ส่องนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดของ ‘ก้าวไกล’ ความไม่เข้าใจในหลักการจัดระเบียบการปกครองของไทย

วิเคราะห์นโยบายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๖

น่าแปลกที่พรรคการเมืองพรรคนี้ ไม่เข้าใจในหลักการจัดระเบียบการปกครองของประเทศไทย ซึ่งแบ่ง
เป็น ๓ รูปแบบได้แก่ 

๑. ส่วนกลาง โดยราชการส่วนกลางมีอำนาจการตัดสินใจและการดำเนินการต่าง ๆ ได้แก่ คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สังกัดราชการส่วนกลาง ที่สามารถใช้อำนาจบริหารครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นหลักที่ถือเอาสิทธิขาดในการปกครองเป็นที่ตั้ง

๒. ส่วนภูมิภาค โดยเกิดขึ้นจากข้อจำกัดของราชการส่วนกลางทำให้ล่าช้า และไม่ทั่วถึงทุกท้องที่พร้อม ๆ กัน ราชการส่วนกลางจึงแบ่งมอบอำนาจการตัดสินใจทางการบริหารในบางเรื่องให้เจ้าหน้าที่ของราชการส่วนกลางที่ส่งไปประจำปฏิบัติหน้าที่ในภูมิภาค/เขตการปกครองต่าง ๆ (Field office) สามารถปฏิบัติงานให้บรรลุ นโยบาย และเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของราชการส่วนกลาง

๓. ส่วนท้องถิ่น โดยราชการส่วนกลาง โอนอำนาจการปกครอง หรือ การบริหารบางส่วนบางเรื่องที่เกี่ยวกับการให้บริการสาธารณะให้องค์กรหรือนิติบุคคลอื่นรับไปดำเนินการแทน ภายในอาณาเขตตามแต่ละท้องถิ่น ด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น โดยมีอิสระพอสมควร มีราชการส่วนกลางทำหน้าที่เพียงกำกับดูแลและสนับสนุน (มิใช่การบังคับบัญชา) เป็นหลักที่ถือเอาเสรีภาพของประชาชนที่จะปกครองตนเองเป็นที่ตั้ง

รูปแบบของหน่วยงานปกครองท้องถิ่น แม้จะมีความหลากหลายในการจัดองค์กร/รูปแบบของหน่วยการปกครองท้องถิ่น แต่โดยทั่วไปอาจสรุปได้ว่า มีหน่วยการปกครองท้องถิ่นอยู่ ๓ รูปแบบ คือ...

(๑) หน่วยการปกครองท้องถิ่นประเภทมหานคร ได้แก่การบริหารมหานครต่าง ๆ อาทิ กรุงโตเกียว นครนิวยอร์ก กรุงลอนดอน สำหรับบ้านเราได้แก่ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา (ทั้งสองแห่งถูกจัดให้เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ฯลฯ

(๒) หน่วยการปกครองท้องถิ่นของชุมชนที่เป็นเมือง อาทิ เทศบาล (บ้านเรามี ๓ ประเภทตามความหนาแน่นของประชากรได้แก่ นคร เมือง และตำบล) หรือ ในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า เทศมณฑล (County)

(๓) หน่วยการปกครองท้องถิ่นของชุมชนขนาดเล็ก / ชุมชนชนบท อาทิ เมืองขนาดเล็ก/หมู่บ้าน (Village) ของสหรัฐอเมริกา หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลของไทย

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ประเทศไทยมีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดครบทุกจังหวัด โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย สภาจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด โดยสภาจังหวัดประกอบด้วยสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ กำหนดนโยบายการบริหารและควบคุมฝ่ายบริหาร อันมีหัวหน้าฝ่ายบริหาร คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด (ปัจจุบันหัวหน้าฝ่ายบริหารคือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง) เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงาน ด้วยการนำมติหรือนโยบายของสภาจังหวัดไปพิจารณาดำเนินการ โดยมีพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้แก่พื้นที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ของเทศบาลและสุขาภิบาล (ซึ่งยกเลิกไปแล้ว หลังจากการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลจนครบทั่วประเทศ)

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้มีพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งกำหนดให้สภาตำบลซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยย้อนหลัง ๓ ปีตั้งแต่ ๑๕๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล มีฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่น และเป็นนิติบุคคล ทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่มีพื้นที่ในการดำเนินกิจการ จึงสมควรปรับปรุงบทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้สอดคล้องกันและปรับปรุงโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ได้มีการตราพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยกำหนดให้พื้นที่จังหวัดเป็นพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด มีผู้บริหารสูงสูด คือ ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยความเห็นชอบของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ปัจจุบันมาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้ว) เป็นผู้ปกครองและบังคับบัญชาข้าราชการส่วนจังหวัด และดำเนินกิจการส่วนจังหวัดควบคู่ไปกับสภาจังหวัด  

การบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในปัจจุบันเป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม ๒ ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ และ พ.ศ.๒๕๔๖ กำหนดให้มีหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งเรียกว่า "องค์การบริหารส่วนจังหวัด" โดยอยู่ในทุกจังหวัด ๆ ละ ๑ แห่ง รวม ๗๖ แห่ง มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีพื้นที่รับผิดชอบทั่วทั้งจังหวัด โดยทับซ้อนกับพื้นที่ของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น คือ เทศบาล สุขาภิบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดนั้น ความเป็นนิติบุคคลก่อให้เกิดความสามารถในการทำนิติกรรม ความเป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นก่อให้เกิดอำนาจหน้าที่และขอบเขตพื้นที่ในการใช้อำนาจหน้าที่นั้น

อำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๔๖ องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้...

องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
๑) ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
๒) จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
๓) สนับสนุนสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
๔) ประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
๕) แบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่สภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
๖) อำนาจหน้าที่ของจังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ เฉพาะภายในเขตสภาตำบล
๗) คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม บำรุงรักษาศิลปะจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
๘) จัดทำกิจการใดๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกิจการนั้นเป็นการสมควรให้ราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ที่อยู่ร่วมกันดำเนินการหรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดดำเนินการ แต่ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
๙) จัดทำกิจการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้งนี้บรรดาอำนาจหน้าที่ใดซึ่งเป็นของราชการส่วนกลาง หรือราชการส่วนภูมิภาค อาจมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิบัติได้ ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

นอกจากนี้ กฎหมายยังได้กำหนดต่อไปอีกด้วยว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสามารถทำหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทอื่นๆ ได้เช่นกัน หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ร้องขอและได้รับความยินยอมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ข้อจำกัดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมิได้มีอยู่แต่ภายในเขตของจังหวัดตนเท่านั้น หากองค์การบริหารส่วนจังหวัดใดได้รับการร้องขอและยินยอมจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ได้รับการร้องขอและยินยอมก็สามารถดำเนินการกิจการที่ได้รับการร้องขอได้เช่นกัน องค์การบริหารส่วนจังหวัดของไทยในปัจจุบันจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ และตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๔๖ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมเขตจังหวัด โดยแบ่งโครงสร้างออกเป็น ๒ ฝ่าย ได้แก่ สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฝ่ายนิติบัญญัติ) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฝ่ายบริหาร) ซึ่งทั้งสองฝ่ายมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน 

ผลงานของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นสองหน่วยงานที่ต่างฝ่ายต่างสร้างถนนสายเดียวกันในพื้นที่ของตนเอง แต่สร้างเสร็จแล้วปรากฏว่า ถนนไม่บรรจบเชื่อมต่อกัน

แล้วทำไมจึงยังมีส่วนภูมิภาคปฏิบัติหน้าที่อยู่ในแต่ละจังหวัด?

เพราะในการบริหารราชการทั้ง ๓ ส่วนมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน แม้หน่วยการปกครองท้องถิ่นในแต่ละท้องที่อาจจะสามารถบริหารจัดการภารกิจในท้องถิ่นของตนเองได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็ตาม แต่ความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับหน่วยการปกครองท้องถิ่นต่างท้องที่ ซึ่งต้องมีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคที่ใช้ต้องร่วมกัน อาทิ ถนน ทางรถไฟ แม่น้ำลำคลอง สะพาน ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนจากส่วนกลางนำไปปฏิบัติและประสานกับส่วนท้องถิ่นด้วยส่วนภูมิภาค เพื่อให้สอดรับกับแผนงานโครงการและงบประมาณจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นเช่นนี้ในทุกประเทศบนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐเดี่ยวหรือหลายรัฐก็ตาม 

แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็มีหน่วยงานที่เป็นส่วนภูมิภาคเช่น สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) สำนักงาน แอลกอฮอลล์ ยาสูบ อาวุธปืน และวัตถุระเบิด (ATF) สำนักงานสรรพากรแห่งสหรัฐอเมริกา (IRS) ฯลฯ หน่วยงานเหล่านี้ต่างมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่มีสำนักงานภูมิภาคกระจายอยู่ทั่วประเทศ 

ดังนั้นอำนาจหน้าที่ของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็คือ ผู้บริหารท้องถิ่นสูงสุดของแต่ละจังหวัดอยู่แล้ว ซึ่งทำหน้าที่ได้ครอบคลุมทั้งจังหวัดตามอำนาจหน้าที่เท่าที่มีอยู่แล้วรวมทั้งงบประมาณด้วย การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าในแต่ละจังหวัด ทำให้ชวนสงสัยว่า พรรคการเมืองพรรคนี้รู้จักและเข้าใจบทบาทหน้าที่ของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้วหรือยัง? 

ดังนั้นพี่น้องชาวไทยต้องไม่สับสนในเรื่องนี้ เพราะมีผู้พยายามเอาเรื่องนี้มาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดให้เหมือนกรุงเทพมหานครที่ไม่จำเป็นต้องมีราชการส่วนภูมิภาค เพราะราชการส่วนกลางทั้งหมดตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่แล้ว ผู้ว่ากรุงเทพมหานครก็มีสถานะเช่นเดียวกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นเอง และชื่อที่ควรใช้เรียกผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ต้องเป็นนายกกรุงเทพมหานครหรือนายกมหานครกรุงเทพ (Mayor of Bangkok) เช่นเดียวกับนายกเมืองพัทยา (Mayor of Pattaya City) ไม่ใช่ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (Bangkok Governor) ดังเช่นทุกวันนี้ เพราะกรุงเทพมหานครก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกรูปแบบหนึ่งนั้นเอง 

Sadiq Khan นายกเทศมนตรีมหานครลอนดอน (ไม่ใช่ผู้ว่ามหานครลอนดอน) คนปัจจุบัน