Monday, 12 May 2025
Soft News Team

รวมแหล่งทุนการศึกษาจากหน่วยงานในประเทศไทย ทุนการศึกษาต่างประเทศ ทุนการศึกษาโครงการพิเศษ และทุนการศึกษาจากสถานศึกษา

เว็บรวมทุนการศึกษาต่างประเทศ

เว็บไซต์เหล่านี้เป็นเว็บรวมทุนเรียนต่อต่างประเทศ ทั้งทุนระดับมัธยม ทุนปริญญาตรี ทุนปริญญาโท ทุนปริญญาเอก ทุนระยะสั้นและทุนแลกเปลี่ยน ทุนเรียนภาษา และทุนวิจัยอบรม

 

•WeGoInter (https://www.wegointer.com/)

•Hotcourses Thailand (https://www.hotcourses.in.th/study/international-scholarships.html)

•Scholarship.in.th (https://www.scholarship.in.th/)

•Inter Scholarship (http://th.interscholarship.com/)

•Scholarships for Development (https://www.scholars4dev.com/)

•Dek-D (https://www.dek-d.com/studyabroad/scholarship/)

•Educatepark (https://www.educatepark.com/ทุนการศึกษา)

•สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.ศธ. (https://www.bic.moe.go.th/index.php/news-scholar-menu)

•InternationalScholarships (https://www.internationalscholarships.com/)

•Scholarship Lab (https://www.scholarshipslab.com/)

 

ทุนการศึกษาจากหน่วยงานในประเทศไทย

•ทุนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)

มีทุนการศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไปอยู่หลากหลายประเภทด้วยกัน ซึ่งเยาวชนสามารถติดตามข่าวรับสมัครได้ ตัวอย่างทุนจากสำนักงาน ก.พ. เช่น ทุนในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทุนสำหรับผู้กำลังศึกษาระดับมัธยมศึกษา (ทุนศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป) ทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูง (ทุน UIS) (ทุนศึกษาระดับ ปริญญาตรี ปีสุดท้าย และปริญญาโท) และ ทุนบุคคลทั่วไประดับปริญญา (ทุนศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป)

เว็บไซต์: https://www.ocsc.go.th/scholarship/personal

 

•ทุนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

สวทช. มีการให้ทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมการแสดงออกถึงความสามารถ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพด้านการทำวิจัย และการสร้างผลงานผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) โครงการสร้างปัญญาวิทย์ผลิตนักเทคโน (YSTP) ทุนระดับปริญญาโท (TAIST-Tokyo Tech) โครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST) โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อการวิจัยและพัฒนาสำหรับภาคอุตสาหกรรม (NUI-RC) และโครงการทุนนักวิจัยหลังปริญญาเอก (Postdoctoral Fellowship Program)

เว็บไซต์: http://www.nstda.or.th/th/scholarship-in-nstda

 

•ทุนมูลนิธิยุวพัฒน์

เป็นทุนสำหรับนักเรียนฐานะยากจนที่กำลังเรียนอยู่มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 (เฉพาะนักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายโครงการร้อยพลังการศึกษาเท่านั้น) หรือ มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 (นักเรียนที่เลือกเรียนต่อสายอาชีพเท่านั้น) โดยนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกเป็นนักเรียนของมูลนิธิยุวพัฒน์ จะได้รับทุนการศึกษาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ ปวช. 3

เว็บไซต์: https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/join/

 

•ทุนมูลนิธิจรูญเอื้อชูเกียรติ

ทุนการศึกษาของมูลนิธิจรูญเอื้อชูเกียรติครอบคลุมการศึกษาสายสามัญในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) และการศึกษาสายวิชาชีพ ได้แก่ระดับ ปวช. และ ปวส. โดยทุนนี้เป็นทุนฟรีไม่มีเงื่อนไขคุณสมบัติทั่วไปของผู้รับทุนคือ เป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่นอกกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีผลการเรียนดีตามเกณฑ์ที่มูลนิธิฯ กำหนด และสถาบันที่ผู้รับทุนต้องการเข้าศึกษาเป็นสถาบันของรัฐ

เว็บไซต์: https://www.cefoundation.or.th/node/10

 

•โครงการทุนนักเรียนแลกเปลี่ยนเต็มจำนวนและบางส่วน Kansinee Scholarship

กองทุน Kansinee Scholarship มีวัตถุประสงค์จัดสอบแข่งขันชิงทุนการศึกษาโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เพื่อให้นักเรียนที่มีผลการเรียนที่ดีและโดดเด่นได้มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนเป็นระยะเวลา 1 ปีการศึกษา

เว็บไซต์: https://www.engenius.co.th

 

ทุนจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

นอกจากเว็บไซต์รวมทุนการศึกษาหลาย ๆ แหล่งที่ได้กล่าวถึงด้านบนแล้ว หลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็ยังมีการให้ทุนการศึกษาของมหาลัยวิทยาลัยของตัวเองด้วย อาทิ

 

•ทุนการศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

มีทุนการศึกษาบุคคลที่มีความสามารถทางศิลปะการแสดง ดนตรี และกีฬาดีเด่น ทั้งทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยเองและองค์กรภายนอก

เว็บไซต์: https://www.rmutp.ac.th/ทุนการศึกษา

 

•ทุนของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

มีทุนสำหรับนักศึกษาใหม่ประเภททุนเรียนดี ทุนความสามารถพิเศษด้านวิชาการ และทุนเสริมโอกาส

เว็บไซต์: https://www.dpu.ac.th/bachelor-foundations.html

 

•ทุนการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีทุนการศึกษาทั้งจากมหาวิทยาลัยและจากองค์กรภายนอก แบ่งเป็นทุนอุดหนุนการศึกษา ทุนรางวัลเรียนดี ทุนสร้างชื่อเสียง และทำคุณประโยชน์ ทุนอุดหนุนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และทุนอุดหนุนการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา

เว็บไซต์: https://www.chula.ac.th/admissions/scholarships/

 

•ทุนการศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

มีทุนการศึกษาทั้งก่อนเข้าศึกษาและขณะศึกษา โดยมีทั้งทุนระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา โดยลักษณะของทุนมีทั้งทุนให้เปล่า ทุนจ้างงานนักศึกษา ทุนจ้างงานผู้ช่วยวิจัยและผู้ช่วยสอน

เว็บไซต์: http://admission.kmutt.ac.th/afford

 

•ทุนการศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต

มีทุนการศึกษากว่า 500 ทุน มอบให้แก่ผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านกีฬา ดนตรี ศิลปวัฒนธรรม ศิลปิน สิ่งประดิษฐ์ และนิเทศศาสตร์

เว็บไซต์: https://www2.rsu.ac.th/info/scholarships

 

•ทุนการศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มีทุนหลายประเภท ทั้งทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ทุนส่งเสริมการศึกษา ทุนภายนอกจากบุคคล/บริษัท ทุนสงเคราะห์จ้างนักศึกษาทำงาน ทุนรางวัล/บทความ นอกจากนี้ยังมีทุนการศึกษาของแต่ละคณะที่มอบให้แก่นักศึกษาในคณะนั้น ๆ อีกด้วย

เว็บไซต์: http://satu.colorpack.net/index.php/th/student-services/scholarships2

 

•ทุนมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

มีทั้งทุนการศึกษาที่มอบให้กับนักเรียนระดับมัธยมทั่วประเทศ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีโครงการต่าง ๆ เพื่อค้นหาผู้รับทุนที่มีความสามารถในด้านนั้น ๆ เช่น ด้านกีฬา ด้านภาษา ด้านวิชาการ เป็นต้น

เว็บไซต์: https://www.bu.ac.th/th/curriculum/bachelors-degree/scholarships

 

•ทุนการศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล

มีแหล่งทุนสนับสนุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ทั้งทุนจากภายในมหาวิทยาลัย และทุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

เว็บไซต์: https://mahidol.ac.th/th/new-current-student/scholarship/

 

•ทุนการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มีทุนการศึกษาส่วนกลางที่เจ้าของทุนไม่ได้ระบุให้นักศึกษาคณะใดคณะหนึ่งโดยเฉพาะ มีจำนวนปีละประมาณ 600 ทุน และทุนการศึกษาคณะ ซึ่งเป็นทุนการศึกษาที่เจ้าของทุนระบุคณะของนักศึกษาที่ต้องการจะให้ทุนการศึกษา มีจำนวนปีละประมาณ 1,500 ทุน นอกจากนี้ยังมีทุนให้กับการเตรียมความพร้อมเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย

เว็บไซต์: https://www.cmu.ac.th/th/content/D7ABB770-4C2B-41EE-825E-720939F6DFD4

.

•ทุนการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีปทุม (กทม.)

