอด เมื่อศึกษาจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพสามารถใช้เป็นใบเบิกทางสมัครงานได้เลย

เลือกเรียนได้หลากหลายสาขาและอาชีพ 
หลักสูตรสายอาชีพมีให้เลือกเรียนหลากหลายสาขาวิชา สามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจและความถนัดของตัวเอง

เป็นที่ต้องการของบริษัทและแรงงาน
ในปัจจุบันกำลังขาดแคลนช่างฝีมือและบุคลากรวิชาชีพทักษะเฉพาะ เพราะต่างต้องการแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีฝีมือเฉพาะทางในด้านนั้น ๆ ทำให้เมื่อเรียนสายอาชีพจบมาแล้วจะตอบโจทย์กับบริษัทมากกว่า 



และนอกจากนี้สถานที่เรียนปวช.นั้นมีมากมายอยู่ทั่วทุกจังหวัด และการเรียนในสายอาชีพก็มีให้เลือกเรียนอีกมาก โดยจะขอยกตัวอย่างสาขาอาชีพที่เรียนในระดับชั้นปวช. มีดังต่อไปนี้

อุตสาหกรรม สาขาวิชา : ช่างยนต์ ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อมโลหะ ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างก่อสร้าง เครื่องเรือนและตกแต่งภายใน สถาปัตยกรรม สำรวจ ช่างเขียนแบบเครื่องกล ช่างซ่อมบำรุง ช่างพิมพ์ เทคนิคแว่นตาและเลนส์ ช่างโทรคมนาคม ช่างเครื่องมือวัดและควบคุม อุตสาหกรรมยาง เมคคาทรอนิกส์ ช่างเทคนิคคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีฟอกหนัง ช่างเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ เครื่องกลเกษตร
พาณิชยกรรม สาขาวิชา : การบัญชี การตลาด การเลขานุการ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ธุรกิจสถานพยาบาล การประชาสัมพันธ์ ธุรกิจค้าปลีก ภาษาต่างประเทศ โลจิสติกส์ การจัดการสำนักงาน การจัดการด้านความปลอดภัย ธุรกิจการกีฬา
ศิลปกรรม สาขาวิชา : วิจิตรศิลป์ การออกแบบ ศิลปหัตถกรรม ศิลปกรรมเซรามิก ศิลปหัตถกรรมรูปพรรณเครื่องถมและเครื่องประดับ ถ่ายภาพและมัลติมีเดีย เทคโนโลยีศิลปกรรม คอมพิวเตอร์กราฟิกอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เครื่องประดับอัญมณี ช่างทองหลวง การพิมพ์สกรีน ออกแบบนิเทศศิลป์
คหกรรม สาขาวิชา : แฟชั่นและสิ่งทอ อาหารและโภชนาการ คหกรรมศาสตร์ ธุรกิจเสริมสวย ธุรกิจคหกรรม
เกษตรกรรม สาขาวิชา : เกษตรศาสตร์
ประมง สาขาวิชา : เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาขาวิชา : การโรงแรม การท่องเที่ยว
อุตสาหกรรมสิ่งทอ สาขาวิชา : เทคโนโลยีสิ่งทอ เคมีสิ่งทอ เทคโนโลยีเครื่องนุ่งห่ม
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชา : เทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์
อุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี สาขาวิชา : อุตสาหกรรมบันเทิง การดนตรี การสร้างเครื่องดนตรีไทย
พาณิชย์นาวี สาขาวิชา : เดินเรือ ช่างกลเรือ

ดังนั้นการเรียนสายอาชีพถือว่าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับนักเรียน หรือ นักศึกษาที่ต้องการลงมือปฏิบัติจริง ๆ อยากที่จะพัฒนาตัวเองและมีศักยภาพทางด้านอาชีพนั้น ๆ อย่างผู้เชี่ยวชาญ สามารถต่อยอดอาชีพในอนาคตได้ ทาง THE STUDY TIMES หวังว่าน้อง ๆ ทุกคนจะได้รู้แนวทางตัวเองและต่อยอดความฝันของน้อง ๆ ให้ประสบความสำเร็จได้นะคะ 


ที่มา 
https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/highschool/studyplan/item4-2/
https://teen.mthai.com/education/176732.html

“โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา” นักเรียนเก่ง กิจกรรมเลิศ โรงเรียนการสอบแข่งขันเข้าเรียนสูงสุดอันดับ 1

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หลาย ๆ คนพอได้ยินชื่อโรงเรียนแห่งนี้แล้วจะนึกถึงเด็กที่เป็นสุดยอดความเป็นเลิศทั้งด้านการเรียนและกิจกรรม ประวัติและชื่อเสียงมีมาอย่างยาวนาน และที่สำคัญมีการสอบเข้าแข่งขันเข้าเรียนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย วันนี้ THE STUDY TIMES จะมาเล่าประวัติ ความเป็นมาของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งนี้กัน

เดิมโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีชื่อว่า “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดยโรงเรียนนี้แต่ก่อนสังกัดอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อตั้งเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 โดยพันเอก หลวงพิบูลสงคราม อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขณะนั้น โดยแต่ก่อนใช้โรงเรียนมัธยมหอวัง ถนนพญาไทเป็นสถานศึกษา ในปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ตั้งอยู่เลขที่ 227 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยมี ม.ล. ปิ่น มาลากุล เป็นผู้อำนวยการท่านแรกของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นโรงเรียนสหศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย (คือโรงเรียนที่สามารถเรียนได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง)

โดยแต่ก่อนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่เตรียมนักเรียนแผนกต่าง ๆ ไว้สำหรับเข้าศึกษาในคณะต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในสมัยก่อนจะเรียกสั้น ๆ ว่าโรงเรียนเตรียมจุฬา 

