เปิด (ปม) ภาคการศึกษา EP.2 : การต่อสู้ฝ่าฟันกับเด็กนับหมื่น สู่การคัดเลือกหลักพัน เป้าหมายสู่โรงเรียนมีชื่อ หรือไขว่คว้าการได้มาซึ่งโอกาส ในรั้วโรงเรียน ‘เตรียมอุดมศึกษา’

การศึกษาถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ของชีวิต นอกจากการอบรมเลี้ยงดูแล้ว พ่อแม่ที่มีความพร้อมหลายท่านได้เตรียมเส้นทางการศึกษาที่ดีให้กับลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ  ในปัจจุบัน การศึกษาไม่ต่างกับการแข่งขันแย่งชิง เพราะความคาดหวังและค่านิยม ที่ต้องได้เข้าเรียนในโรงเรียนดัง เรียนดี กิจกรรมเด่น มีพรสวรรค์รอบด้าน เข้าถึงโอกาส มีสภาพแวดล้อม เติบโตในสังคมที่ดี  จึงไม่แปลกใจที่ทั้งตัวเด็กและผู้ปกครองฟันฝ่าทุกวิถีทาง เพื่อที่จะส่งลูกเข้าไปอยู่ในโรงเรียนแถวหน้าของประเทศ

หลายคนที่ผ่านช่วงวัยมัธยมศึกษามา น่าจะรู้จักหรืออาจเคยไปลองสนามสอบมาแล้วด้วยซ้ำ กับสนามสอบขนาดใหญ่ที่สุดของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา มหกรรมการสอบของเด็กนับหมื่น ความฝันก้าวต่อของเด็กมัธยมปลาย การต่อสู้ที่ต้องดิ้นรน เพื่อเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อ ‘โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา’

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นโรงเรียนสหศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา กรุงเทพมหานคร เขต 1 (สพม.1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 64 ที่ผ่านมา ณ อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ทำการจัดสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่เวลา เวลา 08.30 - 14.00 น. โดยการสอบครั้งนี้มีผู้เข้าสอบ จำนวน 12,765 คน จากทั่วประเทศ โดย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เปิดรับนักเรียน 1,520 คน ใน 8 แผนการเรียน

จากสถิติ ผู้เข้าสมัครสอบ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 12 ปีย้อนหลัง พบว่า จำนวนผู้เข้าสมัครสอบแตะหลักหมื่นทุกปี เด็กจำนวนมากฟิตเตรียมตัวอ่านหนังสือ ทำโจทย์มาเป็นปี ๆ เพื่อเป้าหมายเดียว ขณะที่บางคนก็อยากมาลองสนามสอบ วัดฝีมือ ถือเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตของเด็กสายสามัญ ผ่านการสนับสนุนและผลักดันของพ่อแม่ผู้ปกครอง เหตุใด เด็กทั้งหลายต้องต่อสู้ แข่งขันกับคนนับหมื่น สู่การเป็นผู้ถูกคัดเลือกในจำนวนหลักพัน

จากประวัติที่ยาวนาน ประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงสถิติและผลงานที่สร้างชื่อมารุ่นต่อรุ่นของเด็กเตรียมอุดมศึกษา อาจเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมเด็กจำนวนมากถึงใฝ่ฝัน ดิ้นรนเข้ามาเรียนที่นี่ 

งานแนะแนวโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เปิดเผยสถิติผลการเรียนต่อของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2562 ที่เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2563 พบว่า คณะที่นักเรียนเตรียมอุดมศึกษา เลือกเรียนมากสุด 10 อันดับ ได้แก่

1. คณะแพทยศาสตร์ 2. คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ 3. คณะวิศวกรรมศาสตร์ 4. คณะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ 5. คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี/เศรษฐศาสตร์/บริหาร 6. คณะนิเทศศาสตร์/วารสารศาสตร์/ศิลปกรรมศาสตร์ 7. คณะทันตแพทย์ศาสตร์ 8. คณะเภสัชศาสตร์ 9. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 10. คณะสัตวแพทยศาสตร์ 

ส่วนมหาวิทยาลัยที่นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาเลือกไปเรียนต่อ 9 ลำดับสูงสุด ได้แก่

1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. มหาวิทยาลัยมหิดล 3. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 6.  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 7. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 8. มหาวิทยาลัยศิลปากร  9. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

แม้กระทั่งทุนทั้งในและต่างประเทศที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยม อาทิ ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนวิวัฒนไชยานุสรณ์ ทุนกระทรวงต่างประเทศ ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทุนรัฐบาลญี่ปุ่น นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็เป็นกลุ่มที่สามารถคว้าโอกาส เป็นตัวแทนที่ได้รับคัดเลือกเป็นจำนวนมากทุกปี 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเหลื่อมล้ำมีอยู่ทั่วทุกที่ในสังคม ไม่เว้นแม้แต่ในระบอบการศึกษา จึงไม่แปลกใจ ที่เด็กและผู้ปกครองหลายคนต่างดิ้นรน ผลักดันตัวเองและลูกหลานเข้าไปอยูในจุดที่สามารถเข้าถึงโอกาส จะเห็นได้ว่า ทุนที่หลายคนใฝ่ฝัน มหาวิทยาลัยแนวหน้าของไทย รวมทั้งแนวโน้มการศึกษาต่อในต่างประเทศ เด็กเตรียมอุดมศึกษาไม่เคยต้องผิดหวัง แทบจะกวาดเรียบในทุกสนาม

เกิดข้อคำถามที่น่าสนใจว่า ทำไมการได้รับโอกาสทางการศึกษาถึงกระจุกตัวอยู่แค่ที่โรงเรียนมัธยมปลายชั้นนำอันดับ 1 แห่งนี้ ทั้ง ๆ ที่การยกระดับมาตรฐานโรงเรียนมัธยมควรจะกระจายตัว ขยายโอกาสไปสู่โรงเรียนอื่น ๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

เด็กมัธยมปลายหัวกะทิในโรงเรียนประจำจังหวัดบางคน มีศักยภาพไม่ต่างจากเด็กในเมืองหลวง แต่พวกเขาอาจไม่สามารถรับรู้ถึงโอกาส การเข้าถึงทุน เพียงเพราะไม่มีต้นทุนทางข้อมูล ไม่มีเครือข่าย ไม่มีรุ่นพี่ ไม่มีผู้ปกครองสนับสนุน ไม่รับรู้ข่าวสาร ไม่มีความพร้อม ไม่มีติวเตอร์ดี ๆ ไม่มีต้นทุนต่อยอด หากฉุกคิดถึงความเหลื่อมล้ำในจุดนี้ ก็นำไปสู่คำถามต่อมาคือ แล้วเป็นหน้าที่ของใครที่ต้องหาหนทางความเสมอภาค การจัดการมาตรฐานของโรงเรียนมัธยมให้เท่าเทียม หรือเป็นหน้าที่ของเด็กที่ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง?

อ้างอิงข้อมูล: งานแนะแนวโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/926058

.

.