มีทุนการศึกษาหลายประเภท เช่น ทุนบุตรครู ทุนความสามารถพิเศษด้านกีฬาและ ศิลปวัฒนธรรม มีทั้งทุนบางส่วน 50% และ 100%

เว็บไซต์: https://www.spu.ac.th/scholarship/


ขอบคุณข้อมูล: https://www.unicef.org/thailand/th/stories/แหล่งทุนการศึกษาสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน

สพฐ.เลื่อนสอบเข้า ม.1 และ ม.4 ปีการศึกษา 2564 ส่วนเปิดเทอมยังไม่เลื่อน เตรียมการสอบของแต่ละโรงเรียนให้มีความพร้อม และคำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการและนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประชุมประเมินสถานการณ์การปิด-เปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2564 และการรับนักเรียนในสังกัดสพฐ. ภายใต้สถานการณ์การระบาดโควิด-19


โดยมีมติ ให้ประกาศเลื่อนการสอบเข้าเรียน

-ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากเดิม วันที่ 1 พ.ค.64 เป็นวันที่ 8 พ.ค.64 และ ประกาศผลวันที่ 11 พ.ค.64 แล้วจึงรายงานตัวและมอบตัววันที่ 12 พ.ค.64

-ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากเดิมวันที่ 2 พ.ค.64 เป็นวันที่ 9 พ.ค.64 จากนั้นประกาศผลวันที่ 12 พ.ค.64 แล้วจึงรายงานตัวและมอบตัววันที่ 13 พ.ค.64

ทั้งนี้สพฐ. จะจัดเตรียมการสอบของแต่ละโรงเรียนให้มีความพร้อมและคำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียน สามารถยื่นความจำนงให้จัดสรรที่เรียนได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในวันที่ 12-13 พ.ค.64 ต่อไป

ส่วนเรื่องการเปิดภาคเรียน ยังคงเป็นไปตามกำหนดเดิมคือวันที่ 17 พ.ค.64 แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ยังไม่ดีขึ้น อาจมีการเสนอเรื่องการเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไป แต่จะต้องขึ้นอยู่กับ ศบค.เป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง


ที่มา: https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/145976?utm_campaign=%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%9A&utm_source=line&utm_medium=oa

SkillLane บริษัท Online Learning Platform และ Digital Training Platform คว้าอันดับหนึ่งบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในธุรกิจการศึกษา และ ติดอันดับ 36 ของบริษัทที่มีการเติบโตสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก ปี 2021

นายฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง SkillLane กล่าวว่า SkillLane ได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในรายชื่อ 500 บริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดของเอเชียแปซิฟิกปี 2021 โดยสื่อระดับโลก Financial Times และ Nikkei Asia จากอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่แข็งแกร่งของเราในช่วงปี 2016-2019 ที่สูงกว่า 100% โดย SkillLane ติดอันดับ 36 ของบริษัทที่มีการเติบโตสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก และอันดับหนึ่ของงบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในธุรกิจการศึกษา

การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเสมือนตัวเร่งการเจริญเติบโตของธุรกิจออนไลน์ ซึ่ง SkillLane มองว่า โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจเทคโนโลยีด้านการศึกษา จะสอดคล้องเทรนด์การศึกษาหลักๆ ในโลกยุคใหม่ ได้แก่

1.) Lifelong Learning การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมีองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน

2.) On-Demand Learning ผู้คนในยุคปัจจุบันต้องการได้รับการตอบสนองทันที รวดเร็ว ในทุกเรื่อง ไม่มีเว้นแม้แต่การเรียนการศึกษา

และ 3.) Personalized Learning รูปแบบ วิธีการ หรือสไตล์ในการเรียนการสอนที่สามารถปรับแต่ง (Tailor Made) ให้ตอบโจทย์ สอดคล้องกับความชื่นชอบที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคลได้


ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/tech/476550

แผลเป็นที่คาดว่าการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบที่ยาวนานและอาจถาวร คือแผลเป็นด้านการศึกษา โดยสามารถมองเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ไปพร้อม ๆ กัน

หมายเหตุ – ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอแนะการรับมือสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในระบบการศึกษาหัวข้อ การจัดการ “แผลเป็นด้านการศึกษา” จากโควิด-19 เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

มีการกล่าวกันมากว่าการระบาดของโควิด-19 จะก่อให้เกิด “แผลเป็น” ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการตอกย้ำแนวโน้มการตกงานของกลุ่มแรงงานที่ก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก (ซึ่งสำหรับประเทศไทยอาจมีเกือบประมาณ 40% ของแรงงานทั้งหมด) ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง เช่น ครอบครัวที่มีคนแก่ คนพิการ เด็กเล็ก ยากจน ถูกผลกระทบแรงกว่ากลุ่มอื่นและมีต้นทุนในการปรับตัวเพื่อรับแรงกระแทกน้อยกว่า จนทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจและต้นทุนสังคมถูกกัดกร่อนและร่อยหรอจนอาจยากจะฟื้นตัว แต่ละแผลเป็นมีเรื่องให้ต้องขบคิดกันมากว่าจะทำอย่างไรในการป้องกันหรือให้ความช่วยเหลือคนเหล่านั้นได้บ้าง

อีกหนึ่งแผลเป็นที่คาดว่าการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบที่ยาวนานและอาจถาวร คือแผลเป็นด้านการศึกษา โดยจะมองเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสไปพร้อม ๆ กัน

ความท้าทายมีหลายประการ อย่างที่ทราบกันดีว่าการปิดโรงเรียนและการเรียนออนไลน์ในช่วงที่มีการระบาดก่อให้เกิดผลกระทบต่อนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ อย่างมาก นักเรียนจำนวนมากเรียนรู้จากการเรียนออนไลน์ได้อย่างจำกัดมาก ไม่ว่าจะเป็นเพราะขาดอุปกรณ์ ขาดสัญญาณอินเตอร์เน็ต ขาดผู้ปกครองที่มีเวลาช่วยแนะนำและกำกับการเรียน ขาดสมาธิ

ปัญหาเหล่านี้ยิ่งหนักขึ้นถ้าเป็นนักเรียนยากจน ซึ่งอาจมีเรื่องอื่นเพิ่มเติม เช่น ช่วงเรียนออนไลน์ไม่อยากเปิดวิดีโอเพราะอายสภาพบ้าน ทำให้ปฏิสัมพันธ์ยิ่งน้อยลง และถ้าเด็กยิ่งอายุน้อยก็ยิ่งมีโอกาสเรียนรู้ได้น้อย (มีงานวิจัยหนึ่งระบุว่าเด็กอนุบาล 3 ของไทยเรียนรู้น้อยลงคิดเป็นประมาณ 4-5 เดือน) ผู้ปกครองเองก็จัดเวลายาก เพราะต้องทำงานไปด้วย ดูแลลูกหลานที่เรียนที่บ้านไปด้วย ครูเองก็ต้องปรับตัวมากในการสอนออนไลน์ บางคนปรับตัวไม่ได้ก็ทำให้ประสิทธิภาพการสอนหย่อนลง

แนวทางการลดผลกระทบก็มีการพูดถึงกันบ้างแล้วไม่ว่าการสลับวันเรียน การลดขนาดห้อง การปรับหลักสูตร นอกจากนี้ ยังมีแนวทางอื่นที่มีการทำในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษมีการตั้งกองทุนชื่อว่า Education catch-up initiatives เพื่อช่วยสอนเสริมและฟื้นฟูความรู้ให้กับนักเรียนที่เรียนรู้น้อยลงในช่วงออนไลน์ ในอเมริกามีโครงการคล้ายกันคือ Acceleration Academies, High Intensity Tutoring หรือมีการคิดค้นกระบวนการเรียนรู้ที่ง่าย ๆ ใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวในชุมชน เช่น ในประเทศอินเดียเป็นต้น

ดังนั้น จะขอเน้นเรื่องการแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งก็สามารถทำได้หลายประการ กล่าวคือ

ประการแรก ควรใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดจากกระแสดิจิทัลในกระบวนการเรียนรู้ (digital learning) ที่ถูกบังคับให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เช่น ในกลุ่มครูและอาจารย์ มีการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และระดมสมองถึงวิธีการใหม่ๆ ในการสอนให้มีประสิทธิภาพภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ เช่น การใช้การสอนแบบ multi-mode คือไม่ใช่ online หรือ offline อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ผสมผสานกัน ควรมีนโยบายส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเช่นนี้ให้มีความกว้างขวางยิ่งขึ้น

หรือในกลุ่มผู้ปกครองก็ควรใช้ประโยชน์จากความรู้ความเข้าใจถึงแนวทางในการกระตุ้นการเรียนรู้ของลูกหลานในระหว่างที่ทำหน้าที่กำกับและสนับสนุนการเรียนที่บ้าน แล้วทำการขยายความเข้าใจนี้ไปสู่กลุ่มผู้ปกครองด้วยกัน กลุ่มครูและอาจารย์ รวมถึงการถ่ายทอดสู่วงกว้างด้วย

นอกจากนั้น ยังอาจต่อยอดแนวโน้มเดิมที่เกิดก่อนการระบาดของโควิด เช่น การเปิดคอร์สเรียนออนไลน์แบบ MOOC (Massive Online Open Course) ที่เริ่มในต่างประเทศและได้แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยโดยมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ปัจจุบันมีการจัดตั้ง Platform รวม ชื่อ Thai MOOC (Thailand Massive Online Open Course) และ Thailand Cyber University ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกระดับการศึกษา ทุกอายุ และทุกอาชีพ โดยในช่วงโควิดมีผู้เรียนต่อวันเพิ่มขึ้นเกือบ 60% และมีเนื้อหาวิชาเกือบ 500 วิชา ผู้เรียนสามารถได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิ หรือกระทั่งโอนหน่วยกิตเพื่อไปรับปริญญาได้

สิ่งที่ควรปรับปรุงในเรื่องนี้ ควรเป็นเรื่องการทำให้แน่ใจว่าหลักสูตรและเนื้อหาที่สอนตรงกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเร็วของตลาดแรงงาน ซึ่งการสอนแบบ MOOC มีจุดเด่นในเรื่องความยืดหยุ่นของเนื้อหาได้อยู่แล้วจึงควรใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นการสอนที่ไม่จำกัดวุฒิการศึกษาและอายุของผู้เรียน จึงอยากให้มีการคิดนอกกรอบในเรื่องเนื้อหาด้วย