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีความเจริญอย่างมากต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2484 ทางโรงเรียนได้มีการจัดพิธีไหว้ครูและมีการแต่งคำประพันธ์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนแรกที่ทำให้เกิดการมีพิธีไหว้ครูเกิดขึ้น เป็นแบบแผนให้โรงเรียนอื่น นอกจากนี้โรงเรียนยังถูกมรสุมจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หนักมาก โดนทหารญี่ปุ่นมาตั้งกองทัพในโรงเรียน ทำให้นักเรียนต้องย้าย อพยพไปอยู่ตามแถวชานเมือง และพอสงครามทหารญี่ปุ่นจบลงเหล่าทหารอังกฤษก็เข้ามาพัก กว่าทุกอย่างจะสงบลงใช้เวลานานหลายปี 

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2490 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โอนไปสังกัดกรมวิสามัญศึกษา และมีระเบียบกำหนดให้นักเรียนที่เรียนจบการศึกษาจากโรงเรียนนี้ สอบคัดเลือกเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับนักเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาของโรงเรียนทั่วไป ทั้งยังตัดคำว่า”แห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย” ออก คงเหลือคำว่า “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา” เท่านั้น ม.ล.ปิ่น  มาลากุล  ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ตอนหนึ่งว่า “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อยาวนัก จึงได้เปลี่ยนเป็น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เฉยๆ แต่ พระเกี้ยวนั้นเป็นของสูง จะทิ้งกันได้อย่างไร โรงเรียนได้เก็บไว้เป็นเครื่องหมายรวมจิตใจของอาจารย์และนักเรียนจนกระทั่งทุกวันนี้”


คำขวัญของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษานั้นก็คือ “ความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณธรรม” นิมิตฺตํ สาธุ รูปานํ กตญฺญู กตเวทิตา (ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี)

และนี้ก็เป็นประวัติส่วนหนึ่งของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่มีประวัติและชื่อเสียงกันมาอย่างยาวนาน สำหรับสายการเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษานั้นมี
- สายวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ 
- สายภาษา – คณิตศาสตร์
- สายภาษา - ภาษา ซึ่งภาษาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีสายภาษาดังนี้ ภาษาฝรั่งเศส  ภาษาเยอรมัน  ภาษาญี่ปุ่น  ภาษาสเปน  ภาษาจีน ภาษาเกาหลี 


ในแต่ละปีโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจะมีการสอบเข้าโรงเรียนโดยการสมัครสอบของโรงเรียนจะสมัครสอบผ่านออนไลน์ที่เว็บไซต์  https://admission.triamudom.ac.th โดยวิชาในแต่ละสายที่มีการจัดสอบจะมีดังต่อไปนี้ 
ผู้ที่ต้องการสอบสายวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ จะต้องสอบวิชา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ 
ผู้ที่ต้องการสอบสายภาษา - คณิตศาสตร์ จะต้องสอบวิชาคณิตศาสตร์ สังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ 
ผู้ที่ต้องการสอบสายภาษา - ภาษา จะต้องสอบวิชา สังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ

โดยการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจะสอบที่ อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี โดยในปีที่ผ่านมามีนักเรียนจากทั่วประเทศกว่า 12,765 คนมาสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาโดยโรงเรียน เปิดรับนักเรียน 1,520 คน ใน 8 แผนการเรียน นักได้ว่าเป็นการแข่งขันที่สูงมากจริง ๆ สำหรับนักเรียนคนไหนที่อยากจะเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนแห่งนี้ก็ขอให้เตรียมตัว อ่านหนังสือ ตั้งใจเรียนและเชื่อมั่นในตัวเองว่าทำได้ ทุกอย่างที่เราตั้งใจก็จะประสบความสำเร็จแน่นอนค่ะ THE STUDY TIMES เป็นกำลังใจให้นะคะ 


แหล่งที่มา 
https://www.triamudom.ac.th/website/index.php/2016-07-13-03-51-27/2016-07-13-07-27-57
https://tuemaster.com/blog/ประวัติโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
https://www.thairath.co.th/content/234067
https://www.webythebrain.com/article/6-questions-for-triamudom

ชี้เป้า ! ฝันอยากเป็นตำรวจ เรียนที่ไหนได้บ้าง ?

ในปัจจุบันการรับข้าราชการถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจของเด็กวัยรุ่นยุคใหม่ นอกจากสวัสดิการที่ดีแล้ว ก็ยังมีความมั่นคงในชีวิตอีกด้วย ซึ่งหนึ่งในอาชีพข้าราชการที่น่าสนใจคือ ”อาชีพตำรวจ” วันนี้ THE STUDY TIMES จะมาแนะนำโรงเรียนที่เรียนเฉพาะทางด้านตำรวจ พอจบแล้วสามารถเข้ารับราชการตำรวจได้เลย ไปดูกัน !

1.โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (Royal Police Cadet Academy : RPCA) เป็นหน่วยงานระดับกองบัญชาการ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตั้งอยู่ที่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีภารกิจหลักในการฝึกอบรม ให้การศึกษา อบรมหล่อหลอมนักเรียนนายร้อยตำรวจให้มีคุณลักษณะเหมาะสมที่จะเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร และฝึกอบรมผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรอื่น ผู้ที่ศึกษาตามหลักสูตรหลักของในโรงเรียนนายร้อยตำรวจเรียกว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) เมื่อเรียนจบ 4 ปีจะสามารถสอบได้ยศเป็น ร้อยตำรวจตรี 


โดยการสมัครสอบใช้วุฒิ : โรงเรียนเตรียมทหาร
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://admission.rpca.ac.th/register/

2.โรงเรียนชุมพลทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ

ในสมัย พ.ศ. 2436 ประเทศไทยถูกกองเรือฝรั่งเศสรุกราน ทำให้ต้องเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก ทางราชการจึงเห็นความจำเป็นในกิจการทหารเรือมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกอบรมนายทหารชั้นประทวนให้มีความรู้ความสามารถ และเป็นจ่าที่ดีสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามเรือและกรมกองต่าง ๆ ได้ ดังนั้นในปี พ.ศ.2438 จึงตั้งโรงเรียนนายสิบทหารเรือขึ้น ต่อมากรมทหารเรือดำริที่จะให้จ่าและพลทหารได้รับการศึกษาที่สูง ขึ้นตามกาลสมัย จึงให้ยุบโรงเรียนนายสิบทหารเรือ แล้วตั้งโรงเรียนจ่าขึ้นแทน ประกอบด้วย โรงเรียนจ่าอาวุธ โรงเรียนจ่าตอร์ปิโด โรงเรียนจ่าช่างกล โรงเรียนพลทหารเรือกรุงเทพ โรงเรียนพลทหารช่าง และโรงเรียนพันจ่าทหารเรือ จนในปัจจุบันก็ได้มีการรวบรวมโรงเรียนต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นโรงเรียนเดียว จนมาเป็น “กองโรงเรียนชุมพลทหารเรือ” โดยการเรียนเพื่อจะได้เป็นตำรวจ คือการเรียนเป็นตำรวจทางน้ำ ใช้เวลาศึกษา 2 ปี ได้ยศมาเป็น สิบตำรวจตรี

โดยการสมัครสอบใช้วุฒิ : มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 / กศน. / ปวช.
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.navedu.navy.mi.th/indexnavedu.html

3.วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ

เดิมชื่อว่า โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย กองแพทย์กรม-ตำรวจ เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2512 โดยดำริของ ฯพณฯ พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงค์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น โดยที่ท่านเคยปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาก่อน จึงมีความรู้และความเข้าใจ ปัญหาการขาดแคลนพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลตำรวจกำลังประสบปัญหาขาดแคลนพยาบาล อย่างมาก 

กรมตำรวจจึงมีมติให้ กองแพทย์ เปิดรับสมัครนักเรียนพยาบาลรุ่นแรกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2513 โดยที่วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่ผลิตบุคลากรทางการพยาบาลแก่หน่วยงาน สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและ เอกชนเพื่อสนับสนุนการบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพแก่ข้าราชการตำรวจ และครอบครัว รวมทั้งให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป เมื่อเรียนจบแล้ว สามารถเข้ารับราชการตำรวจในยศ ว่าที่ร้อยตำรวจตรี บรรจุเป็นข้าราชการโรงพยาบาลตำรวจ

โดยการสมัครสอบใช้วุฒิ : มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 (สายการเรียน วิทย์ - คณิต)
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://nursepolice.go.th/

4.กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน หรือ หน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 

โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2526 เป็นหน่วยตำรวจที่มีขีดความสามารถในการยุทธ์เคลื่อนที่ทางอากาศ การยุทธส่งทางอากาศ การรบพิเศษ และการปฏิบัติการพิเศษ เพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามที่เป็นทหารและไม่ใช่ทหาร ในการสงครามพิเศษ และการแก้ไขปัญหา การก่อความไม่สงบ, การก่อการร้าย ทุกรูปแบบ ด้วยการปฏิบัติการปกปิด รับผิดชอบการปฏิบัติการทั่วประเทศ ปัจจุบันเป็นหน่วยระดับกองกำกับการ มีผู้กำกับการเป็นหัวหน้าหน่วยราชการ ขึ้นตรงกับกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยใช้ระยะเวลาการเรียน 1 ปี สามารถสอบเข้าราชการได้ในยศสิบตำรวจตรี

โดยการสมัครสอบใช้วุฒิ : มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 / กศน. / ปวช.
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.bppparu.go.th/index.php 

และนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนที่เรียนจบมาแล้วสามารถรับข้าราชการเป็นตำรวจได้เลย หวังว่าบทความนี้จะเป็นแนวทางให้กับนักเรียนที่มีความใฝ่ฝันอยากที่จะเป็นตำรวจ ขอให้ตั้งใจและทำความฝันของตัวเองให้ได้ THE STUDY TIMES เป็นกำลังใจให้นะคะ 


แหล่งข้อมูล 
เพจ : เรียนต่อไหนดี
https://th.wikipedia.org/wiki/โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
http://www.navedu.navy.mi.th/
http://nursepolice.go.th/
http://www.bppparu.go.th/index.php

โรงเรียนอินเตอร์ สุดปัง!! ทำไม แพงแค่ไหน ก็ยอมจ่าย?

โรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 เพราะโรงเรียนไม่ได้เพียงแค่ให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ในด้านความรู้ในเรื่องของการเรียนหนังสืออย่างเดียว แต่โรงเรียนที่ดีจะต้องสอนทั้งการใช้ชีวิตและการเข้าสังคมให้ได้ ในที่นี่เราจะมาพูดถึงโรงเรียนอินเตอร์กัน 

โดยโรงเรียนอินเตอร์ทีเป็นโรงเรียนที่สอนทั้งในเรื่องของการเรียนหนังสือ และ ประสบการณ์การใช้ชีวิต สภาพแวดล้อมและสังคม เป็นสิ่งหนึ่งที่อาจจะช่วยให้ลูกของคุณมีประสบการณ์และการเรียนรู้ ในวันนี้ THE STUDY TIMES ได้รวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นว่าในโรงเรียนอินเตอร์มีข้อดีอะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจให้ลูกรักได้มีโอกาสพัฒนาในเรื่องของการเรียนและสังคม 

1.) การเรียนรู้ที่ควบคู่ไปกับประสบการณ์
สิ่งหนึ่งที่ลูกของคุณจะได้รับจากโรงเรียนอินเตอร์คือการเรียนที่ไม่ใช่แค่อยู่ในตำรา ไม่ได้มีแค่เพียงทฤษฎี แต่เป็นการเรียนที่ควบคู่ไปกับประสบการณ์ โรงเรียนอินเตอร์จะสอนให้ลูกของคุณได้เรียนทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ลูกของคุณมีพัฒนาการที่ดี โรงเรียนอินเตอร์หลายที่จะให้นักเรียนได้ทั้งเรียน เล่น และสนุกกับการใช้ชีวิตในเวลาเดียวกัน ยิ่งถ้าได้ลงมือปฏิบัติ ลูกของคุณก็จะยิ่งสนุกกับการเรียนมากยิ่งขึ้น นักเรียนในโรงเรียนอินเตอร์จะได้พัฒนาการจากทางด้านการเรียนและกิจกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการเรียนในยุคปัจจุบัน


2.) ภาษาอังกฤษคือใบเบิกทางสู่ความสำเร็จ
ในปัจจุบันภาษาถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกรักของคุณสามารถเปิดโลกกว้างได้อย่างมาก ยิ่งภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากล และแน่นอนโรงเรียนอินเตอร์มีรูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นภาษาอังกฤษในทุกวิชา เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะในด้านทางภาษา และจะทำให้ลูกของคุณเก่งภาษามากยิ่งขึ้น โดยโรงเรียนอินเตอร์จะมีการสอนทั้งการเขียน การอ่าน การพูด ในทุกระดับชั้น การเรียนภาษาอังกฤษนับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกของคุณมีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย 


3.) สังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย 
เนื่องจากนักเรียนและคุณครูที่โรงเรียนอินเตอร์มีความหลากหลายทั้งในประเทศ ภาษา และ วัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้สามารถพัฒนาทักษะทางด้านภาษาอย่างมาก ลูกของคุณจะได้รับทั้งในเรื่องของการพูดภาษาได้หลากหลายรวมไปถึงได้รับวัฒนธรรมจากอีกหลากหลายประเทศ ทำให้ลูกของคุณได้รับทั้งความรู้ มุมมองในการใช้ชีวิตที่หลากหลายนอกเหนือจากในห้องเรียน สังคมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในด้านของการใช้ชีวิต โรงเรียนอินเตอร์ถือว่าเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม หลากหลายสัญชาติมารวมกัน 

4.) คณะอาจารย์ คุณครูที่มีความเป็นเลิศทางด้านการสอนและมากไปด้วยประสบการณ์
โรงเรียนอินเตอร์ทุกที่คณะครู อาจารย์จะต้องได้รับการศึกษามาในเฉพาะทางอย่างดีเยี่ยม จึงจะสามารถเข้ามาสอนในโรงเรียนอินเตอร์ได้ ด้วยศักยภาพและเนื้อหาการสอนที่คณะคุณครูเตรียมถ่ายทอดให้กับนักเรียนทั้งในด้านของทฤษฎีและด้านปฏิบัติก็จะทำให้ลูกของคุณได้รับการดูแลเอาใจใส่ และมีการเรียน การศึกษาที่ดี และบุคลากรในโรงเรียนอินเตอร์จะต้องมีความพร้อม ดูแลเอาใจใส่นักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 

5.) สถานที่และบรรยากาศคือการเรียนรู้และการใช้ชีวิต 
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนที่สำคัญในการเรียนคือ บรรยากาศและสถานที่ในการเรียนรู้ โรงเรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่มีสถานที่ ๆ สวยงามและพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนทุกคน ซึ่งสภาพแวดล้อมทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกของคุณมีความรู้สึกที่อยากจะไปโรงเรียน หลาย ๆ ที่ในโรงเรียนอินเตอร์จะให้ความสำคัญกับสถานที่และบรรยากาศการเรียนอย่างมาก มีห้องกิจกรรมและการเรียนรู้ นอกเหนือจากทางด้านวิชาการแล้วการเรียนนอกห้องเรียนก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ด้านศิลปะ ดนตรี คหกรรม รวมไปถึงกีฬา เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาศักยภาพของตนเองและค้นหาความฝัน หรืออาชีพในอนาคต

เครดิตภาพ : โรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันฯ

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาในแต่ละข้อนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกของคุณเติบโตขึ้น โรงเรียนอินเตอร์ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ที่จะสามารถให้ลูกของคุณมีศักยภาพในการเรียนและสังคมที่ดี ตลอดจนถึงมีพัฒนาการทางด้านความคิด และมีทักษะอื่น ๆ อีกมากมาย หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ปกครองที่กำลังเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกของคุณ เพื่อให้ลูกที่คุณรักได้ใช้ชีวิตและเปิดประสบการณ์ในช่วงวัยเรียนได้อย่างมีความสุขกับเส้นทางที่ทุกท่านได้กำหนดไว้

เปิด (ปม) ภาคการศึกษา EP.3 เมื่อโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย ความเจ็บปวดในรั้วสถานศึกษาผ่านการถูกกลั่นแกล้ง (Bullying )

ทั้ง ๆ ที่สถานศึกษาควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ทำไมปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมักมีต้นตอมาจากในรั้วสถานศึกษา?

หากพูดถึงปัญหาในรั้วสถานศึกษา คงแยกย่อยออกมาได้มากมายหลายประเด็น ทั้งระบบการศึกษา คุณครู บุคลากร รวมถึงตัวเด็กนักเรียน หนึ่งในปัญหาที่พบได้มากในปัจจุบัน คงหนีไม่พ้น การบูลลี่ในโรงเรียน 

บูลลี่ (Bully) คือ การกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูด หรือ พฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น ซึ่งมักเกิดขึ้นในสังคมที่มีช่องว่างระหว่างผู้ที่มีพละกำลัง หรืออำนาจมากกว่าแสดงออกแก่ผู้ที่อ่อนแอกว่า และมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยการบูลลี่ในโรงเรียนนั้นพบได้มาก นำไปสู่ปัญหาสภาพทางจิตใจที่ร้ายแรงได้ในอนาคต

การบูลลี่มี 3 ประเภท ดังนี้ 
•    การกลั่นแกล้งทางวาจา คือ การสื่อสาร เขียน เพื่อสื่อความหมายกลั่นแกล้ง เช่น ล้อเล่น, เรียกชื่อ 
•    การกลั่นแกล้งทางสังคม คือ วิธีการทำให้เสียหน้า หรือแกล้งให้สูญเสียความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างตั้งใจ เช่น ขับเพื่อนออกจากกลุ่ม, กระจายข่าวลือให้เสียหาย, ทำให้เกิดความอับอายในที่สาธารณะ
•    การกลั่นแกล้งทางกายภาพ คือ การกลั่นแกล้งที่เกี่ยวข้องกับร่างกายและสวัสดิภาพของผู้ถูกกลั่นแกล้ง เช่น การทุบตี ทำร้าย 

