Friday, 26 April 2024
รู้ทัน...การเมืองไทย

ส่องนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดของ ‘ก้าวไกล’ ความไม่เข้าใจในหลักการจัดระเบียบการปกครองของไทย

วิเคราะห์นโยบายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๖

น่าแปลกที่พรรคการเมืองพรรคนี้ ไม่เข้าใจในหลักการจัดระเบียบการปกครองของประเทศไทย ซึ่งแบ่ง
เป็น ๓ รูปแบบได้แก่ 

๑. ส่วนกลาง โดยราชการส่วนกลางมีอำนาจการตัดสินใจและการดำเนินการต่าง ๆ ได้แก่ คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สังกัดราชการส่วนกลาง ที่สามารถใช้อำนาจบริหารครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นหลักที่ถือเอาสิทธิขาดในการปกครองเป็นที่ตั้ง

๒. ส่วนภูมิภาค โดยเกิดขึ้นจากข้อจำกัดของราชการส่วนกลางทำให้ล่าช้า และไม่ทั่วถึงทุกท้องที่พร้อม ๆ กัน ราชการส่วนกลางจึงแบ่งมอบอำนาจการตัดสินใจทางการบริหารในบางเรื่องให้เจ้าหน้าที่ของราชการส่วนกลางที่ส่งไปประจำปฏิบัติหน้าที่ในภูมิภาค/เขตการปกครองต่าง ๆ (Field office) สามารถปฏิบัติงานให้บรรลุ นโยบาย และเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของราชการส่วนกลาง

๓. ส่วนท้องถิ่น โดยราชการส่วนกลาง โอนอำนาจการปกครอง หรือ การบริหารบางส่วนบางเรื่องที่เกี่ยวกับการให้บริการสาธารณะให้องค์กรหรือนิติบุคคลอื่นรับไปดำเนินการแทน ภายในอาณาเขตตามแต่ละท้องถิ่น ด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น โดยมีอิสระพอสมควร มีราชการส่วนกลางทำหน้าที่เพียงกำกับดูแลและสนับสนุน (มิใช่การบังคับบัญชา) เป็นหลักที่ถือเอาเสรีภาพของประชาชนที่จะปกครองตนเองเป็นที่ตั้ง

รูปแบบของหน่วยงานปกครองท้องถิ่น แม้จะมีความหลากหลายในการจัดองค์กร/รูปแบบของหน่วยการปกครองท้องถิ่น แต่โดยทั่วไปอาจสรุปได้ว่า มีหน่วยการปกครองท้องถิ่นอยู่ ๓ รูปแบบ คือ...

(๑) หน่วยการปกครองท้องถิ่นประเภทมหานคร ได้แก่การบริหารมหานครต่าง ๆ อาทิ กรุงโตเกียว นครนิวยอร์ก กรุงลอนดอน สำหรับบ้านเราได้แก่ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา (ทั้งสองแห่งถูกจัดให้เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ฯลฯ

(๒) หน่วยการปกครองท้องถิ่นของชุมชนที่เป็นเมือง อาทิ เทศบาล (บ้านเรามี ๓ ประเภทตามความหนาแน่นของประชากรได้แก่ นคร เมือง และตำบล) หรือ ในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า เทศมณฑล (County)

(๓) หน่วยการปกครองท้องถิ่นของชุมชนขนาดเล็ก / ชุมชนชนบท อาทิ เมืองขนาดเล็ก/หมู่บ้าน (Village) ของสหรัฐอเมริกา หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลของไทย

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ประเทศไทยมีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดครบทุกจังหวัด โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย สภาจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด โดยสภาจังหวัดประกอบด้วยสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ กำหนดนโยบายการบริหารและควบคุมฝ่ายบริหาร อันมีหัวหน้าฝ่ายบริหาร คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด (ปัจจุบันหัวหน้าฝ่ายบริหารคือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง) เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงาน ด้วยการนำมติหรือนโยบายของสภาจังหวัดไปพิจารณาดำเนินการ โดยมีพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้แก่พื้นที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ของเทศบาลและสุขาภิบาล (ซึ่งยกเลิกไปแล้ว หลังจากการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลจนครบทั่วประเทศ)

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้มีพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งกำหนดให้สภาตำบลซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยย้อนหลัง ๓ ปีตั้งแต่ ๑๕๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล มีฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่น และเป็นนิติบุคคล ทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่มีพื้นที่ในการดำเนินกิจการ จึงสมควรปรับปรุงบทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้สอดคล้องกันและปรับปรุงโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ได้มีการตราพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยกำหนดให้พื้นที่จังหวัดเป็นพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด มีผู้บริหารสูงสูด คือ ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยความเห็นชอบของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ปัจจุบันมาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้ว) เป็นผู้ปกครองและบังคับบัญชาข้าราชการส่วนจังหวัด และดำเนินกิจการส่วนจังหวัดควบคู่ไปกับสภาจังหวัด  


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top