เช่น อาจเป็นเนื้อหาที่เหมาะกับแรงงานที่กำลังจะถูกทอดทิ้งจากตลาดแรงงาน เช่นผู้ที่สูงวัยกว่า 40 ปี และมีการศึกษาไม่เกินประถมหรือมัธยมต้น MOOC ควรใช้ความยืดหยุ่นของเนื้อหาสร้างทักษะให้คนกลุ่มนี้ด้วย โดยอาจไม่ใช่ทักษะที่ไม่มีมูลค่าตลาดก็ได้ เช่น การดูแลเด็กเล็ก การดูแลผู้สูงวัย การรักษาสภาพแวดล้อม เป็นต้น

ประการที่สอง กระทรวงศึกษาธิการควรปฏิรูปแนวทางการวัดผลการเรียนให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในภาวการณ์ใหม่ โดยถือโอกาสนี้ปรับปรุงระบบ KPI ที่ล้าสมัยและไม่เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไปพร้อมกัน

ประการที่สาม ควรยกระดับการใช้กลไกชุมชนในกระบวนการเรียนรู้ เช่น การสร้าง “อาสาสมัครการศึกษา” ที่ทำหน้าที่คล้ายอาสาสมัครสาธารณสุข คือ มีในทุกหมู่บ้าน เรื่องนี้มีการทำบ้างแล้วในการระบาดรอบแรก เช่น จ.ราชบุรี ซึ่งสนับสนุนโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จึงควรขยายให้กว้างขวางขึ้น รวมทั้งการระดมคนในชุมชนให้ช่วยสร้างอุปกรณ์การเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ประการที่สี่ จากข้อเสนอแนะต่าง ๆ ข้างต้นผสมผสานกัน น่าจะก่อให้เกิดบริบทของการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ด้วย โดยเป็นการร่วมมือกันของภาคีต่างๆ และนำนวัตกรรมต่างๆ ที่ค้นพบและทดลองใช้ในช่วงนี้มาเป็นบทเรียน และอยากให้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมเป็นกลุ่มแรงงานที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เช่น ผู้สูงวัยเกิน 40 ปี และมีการศึกษาไม่เกินมัธยมต้นที่กล่าวถึงข้างต้น

ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีเรื่องใหม่ ๆ อีกหลายประการที่เกิดขึ้นในกระบวนการศึกษาช่วงนี้ที่ควรเอามาสกัดเป็นบทเรียนและใช้ประโยชน์ในระยะยาวได้


ขอบคุณที่มา: https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_2676168

เราอยู่ในระบบที่ถูกกดขี่ให้มีความรู้ แต่กลับสร้างกรอบทางความคิดโดยไม่ได้ตั้งใจ

ปรากฎการณ์สังคมปัจจุบันสะท้อนว่าเราไม่ได้คาดหวังให้เด็กได้แค่ความรู้จากการศึกษา แต่อยากให้เด็กได้มีความคิดด้วย แต่ โรงเรียน ครอบครัว สังคม ต้องร่วมกัน มาบอกให้แต่โรงเรียนสร้าง แล้วที่บ้านไม่สร้าง สังคมไม่สร้าง สุดท้ายก็ติดกรอบเดิม

แล้วถ้าที่บอกว่า ดูดีมีความคิด หรือ ดูดีมีเหตุผล มันคือมีความคิดหรือมีความเหตุผลจริง หรือว่า แค่เราคิดในแบบที่สังคมคิดและมีเหตุผลตามที่สังคมบอกว่าอะไรมีเหตุผล เราอยู่ในโลกที่ให้ความสำคัญกับการกระทำซึ่งเป็นผลของความคิด แต่เราไม่ได้ให้คุณค่ากับกระบวนการทางความคิด #เหยื่อของโลกความรู้ เพราะโลกไม่มีอะไรถูกหมด และไม่มีอะไรผิด อยู่ที่ definition ของคำว่า ถูก ผิด สมควร หรือ ไม่สมควร ของสังคมนั้นๆ ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง อะไรที่บอกว่าถูกตอนนั้น อาจจะผิดในอีก 10 ปีข้างหน้า

เราส่งเสริมให้คนมีกระบวนทัศน์ หรือความคิดที่มี dynamic ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตามกรอบเวลาและสถานที่ให้ได้ เพื่อให้รับมือกับปัญหาทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งก็ aware ว่าคิดง่าย ทำยาก ดังนั้น stakeholder ของการศึกษาต้องมีส่วนร่วมในการสร้างระบบ และต้องเป็นระบบมีโครงสร้างที่สามารถคงสถานะได้ แต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนได้ อันนี้แหละความยาก อารมณ์เหมือนสร้างตึกยังไง ที่สามารถยังคงเป็นตึกได้ แม้กระทั้งเจอลม เจอแรงสั่นจากแผ่นดินไหว อันนี้เป็น metaphor เฉยๆ

การศึกษาไทยตอนนี้ ปัญหาที่สามารถโทษมากกว่า mental model 

การศึกษาที่มุ่งแต่ให้ผู้เรียนมีความรู้ โดยไม่ได้ให้ผู้เรียนให้ความสำคัญกับกระบวนการคิด ดังนั้นจึงส่งผลในการประเมินด้วยเช่นกัน เพราะมันง่าย และชัดเจน สามารถวัดว่าใครมีความรู้ผ่านข้อสอบที่วัดความรู้ แต่ไม่ได้มีข้อสอบที่ดูว่า ทำไมถึงคิดแบบนั้น แล้วในการสอนให้คิด ไม่ใช่การเอาความคิดของผู้สอนไปใส่แล้วให้ผู้เรียนคิดแบบที่ผู้สอนเข้าใจ เพราะคนเราอาจจะมีวิธีการในการเข้าใจเรื่องต่างๆ ในมุมหรือด้านที่ไม่เหมือนกัน 

เช่น ทำไมคนนึงเรียนเลขเก่ง เพราะเค้าสามารถเข้าใจตรรกะผ่านคำอธิบายและทฤษฏีของตัวเอง ทำไมภาษาเก่งเพราะสามารถทำความเข้าใจผ่านตรรกะผ่านภาษาได้มากกว่า เราอยู่ในระบบที่ถูกกดขี่ให้มีความรู้ แต่กลับสร้างกรอบทางความคิดโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็ไม่ใช่โรงเรียนที่ส่งผลต่อกรอบทางความคิด แต่ยังมีปัจจัยของครอบครัว และสังคมที่คอยสุมสร้าง mental model ของตัวบุคคลอยู่

กรอบหนึ่งในหลายๆ กรอบที่มองเห็นได้ชัด คือ กรอบความถูก ผิด ตั้งแต่เรียนอนุบาล เราถูกสอนแล้วว่าอะไรถูก ผิด แต่ไม่ได้ถูกทำให้ว่าอะไรถูก ผิด

หากโรงเรียนทำหน้าที่เป็นเครื่องเตรียมเด็กสู่สังคม โรงเรียนในแง่ของการสร้างคน

ชั้น ป. 1 อนุบาลวังบาดาล เปิดเทอมวันแรก โรงเรียนมีนโยบายให้นักเรียนถอดรองเท้าก่อนเข้าห้องเรียน โดยให้เหตุผลว่า อยากให้ห้องเรียนสะอาด ดังนั้นครูเลยบอกให้นักเรียนถอดรองเท้าไว้ที่ชั้นวางรองเท้าที่โรงเรียนจัดไว้ให้ วันหนึ่ง มีนักเรียนคนนึง ด.ช. ปอนด์ ถามว่า ทำไมเราต้องถอดรองเท้าด้วยครับ เพราะยังไงก็ต้องทำความสะอาดอยู่ดี คุณครูก็จะหาเหตุผลที่เด็กอนุบาล 1 สามารถเข้าใจได้มาตอบต่างๆ วันถัดไป นักเรียนปอนด์ ถามอีกว่า ทำไมคุณครูไม่ถอดรองเท้าครับ คุณครูก็จะหาเหตุผลต่างๆ มาบอก หรืออาจจะถอดรองเท้าให้เป็นตัวอย่าง 

วันถัดไป ดญ. ฟ้า บ่นว่าในห้องมีกลิ่นเหม็น ซึ่งมากจากถุงเท้าเพื่อน เลยถามคุณครูว่า จะทำยังไงดี คำตอบที่เป็นไปได้ก็มีหลายอย่าง ให้ไปล้างเท้า เอาสเปรย์ฉีดห้อง หรือให้ทั้งห้องใส่รองเท้าในวันนั้น วันต่อมาสมมุติครูทำตามทั้งหมด แล้วครูโดนครูใหญ่เรียกไปด่า เพราะสร้างตัวอย่างให้นักเรียนห้องข้างๆ ว่าทำไมห้องนี้ใส่รองเท้าเข้าไปในห้องเรียน วันต่อมาเพื่อตัดปัญหาคุณครูก็เลยตัดสินใจให้นักเรียนถอดรองเท้าเข้าห้องเรียน ผลลัพธ์เพื่อให้ห้องสะอาด เพื่อมีความเป็นระเบียบของสังคมในการต้องถอดรองเท้าเข้าห้องเรียน แต่ผลลัพธ์อีกอย่างคือ นักเรียนต้องนั่งรมกลิ่นทีนเพื่อนทุกวันจนเสียประสาทในการเรียน 