ปัญหาการถูกบูลลี่ หรือการเป็นผู้บูลลี่เองนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติในสังคมทั้งไทยและต่างประเทศ แต่สิ่งที่ทุกคนพยายามมองว่าเป็นเรื่องปกติ หากมองให้ลึกลงไปจะพบว่า การเมินเฉยต่อประเด็นดังกล่าว สร้างความเจ็บปวดในระยะยาวกับเหยื่อ ปกติแล้วการบูลลี่มักมาในรูปแบบการกลั่นแกล้งในโรงเรียน รังแกตามแบบฉบับเด็ก ๆ แต่การบูลลี่ในปัจจุบัน พบว่าเน้นไปที่การพูดจาทำร้าย บั่นทอน เหยียดหยาม ยกปมด้อยขึ้นมาหยอกล้อ 

เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจกลุ่มเด็กอายุ 10 - 15 ปี ใน 15 โรงเรียน พบว่าร้อยละ 91.79 เคยถูกบูลลี่ และวิธีการที่ใช้มากที่สุดคือ การตบหัว ถูกล้อชื่อพ่อชื่อแม่ และถูกเหยียดหยาม และอื่น ๆ เช่น ล้อปมด้อย พูดจาเสียดสี เป็นต้น

การตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่ เหยื่อนั้นต้องแบกรับอารมณ์ความรู้สึกด้อยค่า ไม่มั่นใจ กดดัน ส่งผลให้เด็กเก็บกด อับอาย จนอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ดังกรณีข่าวเมื่อช่วงต้นปีที่แล้วของเด็กชายคนหนึ่ง ชื่อ น้องมาร์ค นักเรียนชายวัยมัธยมต้น ที่เจ้าตัวตัดสินใจจบชีวิตลงด้วยตัวเอง ทั้งที่ยังเด็ก ด้วยการผูกคอตาย โดยสาเหตุของการฆ่าตัวตายของน้องมาร์ค ถูกเปิดเผยเนื่องจากน้องมาร์คได้มีการเขียนข้อความทิ้งเอาไว้ บอกว่าสาเหตุนั้นไม่ใช่เพราะเรื่องเรียน หรือเรื่องอะไร แต่สาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจจบชีวิต เพราะถูกเพื่อนร่วมห้องแกล้งและบูลลี่มาโดยตลอด หรือกรณีของเด็ก ม.1 ที่ก่อเหตุยิงเพื่อนเพราะถูกล้อว่าเป็นตุ๊ด และข่าวน้อง ป.5 ผูกคอในห้องน้ำโรงเรียน หนีการถูกเหยียด

กรณีที่ยกมาเป็นเพียงแค่ตัวอย่าง ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ในรั้วโรงเรียนที่เกิดขึ้นมากมาย โดยที่สังคมหรือผู้ปกครองไม่รับรู้ ในสังคมไทยต้องเลิกมองว่าเรื่องบูลลี่ กลั่นแกล้งกัน เป็นเรื่องปกติธรรมดาแล้วปล่อยผ่าน เรื่องนี้จำเป็นต้องให้ความสำคัญ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เร่งปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย การให้เกียรติกัน 

หากการบูลลี่ยังคงอยู่ในสังคมไทย และไม่มีการจัดการที่เป็นรูปธรรม อาจนำไปสู่ปัญหาทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน ส่งผลต่อการเรียนและความปลอดภัยของเด็ก การรณรงค์เพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยให้ปัญหานี้หมดไป แต่มองว่าผู้ปกครองและสถาบันครอบครัว ควรมีบทบาทในการสอดส่องดูแล สังเกตพฤติกรรม อารมณ์ความรู้สึก อบรมสั่งสอน ทั้งสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก ไม่ให้ตกป็นเหยื่อของการถูกบูลลี่ รวมถึงการสั่งสอนให้ลูกไม่เป็นผู้กระทำการบูลลี่เอง

 

อ้างอิงข้อมูล

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2034455
https://hilight.kapook.com/view/200921
https://www.thairath.co.th/news/society/1729051

.

.

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ประกาศ การรับสมัครนักเรียนชั้น ม.4 EPTS ปีการศึกษา 2564

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน กำหนดรับบุคคลทั่วไปเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษภาคภาษาอังกฤษ (EPTS) ประจำปีการศึกษา 2564 ดังนี้

คุณสมบัติผู้สมัคร
1. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2563 (โดยได้รับอนุมัติผล การจบการศึกษาก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564) 
2. เป็นผู้มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษระดับดี (ทั้งนี้ต้องเข้ารับการทดสอบภาษาอังกฤษ และผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่โรงเรียนกำหนด) 
3. เป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่มีประวัติเสื่อมเสียหรือการถูกตัดคะแนนด้านความประพฤติ จากสถานศึกษาเดิม 
4. เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวหรือโรคติดต่อร้ายแรงที่ขัดต่อการศึกษาใน สถานศึกษา 

จำนวนนักเรียนที่รับ ประมาณ 15 คน ประกอบด้วย 
แผนการเรียนที่ 1 คณิตศาสตร์ - วิทยาศาสตร์ 
แผนการเรียนที่ 2 คณิตศาสตร์- ภาษาอังกฤษ 
แผนการเรียนที่ 3 ภาษาต่างประเทศ