หากเรามองจากเรื่องนี้ ปัญหาของเรื่องนี้คืออะไร กฎระเบียบ กลิ่นเท้า การเป็นตัวอย่าง ลองตั้งคำถามว่า ถ้าคุณเป็นคุณครู คุณจะสร้างกระบวนทัศน์หรือกระบวนควาามคิดด้วยวิธีไหนให้เด็ก ที่ไม่ใช่บอกว่า กฎคือกฎ เพราะถ้าแบบนั้น นักเรียนก็ต้องนั่งรมเท้าเพื่อนทุกวัน แต่สมมุติให้เพื่อนหาว่าใครเท้าเหม็นแล้วแก้ไขปัญหาให้คนที่เท้าเหม็น เด็กคนนั้นอาจจะโดนเพื่อนล้อ หรือว่าคุณครูจะเดินไปหา ผอ. สับๆ แล้วบอกว่าชั้นจะไม่ทนให้เด็กชั้น ต้องนั่งรมเท้า ดังนั้นชั้นจะให้เด็กใส่รองเท้า 

จริงๆ ผลลัพธ์แบบไหนก็มีผลกระทบเหมือนกัน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ ทำให้เด็กคิดว่า ถ้าใส่แล้วดียังไงไม่ดียังไง ไม่ไส่แล้วดีไม่ดียังไง ถ้าคนนึงใส่อีกคนไม่ใส่มีดีมีเสียยังไง ส่วนตัวอยากให้ครูมีความ directive ให้น้อยที่สุด แต่อยากให้สร้าง simulation ให้มากกว่า แล้วให้เด็กสร้าง agreement ร่วมกันว่าจะใส่ไม่ใส่หรืออย่างไร 

ในแง่ของความรู้

ชั้น ป. 1 วิชาคณิตศาสตร์ ครูพี่ลูกปลาจบคณิตศาสตร์เกียรตินิยมอันดับ 1 Ph.d. จาก Oxford และมี ครุศาสตร์ดุษฎีมา  ดังนั้นตัดปัจจัยเรื่องความรู้ของครู ในกรณีนี้คุณครูอยากให้เด็กเข้าใจว่า 1+1 = 2 แล้ว 2+2=4 

วิธีการสอน อาจจะเป็น 1 +  _ = 2 และ _ + 2 = 4 จงเติมคำในช่องว่าง (คำถามแรกคุณจะสอนก่อนว่า 1+1=2 หรือจะให้โจทย์ก่อนแล้วค่อย) สมมุติครูให้เป็นการบ้าน

ดช. ดร๊อะ ที่มีพ่อจบ Ph.d. Cambridge ด้าน cognitive psychology ให้พ่อช่วยสอนการบ้าน 1 + _ = 2 และ _ + 2 = 4 พ่อเลยสอนว่า 1+1 = 2 และ 2 + 2 = 4 เป็นคำตอบที่สมควรเขียนตอบ แต่พ่อสอนต่ออีกว่า 1 + 1 = 1 + 1 และ 2 + 2 = 2 + 2 หรืออาจะ -2 + 3 = 1 และ   -22 + √4 = 4 เหมือนกัน พ่อเลยบอกว่า เลขอะไรไม่สำคัญ ควาสำคัญของสมการ คือ สองฝั่งต้องเท่ากัน ซึ่งมีวิธีมากมายที่ทำให้สมการเท่ากันทั้งสองฝั่ง 

แต่ด้วยธรรมชาติของ ด.ช. ดร๊อะ ที่ชอบท้าท้ายสนุกสนาน เลยเอาสิ่งที่พ่อสอนมาทำความเข้าใจเอง แล้วเอาไปเขียนทำการบ้านส่งครู เลยตอบคุณครูในการบ้านว่า 1 + -12 =2 และ sqr 4 + 2 = 4 ซึ่งจริงๆ ด.ช. ดร๊อะไม่ได้รู้หรอกว่า - ที่ - ไม่ใช้ representation ของวิธีการ แต่เป็น Negative value ของเลข  1 ซึ่งก็มีกำลังสองติดอยู่ 

ด.ช. ดร๊อะเอาที่พ่อสอนมารวมๆ กันมั่วๆ โดยที่ไม่ได้เข้าใจอะไรแล้วทำการบ้านส่งครู ในวันที่เด็กเอาการบ้านไปส่ง คุณครูเห็นคำตอบ คุณคิดอะไรเป็นอันดับแรกกับคำตอบ 1. ให้คนอื่น พ่อ แม่ พี่น้อง ทำให้ 2. ไปดูยูทูปมาแล้วมาตอบ หรือ 3 4 5 หน้าที่ครูตอนนั้นคือ ต้องให้คะแนน  คุณครูจะกาถูก หรือจะกาผิด คุณครูจะเรียกเด็กมาถามมั้ยว่าทำไมตอบแบบนี้ แล้วสุดท้าย คุณครูจะให้คะแนนยังไง ถ้าเด็กเข้าใจหลักการของสมการ เด็กสามารถรวมของสองกองในจำนวนที่เท่ากันได้ แต่ไม่สามารถคิดแล้วเขียนเป็นตัวเลขได้ เราจะตัดสินเด็กคนนั้นจากความรู้ หรือเราจะตัดสินเด็กคนนั้นจากความคิด 

ถึงแม้คุณครูอาจจะเห็นว่าสิ่งที่พ่อสอนมาอาจจะถูกในหลักการ แต่จริงๆ 1 + -12  = 2 จริงๆ ต้องเขียนว่า 1 + (-1)2  = 2 เพื่อให้ถูกหลักการ คุณครูจะให้คะแนนเด็กยังไง และจะอธิบายเด็กว่ายังไง เราต้องสร้างไม่ใช่ให้เด็กเข้าใจความรู้ แต่ให้เข้าใจหลักการและกระบวนการของความรู้นั้น (ความเป็นไปได้ของเหตุการอาจจะน้อยมาก แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะปัจจุบันพ่อแม่รุ่นใหม่มีการศึกษากัน) 

ทั้งนี้ก็ มี factor อื่นๆ เช่นประสบการณ์ของครู วัยของเด็ก mental model ของครู และของเด็ก ครอบครัว สังคม

ที่อยากให้โฟกัสคือ ครูและระบบการศึกษาอยากให้เด็กรู้อะไร อยากให้เด็กรู้ว่า บวกยังไงจึงทำให้สมการเท่ากัน หรือหลักการการเท่ากันของสมการ หรือทั้งสอง หรือทั้งสองบวกการรู้ว่ารู้แล้วเอาไปทำใช้ทำอะไร 

ปัญหาการศึกษา ไม่ได้มีปัญหาคือจุดใดจุดหนึ่ง ขนาดประเทศโลกที่ 1 หรือประเทศแถวสแกนที่บอกว่ามีการศึกษาดีที่สุด ยังทำได้มากสุดแค่ทำให้ผู้เรียนรู้ แต่ทำให้ผู้เรียนคิดและให้เหตุผลของความคิด ยังคงกลายเป็นความท้าทาย เพราะคนเราคิดไม่เหมือนกัน การสำเร็จการศึกษานอกจากจะให้ได้มาซึ่ง collective/common knowledge และ social แล้วนั้น เราจะสร้างให้ผู้เรียนคิดได้อย่างอิสระได้อย่างไร 

ทั้งนี้ภายใต้ความอิสระ ต้องรวมตัวแปรทางด้านสังคม วัฒนธรรมเข้าไปด้วย เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังต้องมีปฏิสัมพันธ์กันทั้งระหว่างคน และระหว่างธรรมชาติ จะคิดโดยไม่ดูตัวประกอบเหล่านี้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่เอาสิ่งเหล่านี้มาปิดกั้นความคิด 

สุดท้ายเราต้องการอะไรจากการศึกษา เราจะเป็น ไม่เป็นทาสความรู้ หากเรามีความคิด แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ในการเอามาคิด ก็ไม่มีทั้งความรู้ ความคิด ทั้งนี้ ความรู้ควรวัดจากสิ่งที่อยู่ในหนังสือหรือจากใบปริญญา แต่จะวัดคนที่มีความรู้และความคิดยังไง ตอนนี้ทั้งสอบข้อเขียน ทั้งสอบสัมภาษณ์ ทั้งทดลองงาน มีหมด จะวัดประเมินกันยังไง


เขียนโดย คุณปอนด์ สุทธินันท์ ดวงภุมเมศร์ 

นักเรียนทุนรัฐบาล UIS ปริญญาโท Master of Public Administration , Cornell University, สหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของสาวน้อยที่ต้องการขับเคลื่อนความเท่าเทียมกันในสังคม ทำให้เธอตัดสินใจออกเดินทางไปใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ ก่อนที่จะไปศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกา ที่นั่นทำให้เธอได้ทั้งแรงบันดาลใจและประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืม

“พี่ครับ ถ้าเราไปอยู่ดาวอังคาร แล้วเราจะหายใจยังไงหรอครับ?”

“อืม นั่นน่ะสิ พี่ก็ไม่รู้แฮะ แต่บนดาวอังคารมันเต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เราคิดว่าไงล่ะ?

“อ๋อพี่ งั้นเราก็เอาต้นไม้ไปปลูกสิ ต้นไม้จะได้เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นออกซิเจนไง”

บทสนทนานี้ของเรากับเด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่คุ้นชินกับป่าไม้ บทสนทนานี้คือส่วนหนึ่งของของการผจญภัยที่มีค่าที่สุดในช่วงเวลาก่อนที่เราจะเดินทางมาศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

เดือนตุลาคมปี 2020 ระว่างที่เรากำลังเรียนออนไลน์จากอีกฝั่งของโลก เรารู้สึกเบื่อกับชีวิตที่วนกับการทำการบ้าน เรียน นั่งหน้าคอมทั้งวัน รวมถึงข่าวการเมืองต่าง ๆ โพสท์เกี่ยวกับปัญหาสังคมเต็มหน้าฟีด เราตั้งคำถามกับตัวเองว่านี่เรากำลังทำอะไรอยู่ และทำไปทำไม เราจะเป็นส่วนนึงที่ขับเคลื่อนความเท่าเทียมกันในสังคมได้ยังไงบ้าง

เราเลื่อนฟีดเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ แล้วเจอกิจกรรมอาสา เป็นพี่เลี้ยงเด็กพาเดินป่า ที่เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มันก็กระตุกให้จำได้ว่า เรามีความสุขกับการได้พูดคุยกับเด็กๆ และคิดว่าเราน่าจะมีอะไรไปแชร์ให้น้อง ๆ ได้เยอะ ตอนนั้นเลยตัดสินใจสมัครไป น้อง ๆ มีกัน 24 คน อายุระหว่าง 7-15 ปี เป็นน้องจากบ้านเด็กกำพร้าแห่งหนึ่ง แม้เวลาจริง ๆ ของค่ายจะเป็นแค่ 2 วัน 1 คืน แต่เราตัดสินใจย้ายไปอยู่เชียงใหม่คนเดียวเพื่อใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ที่นั่น

เสียงเพรียกจากดาวอังคาร

คืนนั้นในค่าย  หลังจากเดินป่าด้วยกันก็เริ่มเข้าสู่ช่วงกลางคืน ตอนนั้นเป็นปลายเดือนตุลาคม หน้าฝนต้นหนาว ทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา เมฆเยอะจนเราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ดูดาวกับน้อง ๆ แต่โชคดี ในค่ายเยาวชนเชียงดาว ท่ามกลางบรรยากาศของดอยหลวงเชียงดาว ในคืนนั้นฟ้าใสมาก เราวิ่งกลับห้องไปเอาของเล่นสุดที่รักซึ่งก็คือเลเซอร์ชี้ดาว จริง ๆ เราก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าทำไมเราถึงพกมันตลอดเวลา แต่มันเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ๆ

กิจกรรมรอบกองไฟในคืนนั้น เราฟังความประทับใจในวันนั้นของพี่ ๆ น้อง ๆ จนไมค์ถูกยื่นมาถึงเรา ซ้ายมือของเรา (ทิศตะวันออก) คือดาวเคราะห์สีแดงดวงหนึ่ง ซึ่งบังเอิญเป็นช่วงที่อยู่ในตำแหน่ง Conjunction (ใกล้โลกที่สุดในรอบปี) พอดี เราเล็งเลเซอร์ไปที่ดาวสีแดงสว่างจ้าดวงนั้นแล้วพูดว่า

“น้อง ๆ นี่คือดาวเคราะห์ที่เราอยากไปกัน”

สายตาของเด็กๆ 24 คน ที่จ้องไปดาวอังคารและว้าวให้กับเลเซอร์ของเรา ก็ทำให้เราว้าวไม่ต่างกันเลย ในคืนนั้นมีดาวเคราะห์อยู่ 3 ดวง และดวงจันทร์อีกหนึ่ง เราให้น้องลองสังเกตตำแหน่งของดาวเคราะห์และลักษณะของมันว่าต่างจากดาวฤกษ์ยังไง สอนหาดาวเหนือด้วยกลุ่มดาวค้างคาว หลังจากนั้นก็เริ่มพูดถึงนิทานเกี่ยวกับดวงดาว เรื่องรัก ๆ ของสามเหลี่ยมฤดูร้อน ตำนานหนุ่มทอผ้าและสาวเลี้ยงวัว ที่ดาวเดเนบคือหงส์ที่เชื่อมเป็นสะพานให้นางฟ้าโอริฮิเมะ (ดาวเวกา) และฮิโกโบชิ (ดาวอัลแทร์) ข้ามแม่น้ำ (ทางช้างเผือก) มาเจอกัน ทุกวันที่ 7 เดือน 7 หลังจากนั้น นิทานดวงดาวก็มาจากจินตนาการของน้อง ๆ เอง

ในคืนนั้นเลเซอร์ของเรากลายเป็นดินสอสี และท้องฟ้าเป็นก็กลายเป็นผืนกระดาษขนาดใหญ่ที่อนุญาตให้เด็ก ๆ มองขึ้นไปและได้ปลดปล่อยจินตนาการให้เป็นอิสระกว่ากระดาษแผ่นใดบนโลกจะให้ได้ เรานอนลงบนสนามหญ้ากับน้องๆ และฟังเรื่องราวจากรูปวาดของน้องๆ ที่เชื่อมดาวแต่ละดวงเข้าด้วยกัน

“พี่ครับ หมากำลังตะครุบแมว” น้องคนหนึ่งกล่าว “พี่ครับ ดาวดวงนั้นเคลื่อนที่เร็วมากเลย กระพริบได้ด้วย” เรารีบหันไป “นั่นมันเครื่องบิน!” น้อง ๆ หยอกเย้ากันไปกันมาใต้แสงดาว

ระหว่างรับฟังจินตนาการของเด็ก ๆ ก็มีคำถามมากมาย “ทำไมดาวบางดวงถึงสว่างกว่าดวงอื่น” “จริง ๆ แล้วดาวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร” หรือ “ถ้าเราไปอยู่บนดาวดวงอื่น เราจะเห็นโลกสว่างแบบนั้นมั้ย” แต่ก่อนจะตอบคำถามของเด็ก ๆ เราจะถามก่อนว่า “แล้วเราคิดว่ายังไงล่ะ” เพื่อหลีกเลี่ยงการลัดกระบวนการเรียนรู้ของน้อง ๆ

เราไม่ได้เป็นคนสอนคนเก่งนัก และเราคงสอนน้อง ๆ ไม่ได้ทุกเรื่อง เราใช้ดาราศาสตร์เป็นตัวกลางในการเรียนรู้ ไม่ใช่เพื่อให้น้อง ๆ ชอบดาราศาสตร์ แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขา กล้าที่จะถาม กล้าที่จะจินตนาการ และกล้าที่จะพยายามหาคำตอบ อย่างอิสระ และระหว่างที่เราเองมองไปที่จักรวาลอันกว้างใหญ่ร่วมกับน้อง ๆ เราก็คิดขึ้นได้ว่า การได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ดูจะไกล และยิ่งใหญ่ อย่างจักรวาล คงจะช่วยกระตุ้นให้ เรากล้าที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับทุก ๆ อย่างโดยไม่ต้องกลัวว่ามันจะใหญ่เกินตัวเราหรือเปล่า ซึ่งรวมถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับความอยุติธรรม
 

วันต่อมา ก่อนน้อง ๆ ขึ้นรถกลับสันทราย มีน้องคนหนึ่งเข้ามาคุยกับเราว่า เขาชอบฟิสิกส์ ชอบเวลาได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฎการณ์ต่าง ๆ เรื่องราวก็เกิดขึ้นจากที่เราได้อธิบายระหว่างเดินป่าด้วยกัน เช่นการเกิดรุ้ง วัฏจักรของน้ำ ที่เราถามน้องว่าเชื่อป่าว ว่าเดี๋ยวน้ำจากน้ำตกที่เราเดินผ่านเนี่ย จะเป็นเมฆบนนั้น แล้วเดี๋ยวมันก็จะกลับมาเป็นน้ำตกใหม่ ในตอนนั้นน้องถามเราว่าทำไมโรงเรียนสอนฟิสิกส์เป็นการคำนวณไปหมดเลย และน้องชอบดาราศาสตร์ แต่โรงเรียนไม่สอนเลย ตอนนั้นเราเลยบอกไปว่าเดี๋ยวเราจะส่งหนังสือไปให้นะ

นักบินอวกาศ

เราแอบส่อง Facebook ของพี่ ๆ ที่ดูแลบ้านกำพร้า แล้วเจอคลิปน้องคนนั้น นำหมวกกันน็อคมาจินตนาการเป็นชุดอวกาศ และอธิบายว่าตัวเองกำลังไปดาวอังคาร ตอนนั้นเลยได้รู้ว่าน้องมีความสนใจทางด้านนี้มากจริง ๆ และในจุดที่น้องอยู่คงมีโอกาสเข้าถึงน้อย เราไม่อยากปล่อยให้ความฝันของน้องจางไป เราได้รู้ว่าน้องกำลังจบ ม.3 พอดี จึงตัดสินใจช่วยสอนหนังสือให้ “นักบินอวกาศ” และแนะนำทุน พสวท. ให้ เราดีใจที่น้องสนใจ จึงเริ่มลุยไปด้วยกัน

หลังจากค่ายที่เชียงดาว เราเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปแม่แฝกสันทรายแทบทุกอาทิตย์ เพื่อสอนดาราศาสตร์พื้นฐานให้กับน้อง ๆ เช่นความสัมพันธ์ระหว่างโลก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ที่กำหนดวันเดือนปี การเกิดปรากฎการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง อุปราคา ระบบสุริยะ ต่าง ๆ และติววิทยาศาสตร์ทั่วไปให้เด็กชายนักบินอวกาศ เพื่อเตรียมสอบ บ้างก็ไปคนเดียว บ้างก็ชวนเพื่อน ๆ ไป และมีเพื่อนหลาย ๆ คนฝากสื่อการเรียนรู้มาให้น้อง เช่นฝากใจจากมหาสารคาม ด้วยหัวใจที่สร้างจาก 3D Printer

จนช่วงที่เกิดปรากฎการณ์ดาวพฤหัส และดาวเสาร์กำลังขยับเข้ามาใกล้กันที่สุดในรอบ 400 ปี (The Great Conjunction) เราตัดสินใจซื้อกล้องโทรทรรศน์ เพื่อให้น้อง ๆ ได้ส่อง Galilion Moons ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัส และวงแหวนดาวเสาร์ รวมถึงได้ส่องวัตถุท้องฟ้าที่เราเคยมองด้วยกันอย่างใกล้ขึ้น  ทุกครั้งที่ได้เจอกัน น้อง ๆ จะมาพร้อมกับคำถามที่เหมือนตั้งใจจดไว้เพื่อรอเราตอบ
 