กำหนดการรับสมัคร 
วันพฤหัสบดีที่ 22 - วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564 
กรอกข้อมูลการสมัครระบบออนไลน์ทาง www.satitpatumwan.ac.th พร้อม ชำระเงินค่าสมัครสอบ 1,000 บาท โดยพิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงิน (ใบ pay-in) แล้วนำไปชำระเงินผ่านเคาท์เตอร์ธนาคารกรุงไทย 
*การชำระเงิน pay-in ค่าสมัครผ่านธนาคารกรุงไทยต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อน วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ.2564 เวลา 19.00 น. ถึงจะถือว่าการสมัครครบถ้วน สมบูรณ์ และเมื่อการสมัครและชำระเงินเรียบร้อยแล้วจะไม่มีการคืนเงินค่าสมัครไม่ ว่ากรณีใดๆ *

การตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบและพิมพ์บัตรประจำตัวสอบ 
ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน - วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

กำหนดการสอบคัดเลือก 
วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 
08.30 – 10.00 น. ภาษาอังกฤษ (สอบทุกแผนการเรียน) 
10.30 – 12.00 น. คณิตศาสตร์ (สอบเฉพาะแผนการเรียนที่ 1 และ 2) 
13.00 – 14.30 น. วิทยาศาสตร์ (สอบเฉพาะแผนการเรียนที่ 1)

ประกาศผลการสอบคัดเลือก 
วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 15.00 น. 
*การตัดสินผลการสอบคัดเลือก และการพิจารณารับเข้าเรียนถือการพิจารณาของ คณะกรรมการของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน เป็นที่สิ้นสุด*

ดาวน์โหลดเอกสารการมอบตัว ใบ pay – in และชำระเงินผ่านธนาคารกรุงไทย 
วันจันทร์ที่ 10 – วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มอบตัวเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2564 
วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารสาธิตปทุมวัน 4

อ่านประกาศฉบับเต็ม ประกาศรับสมัคร-ม.4-ปีการศึกษา-2564.pdf
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์โรงเรียน www.satitpatumwan.ac.th
 

เปิด (ปม) ภาคการศึกษา EP.2 : การต่อสู้ฝ่าฟันกับเด็กนับหมื่น สู่การคัดเลือกหลักพัน เป้าหมายสู่โรงเรียนมีชื่อ หรือไขว่คว้าการได้มาซึ่งโอกาส ในรั้วโรงเรียน ‘เตรียมอุดมศึกษา’

การศึกษาถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ของชีวิต นอกจากการอบรมเลี้ยงดูแล้ว พ่อแม่ที่มีความพร้อมหลายท่านได้เตรียมเส้นทางการศึกษาที่ดีให้กับลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ  ในปัจจุบัน การศึกษาไม่ต่างกับการแข่งขันแย่งชิง เพราะความคาดหวังและค่านิยม ที่ต้องได้เข้าเรียนในโรงเรียนดัง เรียนดี กิจกรรมเด่น มีพรสวรรค์รอบด้าน เข้าถึงโอกาส มีสภาพแวดล้อม เติบโตในสังคมที่ดี  จึงไม่แปลกใจที่ทั้งตัวเด็กและผู้ปกครองฟันฝ่าทุกวิถีทาง เพื่อที่จะส่งลูกเข้าไปอยู่ในโรงเรียนแถวหน้าของประเทศ

หลายคนที่ผ่านช่วงวัยมัธยมศึกษามา น่าจะรู้จักหรืออาจเคยไปลองสนามสอบมาแล้วด้วยซ้ำ กับสนามสอบขนาดใหญ่ที่สุดของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา มหกรรมการสอบของเด็กนับหมื่น ความฝันก้าวต่อของเด็กมัธยมปลาย การต่อสู้ที่ต้องดิ้นรน เพื่อเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อ ‘โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา’

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา กรุงเทพมหานคร เขต 1 (สพม.1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 64 ที่ผ่านมา ณ อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ทำการจัดสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่เวลา เวลา 08.30 - 14.00 น. โดยการสอบครั้งนี้มีผู้เข้าสอบ จำนวน 12,765 คน จากทั่วประเทศ โดย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เปิดรับนักเรียน 1,520 คน ใน 8 แผนการเรียน

จากสถิติ ผู้เข้าสมัครสอบ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 12 ปีย้อนหลัง พบว่า จำนวนผู้เข้าสมัครสอบแตะหลักหมื่นทุกปี เด็กจำนวนมากฟิตเตรียมตัวอ่านหนังสือ ทำโจทย์มาเป็นปี ๆ เพื่อเป้าหมายเดียว ขณะที่บางคนก็อยากมาลองสนามสอบ วัดฝีมือ ถือเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตของเด็กสายสามัญ ผ่านการสนับสนุนและผลักดันของพ่อแม่ผู้ปกครอง เหตุใด เด็กทั้งหลายต้องต่อสู้ แข่งขันกับคนนับหมื่น สู่การเป็นผู้ถูกคัดเลือกในจำนวนหลักพัน

จากประวัติที่ยาวนาน ประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงสถิติและผลงานที่สร้างชื่อมารุ่นต่อรุ่นของเด็กเตรียมอุดมศึกษา อาจเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมเด็กจำนวนมากถึงใฝ่ฝัน ดิ้นรนเข้ามาเรียนที่นี่ 

งานแนะแนวโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เปิดเผยสถิติผลการเรียนต่อของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2562 ที่เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2563 พบว่า คณะที่นักเรียนเตรียมอุดมศึกษา เลือกเรียนมากสุด 10 อันดับ ได้แก่

1. คณะแพทยศาสตร์ 2. คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ 3. คณะวิศวกรรมศาสตร์ 4. คณะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ 5. คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี/เศรษฐศาสตร์/บริหาร 6. คณะนิเทศศาสตร์/วารสารศาสตร์/ศิลปกรรมศาสตร์ 7. คณะทันตแพทย์ศาสตร์ 8. คณะเภสัชศาสตร์ 9. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 10. คณะสัตวแพทยศาสตร์ 

ส่วนมหาวิทยาลัยที่นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาเลือกไปเรียนต่อ 9 ลำดับสูงสุด ได้แก่

1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. มหาวิทยาลัยมหิดล 3. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 6.  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 7. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 8. มหาวิทยาลัยศิลปากร  9. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

แม้กระทั่งทุนทั้งในและต่างประเทศที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยม อาทิ ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนวิวัฒนไชยานุสรณ์ ทุนกระทรวงต่างประเทศ ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทุนรัฐบาลญี่ปุ่น นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็เป็นกลุ่มที่สามารถคว้าโอกาส เป็นตัวแทนที่ได้รับคัดเลือกเป็นจำนวนมากทุกปี 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำมีอยู่ทั่วทุกที่ในสังคม ไม่เว้นแม้แต่ในระบอบการศึกษา จึงไม่แปลกใจ ที่เด็กและผู้ปกครองหลายคนต่างดิ้นรน ผลักดันตัวเองและลูกหลานเข้าไปอยูในจุดที่สามารถเข้าถึงโอกาส จะเห็นได้ว่า ทุนที่หลายคนใฝ่ฝัน มหาวิทยาลัยแนวหน้าของไทย รวมทั้งแนวโน้มการศึกษาต่อในต่างประเทศ เด็กเตรียมอุดมศึกษาไม่เคยต้องผิดหวัง แทบจะกวาดเรียบในทุกสนาม

เกิดข้อคำถามที่น่าสนใจว่า ทำไมการได้รับโอกาสทางการศึกษาถึงกระจุกตัวอยู่แค่ที่โรงเรียนมัธยมปลายชั้นนำอันดับ 1 แห่งนี้ ทั้ง ๆ ที่การยกระดับมาตรฐานโรงเรียนมัธยมควรจะกระจายตัว ขยายโอกาสไปสู่โรงเรียนอื่น ๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

เด็กมัธยมปลายหัวกะทิในโรงเรียนประจำจังหวัดบางคน มีศักยภาพไม่ต่างจากเด็กในเมืองหลวง แต่พวกเขาอาจไม่สามารถรับรู้ถึงโอกาส การเข้าถึงทุน เพียงเพราะไม่มีต้นทุนทางข้อมูล ไม่มีเครือข่าย ไม่มีรุ่นพี่ ไม่มีผู้ปกครองสนับสนุน ไม่รับรู้ข่าวสาร ไม่มีความพร้อม ไม่มีติวเตอร์ดี ๆ ไม่มีต้นทุนต่อยอด หากฉุกคิดถึงความเหลื่อมล้ำในจุดนี้ ก็นำไปสู่คำถามต่อมาคือ แล้วเป็นหน้าที่ของใครที่ต้องหาหนทางความเสมอภาค การจัดการมาตรฐานของโรงเรียนมัธยมให้เท่าเทียม หรือเป็นหน้าที่ของเด็กที่ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง?

อ้างอิงข้อมูล: งานแนะแนวโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/926058

.

.

พรุ่งนี้แล้ว!! พร้อมหรือยัง? เปิดแนวปฏิบัติในการเข้าสอบและการใช้พื้นที่สนามสอบ การสอบวัดความพร้อมเพื่อเข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ได้กำหนดการสอบวัดความพร้อมเพื่อเข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2564 ณ สนามสอบโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จึงกำหนดแนวปฏิบัติในการเข้าสอบและการใช้พื้นที่สนามสอบสำหรับผู้เข้าสอบ (นักเรียน) และผู้ปกครองนักเรียน ดังต่อไปนี้

1.) ตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กำหนดให้ผู้เข้าสอบต้องทำแบบสอบถามเพื่อคัดกรองผู้เข้าสอบ โดยสามารถดาวน์โหลดและพิมพ์เอกสารจากเว็บไซต์ของโรงเรียนหรือสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ พร้อมกรอกข้อมูลให้เรียบร้อยล่วงหน้า แล้วนำส่งที่จุดคัดกรองก่อนเข้าสนามสอบ หรือสามารถรับแบบสอบถามได้ที่เจ้าหน้าที่ที่บริเวณจุดคัดกรอง

2.) ผู้เข้าสอบต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ณ จุดคัดกรอง ก่อนเข้าสนามสอบและอาคารสอบ หากมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.3 องศา โรงเรียนจะดำเนินการให้นั่งพักระยะเวลาหนึ่งแล้วตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายอีกครั้ง หากอุณหภูมิร่างกายยังคงสูงอยู่ โรงเรียนจะพิจารณาดำเนินการในลำดับต่อไป

ตำแหน่งจุดคัดกรอง ได้แก่ บริเวณทางเข้าอาคารสาธิตปทุมวัน 1 และประตูทางเข้าบริเวณอาคารสาธิตปทุมวัน 3 โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน และบริเวณทางเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

3.) ผู้เข้าสอบต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ภายในสนามสอบ ยกเว้นกรณีที่มีเหตุจำเป็น

4.) โรงเรียนไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดเข้ามาในห้องสอบ จึงขอแนะนำให้ผู้เข้าสอบนัดหมายจุดนับพบกับผู้ปกครองให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องสอบ ทั้งนี้โรงเรียนจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหาย หรือการสูญหายของอุปกรณ์สื่อสารและของมีค่าที่นักเรียนนำติดตัวเข้ามาในสนามสอบไม่ว่ากรณีใด ๆ

5.) ผู้เข้าสอบและผู้ปกครองสามารถดูข้อมูลสถานที่และอาคารสอบได้จากแผนผังสถานที่สอบจากสื่อประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน หรือป้ายประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ภายในสนามสอบ และสามารถสแกน QR Code เพื่อแสดงเส้นทางไปยังอาคารสอบต่าง ๆ

ทั้งนี้โรงเรียนมีเจ้าหน้าที่และนักเรียนช่วยปฏิบัติงานที่มีบัตรประจำตัวแสดงตน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานภายในโรงเรียนและบริเวณต่าง ๆ ภายในสนามสอบ ผู้เข้าสอบและผู้ปกครองสามารถสอบถามข้อมูลหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับสนามสอบ และสถานที่ภายในสนามสอบได้ตามความเหมาะสม