“พี่น้ำหวาน วันก่อนดวงจันทร์ยิ้ม แต่มีแสงตรงที่ไม่ยิ้ม มันคือจันทรุปราคาที่พี่เคยบอกไหมคะ”
“พี่น้ำหวานคะ ดาว 2 ดวงที่เราส่อง มันค่อย ๆ เข้าใกล้กันทุกคืนเลย มันจะจูบกัน!” 
“พี่น้ำหวานครับ วันก่อนพวกเราเห็นดาวตกด้วย มันมาจากไหนหรอครับ”
และเหมือนเดิม เราจะถามน้องก่อนเสมอว่า “เราคิดว่ายังไงล่ะ”

เสียดายที่คืนที่ดาวเสาร์และดาวพฤหัสใกล้กันที่สุด ฟ้าปิด จึงอดพาน้อง ๆ ดูดาวเสาร์ กับดาวพฤหัสในเฟรมเดียวกัน แต่เอาจริง ๆ แทบทุกครั้งที่เราไป มักจะเมฆหนา ทั้งที่คืนก่อนหน้าฟ้าเปิด จนน้อง ๆ แซวเราว่าเป็นตัวเรียกเมฆ คืนที่เกิด The Great Conjunction นั้นเลยเปลี่ยนจากท่องอวกาศ มาเป็นท่องโลกแทน

เราเปิดรูปที่เราเคยไปต่างประเทศให้น้อง ๆ ดูรูปสัตว์ที่ไม่มีที่ไทย รูปบ้านเมือง สภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากไทย และภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ที่มีอยู่ประมาณหนึ่ง เช่นสุริยุปราคาวงแหวนที่เราไปถ่ายที่สิงคโปร์ ภาพท้องฟ้ากลางคืนของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นซีกโลกใต้จึงได้เห็นกลุ่มดาวกางเขนใต้ (กลุ่มดาวประจำตัวเรา) อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าไทย ดวงจันทร์ที่เป็นกระต่ายกลับหัว การได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัยของเรา ได้ทำให้เราย้อนคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้มาจากการเดินทาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตของเราเอง และคงได้ทำให้น้อง ๆ ได้รู้ว่า บนโลกนี้ยังมีอะไรอีกมากมายที่รอให้น้อง ๆ ได้ไปพบเจอ

25 ธันวาคม 2020 เราติว “นักบินอวกาศ” วันสุดท้ายก่อนสอบ ทบทวนเรื่องการออกแบบการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ สอนฟิสิกส์เล็ก ๆ น้อย ๆ จริง ๆ เรากลัวน้องนอนดึก แต่น้องก็ยังยืนยันจะเรียนต่อ มันคงเพราะใจที่สู้ของน้องที่ทำให้เราเองไม่เคยเหนื่อยเลยที่จะแบ่งเวลาจากการเรียน เขียน Essay ยื่นมหาลัยที่สหรัฐฯ มาติวให้น้อง

ในวันสอบของ “นักบินอวกาศ” เราไปเชียร์น้องสอบที่โรงเรียนยุพราชฯ และนั่งเฝ้าน้องทั้งวันกับลูกของเจ้าของบ้านเด็กกำพร้าชื่อแบงค์ แบงค์อายุเท่ากับเรา เลยคุยกันได้ง่าย ระหว่างนั่งรอน้องสอบ แบงค์เล่าเกี่ยวกับครอบครัวของ “นักบินอวกาศ” ให้ฟัง ว่าที่ ๆ น้องมา ในวัยของน้อง คนที่นั่นมักไม่เรียนต่อ ทำงาน มีครอบครัวกันแล้ว และจริง ๆ ช่วงที่เราติวสอบให้น้อง เป็นช่วงหยุดยาว และน้องก็เกือบกลับบ้าน ซึ่งคำว่ากลับบ้านในที่นี่ ไม่ใช่แค่กลับไปหาแม่ แต่อาจคือกลับไปดำเนินชีวิตตามวิถีของที่นั่น ซึ่งคือการทำสวน และแต่ละวันก็คงต้องกังวลเรื่องที่ดินทำกิน จนน้องคงหลุดจากการศึกษาไปเลย

ระหว่างรอสอบก็คิดว่าถ้าน้องรู้สึกว่าข้อสอบยากไป จะคุยกับน้องยังไงดี น้องจะท้อจนไม่อยากเรียนต่อไปเลยรึเปล่า ด้วยความที่เราเองอยู่ในวงการแข่งขัน และบ่อยครั้งที่คนรอบตัวจะเสียใจจากผลที่เทียบความสามารถของตัวเองกับคนอื่น

ช่วงพักเที่ยงน้องมาหาเรา และสิ่งที่น้องพูดคือ “พี่ผมเห็นเด็กชื่อโรงเรียนเท่ ๆ เยอะเลย” บ้างก็ว่า “ข้อสอบมีถามว่า สามารถเอาจักรยานที่พังไปทำเป็นอะไรได้บ้าง ผมอยากเอาไปทำเป็นเครื่องออกกำลังกายอ่ะพี่” หรือ “เอ้อ ที่พี่สอนเมื่อคืนช่วยได้เยอะเลย” นักบินอวกาศเริ่มสำรวจสิ่งรอบตัว “โรงอาหารโรงเรียนยุพราชใหญ่จัง” น้องไม่แม้แต่จะแสดงท่าทีท้อแท้  หรือรู้สึกเสียใจแต่อย่างใด น้องเล่าเกี่ยวกับข้อสอบ ผู้คน และสถานที่ที่น้องได้เจอในวันนั้นอย่างสนุกสนาน “นักบินอวกาศ” ได้ทำให้เราเข้าใจว่า บางทีการใช้ชีวิตที่ไม่ต้องเอาชนะใคร ก็ทำให้เราเปิดใจกว้าง และเห็นคุณค่าในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้มากขึ้น

สุดท้ายแล้วถึง “นักบินอวกาศ” จะสอบไม่ติดทุน แต่น้องได้เห็นโรงเรียนที่ใหญ่ขึ้น ได้รู้จักชื่อโรงเรียนเท่ ๆ ได้รู้ว่ามันยังมีโอกาสให้น้องอีกมากมาย เราไม่ได้บังคับว่าน้องจะต้องเรียนต่อ ม.ปลาย เราไม่ได้บอกว่ามันคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับน้อง แต่เราแค่ทำให้น้องได้รู้ว่าน้องมีทางเลือก และถึงแม้น้องตัดสินใจที่จะกลับไปยังที่ ๆ น้องจากมา เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวตามวิถีเดิม เราก็ไม่ได้เสียใจกับการที่เราทุ่มเท เราเชื่อว่าจากความพยายามของเด็กคนนึงที่ไม่ได้มีต้นทุนอะไรนอกจากความเชื่อที่จะไปดาวอังคาร  ได้ทำให้น้องได้เห็นพลังในตัวเอง และไม่ว่าจากนี้น้องจะอยู่ที่จุดไหน ชุดอวกาศของน้องจะค่อย ๆ ขยับจากหมวกกันน็อคเก่า ๆ ใบหนึ่ง เป็นอะไรที่มากกว่านั้นได้แน่นอน

คืนวันสิ้นปี เราไปเค้าท์ดาวน์ที่บ้านน้อง ๆ ก่อนไปที่บ้าน ก็เดินเล่นตลาดวโรรสแล้วเจอคนขายหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นแค่รู้สึกว่าไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์นานแล้ว เลยซื้อมา และติดไปที่บ้านน้อง ๆ ด้วย เราไปถึงก็วางไว้บนโต๊ะ 

“พี่น้ำหวานคะ อันนี้คือหอไอเฟลหรอคะ หนูขอตัดเก็บไว้ได้มั้ยคะ” น้องเปิดดูหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น แล้วมีข่าวเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในช่วงโควิดระบาด จึงขอเราเก็บภาพสถานที่เหล่านั้นไว้ การเล่าเรื่องการท่องเที่ยวของเรา ช่วยให้น้องฝันที่อยากจะไปให้ไกลขึ้นได้หน่อยแล้วสินะ

มกราคม เมื่อปี 2021 เดินทางเข้ามา หลังจากการสอนดาราศาสตร์น้อง ๆ มาซักพัก เราเริ่มจัดการเรื่องยื่นมหาวิทยาลัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็อยากเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานทางด้านดาราศาสตร์ โดยเฉพาะการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ด้วยอุปกรณ์ Optical ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)

NARIT เห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคน เราจึงได้รับโอกาสเข้าไปเรียนรู้ จากกล้องโทรทรรศน์เล็ก ๆ ที่เราซื้อให้น้อง เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากศึกษาด้านนี้ให้ลึกขึ้น และได้ไปดูการติดตั้งอุปกรณ์ Spectrograph กับกล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตร บนดอยอินทนนท์
 

ชายขอบ

เชียงใหม่ช่วงนั้นมีการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย พรบ. สภาชนเผ่า เพื่อให้ชนเผ่าพื้นเมืองสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภค การศึกษา ฯลฯ ด้วยความที่น้อง ๆ ต่างก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์  ลาหู่ ม้ง ไทยใหญ่ และจากการสัมผัสกับน้อง ๆ ก็ได้เข้าใจถึงความขาดแคลนตรงนี้ ด้วยความผูกพัน และอย่างที่บอกว่าถึงความฝันของน้อง ๆ จะคือการช่วยที่บ้านทำไร่ ทำสวน ซึ่งก็ไม่ผิด แต่น้องต้องมีสิทธิ์เลือก ที่ไม่ใช่เพราะเกิดที่นั่น จึงเลือกได้แค่นั้น และเราคิดว่า หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน คงเป็นการช่วยที่ยั่งยืนอีกทาง 

เสาร์-อาทิตย์ ว่างจากการฝึกงาน เราเดินทางจากตัวเมืองไปสมาคมชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อพูดคุยถึงปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ และความสำคัญของสมาคมชนเผ่าพื้นเมือง หลัก ๆ คงเป็นการที่ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่เคยถูกรับฟังอย่างจริงจัง รัฐฯ แก้ปัญหาไม่ตรงตามวิถีชีวิต หรือแม้แต่การที่คนเมืองพยายามยัดเยียดความเจริญในนิยามของตนเองให้ ฯลฯ

เดือนกุมภาพันธ์ผ่านไป เราไปช่วยน้อง ๆ ย้ายบ้านกัน เนื่องจากเจ้าของที่ที่เคยบริจาคต้องการที่คืน หลังขนของกันอย่างเหน็ดเหนื่อย เราก็ยังสนุกด้วยกิจกรรมเดิม คืนนั้นบังเอิญเห็นดาวตกกัน แน่นอน กิจกรรมคลาสสิค ปิดตาขอพรจากดาวตก 

“เราขออะไรกันบ้างเนี่ย” เราถามน้อง ๆ “ขอให้ลุงตู่ออกไปครับ” เอ้อ ชื่นใจ
“ขอให้พี่น้ำหวานไม่ไปอเมริกาได้มั้ย”
“นี่ ถึงตัวพี่จะไม่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่พี่ได้ให้น้องไว้ คำพูด ความคิด มันจะยังอยู่นะ และนั่นแหละคือตัวตนของพี่ ไม่ใช่ร่างกาย ดวงดาวที่เรามองด้วยกันก็ยังอยู่ เราไม่ได้ไกลกันเลย”
“พี่น้ำหวานอย่าลืมถ่ายดวงจันทร์ที่เมกาฝากนะคะ”
“นี่ตา ตา แล้วก็ยิ้ม แค่รอยยิ้มก็เต็มฟ้าแล้ว” จินตนาการอันบริสุทธิ์ ได้ทำให้เราไม่เคยเบื่อเวลาที่มองดาว มันเหมือนมีหน้ายิ้มให้เราตลอดเลย

หลังจากนั้นไม่กี่วันเราได้รับข้อความจากทางทุนว่าเราจะต้องเดินทางไปอเมริกาในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าแล้ว กะทันหันอยู่นะเนี่ย โถ่ อดพาน้องๆดูดวงจันทร์บังดาวอังคาร กลางเดือนเมษาฯ เลย เราใช้เวลาที่เหลือในเชียงใหม่ เรียนรู้เกี่ยวกับงานทางด้าน Optics และหาลู่ทางศึกษาต่อด้านนี้ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ พรบ. สภาชนเผ่า เพื่อรวบรวมชื่อให้ได้มากที่สุด และเราต้องไปลาน้อง ๆ แล้ว

3 มีนาคม ครั้งสุดท้ายที่เราไปหาน้องๆ พี่ ๆ Optic Lab ของ NARIT ซึ่งมีชาวฝรั่งเศสที่มาทำ Post Doc ได้เดินทางไปหาน้อง ๆ ด้วยกัน วันนั้น NARIT ใจดีให้ยืมกล้องโทรทรรศน์ด็อบโซเนียน และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์มากมาย หลังจากกินมื้อเย็นด้วยกันเสร็จแล้ว เรากับพี่ ๆ จาก NARIT ได้สอนน้อง ๆ ใช้แผนที่ดาว หลังจากที่เราสอนจากการลากบนฟ้ามานานพอควร

“เดี๋ยวพี่น้ำหวานไม่อยู่แล้ว เราจะได้ดูดาวกันเองได้ทุกคืน” พี่คนหนึ่งพูด แอบใจหายเหมือนกันนะเนี่ย

คืนนั้นเป็นอีกคืนที่ฟ้าใสแบบที่เราไม่คาดคิด เพราะช่วงกลางวันฝุ่นควันหนามาก จนคิดว่าไม่น่าจะเห็นดาว มันเลยย้อนนึกไปถึงคืนแรกที่เราได้ดูดาวกับน้อง ๆ ที่จากเมฆหนาทั้งอาทิตย์ แต่ฟ้าเปิดให้เราได้วาดเขียนกันที่เชียงดาว และคืนนี้เป็นอีกครั้งที่ฟ้าเป็นใจให้ เหมือนเป็นสัญญาณบอกว่าถึงเวลาต้องลาแล้ว จากการหาดาวเหนือด้วยกลุ่มดาวค้างคาวเมื่อเดือนตุลาคม คืนสุดท้ายนั้น เราใช้ดาวหมีใหญ่ในการหาดาวเหนือ นั่นก็คือเกือบครึ่งปีเลยล่ะที่เราใช้เวลาด้วยกัน 

พี่โบ๊ท ลูกแท้ ๆ อีกคนของเจ้าของบ้านเด็กกำพร้าบอกกับเรา ว่าตั้งแต่ที่เรามาช่วยดูแล น้อง ๆ มีความมั่นใจในตัวเองกันมากขึ้นเยอะ กล้าคิด กล้าถาม ซึ่งเราคิดว่าเกือบ 5 เดือน ที่เราได้ทุ่มเททุกอย่าง ให้กับน้อง ๆ มันประสบผลมาก ๆ ทั้งกับตัวน้อง ๆ และกับตัวเราที่ได้เห็นภาพปัญหาได้มากขึ้น ได้แรงบันดาลใจในการต่อยอดความรู้ทางด้านที่เราสนใจต่อไป

อาจพูดได้ว่า เราทำนั่นนี่เต็มไปหมด ยังไม่ได้โฟกัสกับทางใดทางหนึ่ง จนอาจยังไม่เป็นชิ้นเป็นอันนัก แต่สำหรับเรา เรายังอยากใช้ชีวิตด้วยความกระหายที่จะรู้ว่ามีอะไรให้เราได้รู้อีกบ้าง วันนึงเราคงจะแกร่งพอที่จะรวบรวมสิ่งที่เราสะสมมา แล้วทำบางอย่างให้สุดทาง

น้อง ๆ ได้รู้จักดวงดาวเพิ่มขึ้นเยอะเลยจากแผนที่ดาว จากพี่ ๆ ที่ทำงานเฉพาะทางเกี่ยวกับดาราศาสตร์ และที่พิเศษคือ น้องๆ ได้เจอกับพี่นักวิจัยชาวฝรั่งเศส (ประเทศที่ตั้งของหอไอเฟลที่น้อง ๆ เคยขอเราตัดเก็บไว้) การได้เจอต่างชาติที่มาจากประเทศที่น้อง ๆ อยากไป คงทำให้น้อง ๆ มีความมั่นใจในการที่จะฝันถึงการเดินทางไปต่างประเทศได้มากขึ้น คิด ๆ ดูแล้ว เรานี่ก็สรรหาทุกอย่างมาให้ ตามความสนใจของน้อง ๆ จริง ๆ เลยนะเนี่ย

กิจกรรมดำเนินไปเรื่อย ๆ จนเริ่มดึก ก็เข้าสู่ช่วงอำลาแล้ว น้อง ๆ กล่าวขอบคุณพี่ ๆ ที่มา เหมือนทุก ๆ ครั้ง และเป็นเราที่พูดจบ เราขอบคุณน้อง ๆ สำหรับช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้เล่นเป็นเด็กอีกครั้ง ได้รับความรัก มิตรภาพ ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากตัวน้อง ๆ ได้แรงบันดาลใจมากมาย และข้อความสุดท้ายที่เราบอกน้องคือ

“แม้ว่าสังคมจะบอกว่าความฝันของน้องเป็นไปไม่ได้ ยังไงก็ตามแต่ พี่ขอให้น้องยังยืนหยัดจะที่จะสู้ต่อไป เชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้ ถ้าน้องรู้สึกว่าไม่มีใครไปกับน้อง อย่างน้อยจะมีพี่คนนึงที่ไปด้วย ไปให้ถึงดาวอังคาร แบบที่น้องๆ อยากไป ไปด้วยกันนะ”

คืนสุดท้ายแล้ว ยากหน่อยกว่าเราจะเดินทางกลับจริง ๆ ได้ เป็นการกอดลาที่รู้สึกว่ากอดเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ มันคือความรักที่บริสุทธิ์ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เราเคยได้สัมผัสมา การจากลาครั้งนั้น มันก็แค่การจากลาเพื่อแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี แล้วรอวันกลับมาพบกันใหม่

กางเขนใต้ (Crux)

กลุ่มดาวที่เรายึดถือเป็นกลุ่มดาวประจำตัว คือ Crux โดยปกติทางซีกโลกเหนือจะใช้ดาวเหนือในการหาทิศเหนือ แต่ซีกโลกใต้ ไม่เห็นดาวเหนือ จึงใช้กลุ่มดาว Crux (กางเขนใต้) ในการหาทิศใต้แทน ซึ่งซีกโลกใต้นั้นมีประชากรแค่ประมาณ 10% ของโลก 

Crux อาจดูไม่ได้มีความสำคัญมากนักสำหรับคนหมู่มาก แต่มีความสำคัญมาก ๆ กับคนกลุ่มหนึ่ง สิ่งที่เราทำอาจไม่ได้เปลี่ยนโลก แต่เราเชื่อว่ามุมมองในการมองโลก (และจักรวาล) ของน้อง ๆ ได้เปลี่ยนไปอย่างมากแน่นอน และการได้สัมผัสถึงพลังของตัวเอง การกล้าที่จะตั้งคำถามต่ออะไรก็ตาม จะทำให้น้อง ๆ กล้าที่จะไม่ยอมถูกกดขี่ กดขี่ทางอิสรภาพด้านความคิด พวกเขาฝันที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น และจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีขึ้น 

จบจากเชียงใหม่ เราต้องเดินทางไปยังอีกฝั่งของโลก เพื่อสั่งสมของในตัวให้มากขึ้น และหวังว่าเราเองจะเป็น Crux ให้กับใครได้อีกหลาย ๆ คน หวังว่าจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ นี้จะช่วยให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้นในสังคมได้สักวัน และเมื่อคุณอ่านมาถึงจุดนี้แล้ว เราอยากบอกว่า คุณเองก็สามารถเป็น Crux ให้กับผู้คนต่อไปได้เช่นกันนะ

เขียนและเรียบเรียงโดย น้ำหวาน ภิรมณ กำเนิดมณี นักเรียนทุน พสวท. (ฟิสิกส์) ปริญญาตรี-ปริญญาเอก สหรัฐอเมริกา

สามารถรับชมบทสัมภาษณ์ของน้องน้ำหวาน ได้ที่ YouTube : THE STUDY TIMES
.