6.) ไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองเข้ามาในบริเวณอาคารสอบและห้องสอบไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งนี้สนามสอบที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีพื้นที่โดยรอบอาคารสอบที่ผู้ปกครองสามารถรอรับหรือนัดพบกับนักเรียนได้โดยการใช้พื้นที่ดังกล่าว ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด

7.) โรงเรียนอนุญาตให้ผู้ปกครองนำรถเข้ามาภายในโรงเรียนได้ ทั้งนี้สนามสอบโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน ไม่มีที่จอดรถ จึงขอให้หยุดรถเพื่อส่งนักเรียนได้ที่บริเวณจุดที่กำหนดให้เท่านั้น ส่วนสนามสอบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้ปกครองสามารถนำรถไปจอดได้บริเวณสนามฟุตบอลและบริเวณถนนโดยรอบอาคารได้ ซึ่งโรงเรียนกำหนดประตูทางเข้า - ออกที่ประตูหน้าโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน ถนนอังรีดูนังต์ และประตูหน้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ถนนพญาไท จึงขอแนะนำให้ใช้เส้นทางการเดินรถตามความเหมาะสม

หากการใช้พื้นที่จอดรถในสนามสอบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเต็มพื้นที่แล้ว ผู้ปกครองสามารถใช้บริการที่จอดรถที่อาคารจอดรถรถมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เสียค่าบริการจอดรถ) หรือสถานที่อื่นตามความสะดวกของ ผู้ปกครอง

8.) สำหรับผู้เข้าสอบหลักสูตรโครงการนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษภาคภาษาอังกฤษ (EPTS) ซึ่งมีตารางการสอบทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โรงเรียนจะจัดอาหารกลางวันพร้อมน้ำดื่มให้แก่ผู้เข้าสอบหลักสูตรโครงการ EPTS (ในกรณีที่ผู้ปกครองมีการจัดเตรียมอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน จะต้องดำเนินการมอบให้นักเรียนก่อนเข้าอาคารสอบตั้งแต่ช่วงเช้า) สำหรับผู้เข้าสอบหลักสูตรปกติมีกำหนดการสอบเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น เมื่อสิ้นสุดการสอบในเวลา 11.45 น. ผู้ปกครองสามารถรับนักเรียนกลับได้ทันที

9.) กรณีที่ผู้เข้าสอบและผู้ปกครองมีข้อสงสัยหรือปัญหาใด ๆ ในวันสอบ ให้ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานอำนวยการโรงเรียน ชั้น 1 อาคารสาธิตปทุมวัน 1 (สนามสอบโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน) หรือที่ห้องประชุมหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ตึกเฉลิมพระเกียรติ72 พรรษาฯ (สนามสอบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา) หรือติดต่อสอบถามได้ที่อาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักเรียนช่วยปฏิบัติงาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานบริเวณสนามสอบ

อ่านประกาศฉบับเต็ม https://www.satitpatumwan.ac.th/wp-content/uploads/2021/03/แนวปฏิบัติในการสอบ-ม1-2564-1.pdf

รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.satitpatumwan.ac.th/?p=16556

โรงเรียนโพธิสารพิทยากร ประกาศรับสมัครและคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) หรือ International Program ปีการศึกษา 2564

โรงเรียนโพธิสารพิทยากร โรงเรียนในโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) หรือห้องเรียน International Program เป็นหลักสูตรบูรณาการ ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ กับ Government of South Australia

รับสมัคร INTERNATIONAL PROGRAM

- โครงการ International Program (IP)

- เป็นหลักสูตรบูรณาการ ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ กับ Government of South Australia

- รับสมัครนักเรียน ประเภท ความสามารถพิเศษด้านวิชาการ 15 คน / นักเรียนต่างชาติ 10 คน / นักเรียนไทยหรือต่างชาติ (สอบคัดเลือก) 25 คน

- เปิดดูรายละเอียดต่าง ๆ ในประกาศของโรงเรียนได้ที่ลิงค์ http://bit.ly/3qTSubi (ภาษาไทย) / http://bit.ly/3uQhmmP (English Version)

กำหนดการรับสมัคร

วันที่ 1 - 23 มี.ค. 64 รับสมัครออนไลน์ ที่ลิงค์ http://www.ps.ac.th/admission

วันที่ 25 มี.ค. 64 ทดสอบความสามารถนักเรียนสมัครประเภท ความสามารถด้านวิชาการ และนักเรียนต่างชาติ

วันที่ 3 เม.ย. 64 สอบคัดเลือกประเภทนักเรียนไทยหรือต่างชาติ

มีคำถามข้อสงสัยใดๆ ติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มบริหารวิชาการ โทร.024486130 ต่อ 117 (ในวันเวลาราชการ)


ที่มา: http://www.ps.ac.th/psth/?p=8027

กำหนดการสอบวัดความพร้อม เพื่อพิจารณานักเรียนเข้าศึกษา ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2564

กำหนดการสอบวัดความพร้อม เพื่อพิจารณานักเรียนเข้าศึกษา ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2564

07.50 น. : ผู้เข้าสอบเริ่มขึ้นบนอาคารและเข้าห้องสอบ

08.15 น. : ผู้กำกับห้องสอบชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ

08.30 - 09.30 น. : สอบวิชาคณิตศาสตร์

09.30 - 10.15 น. : สอบวิชาวิทยาศาสตร์

10.15 - 11.00 น. : สอบวิชาภาษาไทย

11.00 - 11.45 น. : สอบวิชาสังคมศึกษา

พักรับประทานอาหารกลางวัน

13.20 น. : ผู้เข้าสอบหลักสูตรโครงการ EPTS เริ่มขึ้นบนอาคารและเข้าห้องสอบ

13.30 น. : ผู้กำกับห้องสอบชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ

13.40 - 15.20 น. : สอบวิชาภาษาอังกฤษ (สำหรับผู้เข้าสอบที่สมัครสอบหลักสูตรโครงการ ETPS)


ที่มา: https://www.satitpatumwan.ac.th/?p=16211


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top