.


ขอบคุณที่มา: https://spaceth.co/fringe-astronomy/
 

กระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันใช้กำหนดเปิดเรียนวันที่ 17 พ.ค. 2564 ตามเดิม แต่หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น อาจเลื่อนเปิดวันที่ 1 มิ.ย. 2564 โดยจะพิจารณาเป็นพื้นที่ไปตามสถานการณ์

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เรียกประชุมคณะผู้บริหาร รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หารือ เพื่อประเมินสถานการณ์เปิด-ปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2564 เบื้องต้น เห็นตรงกันจะเปิดภาคเรียนในวันที่ 17 พ.ค.2564 นี้ ตามกำหนดการเดิม เพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียนการสอนและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ปกครอง

จากนั้นจะประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ ไป หากสถานการณ์ ยังไม่ดีขึ้นจะเลื่อนเปิดเรียนเป็นวันที่ 1 มิ.ย.2564 แทน แต่จะไม่สั่งปิดพร้อมกันทั่วประเทศ

ทั้งนี้ จะพิจารณาตามพื้นที่ความเสี่ยง และจัดรูปแบบการเรียนการสอน ให้เหมาะสมกับผู้เรียน และบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยผู้เรียนเป็นคนเลือกเอง ว่าจะเรียนรูปแบบไหน เช่น ให้ครูส่งแบบฝึกหัดไปให้ทำที่บ้าน เรียนออนไลน์ ต้องไม่บังคับเด็กว่าจะเรียนแบบไหน เปิดโอกาสให้เด็กเลือกเอง

เช่นเดียวกับ การสอบเข้า ม.1 ยังใช้แผนสอบเดิมคือวันที่ 1 พ.ค.2564 ส่วนนักเรียนชั้น ม.4 สอบวันที่ 2 พ.ค.2564 ให้ดำเนินการสอบได้ตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยกำหนดให้ห้องสอบและการรายงานตัวต้องไม่เกิน 50 คน หรือใช้สถานที่ของโรงเรียนอื่นที่ใกล้เคียงเป็นสนามสอบ เพื่อกระจายนักเรียนไปไม่ให้เกิดความแออัด โดยกระทรวงศึกษาธิการจะทำแผน เสนอให้ ศบค.พิจารณาตามความเหมาะ

ส่วนกรณี การสอบบรรจุครูที่เรียกตัวมาไม่ทัน อาจส่งผลให้โรงเรียนขาดครูในบางวิชาก็ให้ใช้บัญชีของครูที่มีอยู่แล้ว และให้ใช้แนวทางโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง และโรงเรียนที่มีความพร้อม เข้ามาช่วยเหลือกัน หากโรงเรียนใดยังมีปัญหาอยู่ ให้แจ้งมาที่ส่วนกลางเพื่อเข้าไปสนับสนุน

สำหรับ การหารือครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้เปิดรับฟังข้อเสนอจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจ

ด้าน นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. ระบุว่า ต้องรอประเมินสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กทม.ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ก่อน จึงจะตัดสินใจได้ว่า จะเลื่อนเปิดเรียนหรือไม่ จากเดิมกำหนดเปิดเรียนในวันที่ 17 พ.ค.2564 โดยจะประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้อำนวยการโรงเรียนทั้ง 437 แห่ง ประมาณต้นเดือน พ.ค.นี้ แต่จะประเมินให้สอดคล้องกับกระทรวงศึกษาธิการด้วย

อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องปิดภาคเรียนต่อไป สำนักการศึกษาได้เตรียมจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานไว้ 4 รูปแบบ คือ

1.) การสลับชั้นมาเรียนของนักเรียนแบบสลับวันเรียน

2.) การสลับชั้นมาเรียนของนักเรียนแบบสลับวันคู่ วันคี่

3.) การสลับช่วงเวลามาเรียนของนักเรียนแบบเรียนทุกวัน

4.) การสลับกลุ่มนักเรียนแบบแบ่งนักเรียนในห้องเป็น 2 กลุ่ม

โดยแต่ละรูปแบบจะมีความเหมาะสมกับขนาดโรงเรียน และพื้นที่ที่แตกต่างกัน ควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุข

นอกจากนี้ ก่อนเปิดเรียนจะให้ทางโรงเรียนประเมินความเสี่ยงของผู้ปกครองผ่านแบบคัดกรองประเมินความเสี่ยงของ กทม.หากมีความเสี่ยงก็จะขอความร่วมมือให้หยุดเรียนไปก่อน และให้ครูประจำชั้นจัดการเรียนการสอนผ่านไลน์ให้กับนักเรียนแทน

ด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ.เตรียมความพร้อมเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ยังไม่ดีขึ้น เนื่องจาก รมว.ศธ.กำชับเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ต้องทำให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาเรามีทางเลือกให้เด็กเรียนอย่างหลากหลายทั้งรูปแบบ Online Onsite และ Onhand ดังนั้น ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความถนัด หรือ จะเลือกเรียนแบบผสมผสานก็ได้ ซึ่ง สพฐ.ต้องเตรียมความพร้อมในทุกมิติไม่ว่าสถานการณ์โควิดจะเป็นอย่างไรเด็กต้องได้เรียนอย่างเต็มที่


ที่มา: https://workpointtoday.com/school190464/

CPA (Thailand) ประกาศฉบับที่ 010/2021: วันที่ 17 เมษายน 2564 เรื่อง: ประกาศปิดทำการตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2564 จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

เฉพาะสำหรับผู้สอบที่เลือกรับผลคะแนนด้วยตนเองไว้ สามารถรับผลสอบด้วยตนเองในวันที่ 19 - 20 เมษายน 2564 เวลา 10.00-15.00 เท่านั้น

กรุณาเตรียมเอกสารการรับผลให้ครบถ้วน ทั้งกรณีรับผลด้วยตัวเอง และกรณีรับผลแทน โดยผู้มารับผลคะแนนจะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองตามมาตรการฯ​ ตามขั้นตอนปกติ


ที่มา: https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=10157545409866467&id=154483551466

น้ำหวาน ภิรมณ กำเนิดมณี | THE STUDY TIMES Story EP.1

บทสัมภาษณ์ น้ำหวาน ภิรมณ กำเนิดมณี นักเรียนทุน พสวท. (ฟิสิกส์) ปริญญาตรี-ปริญญาเอก สหรัฐอเมริกา
สาวน้อยนักเรียนทุน มุ่งมั่นพัฒนาวิทยาศาสตร์ ด้วยฟิสิกส์ผสมผสานดาราศาสตร์

ปัจจุบันน้ำหวานอยู่ในช่วง Prep school ที่ New Hampton School สหรัฐอเมริกา เข้าอาทิตย์ที่สี่เริ่มปรับตัวได้แล้ว Prep school คือโรงเรียนเพื่อเตรียมตัว ปรับตัวรับกับวัฒนธรรมอเมริกา เตรียมพร้อมเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย เสริมภาษาอังกฤษ ให้มีมาตรฐานที่ดีในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย เป็นเงื่อนไขของเด็กทุน 

เนื่องจากน้ำหวานเคยมีประสบการณ์ในการไปดูงาน ทัศนศึกษาต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง มีการเตรียมตัวมาแล้ว ทำให้ปรับตัวได้ไม่ยากนัก

ที่โรงเรียนมีกิจกรรม Project week เป็นกิจกรรมที่นักเรียนสามารถเลือกทำได้ตามความสนใจ ไม่เฉพาะเชิงวิชาการเท่านั้น เช่น ออกไปปีนเขา ทำเส้นทางเดินเขา งาน Art การทำอาหาร โดยน้ำหวานเลือกไปทำอาสาสมัครเกี่ยวกับการศึกษาของยูกันดา ศึกษาวัฒนธรรม การเมือง ว่าส่งผลต่อยูกันดาอย่างไร พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติ มุมมองความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 

ในมุมมองความเสมอภาคทางการศึกษา น้ำหวานมองว่า เพราะตัวเองอาจไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีมาก แต่เพราะอยู่ในสังคมที่มีโอกาสเข้าถึง น้ำหวานมองว่าโอกาสเหล่านี้คือโชค เพราะไม่ใช่ทุกคนจะได้รับ แต่น้ำหวานโชคดีที่ดันได้รับโอกาสนั้นมา แต่การศึกษาไม่ควรเป็นเรื่องของโชค การศึกษาเป็นพื้นฐานของทุก ๆ อย่าง ปัญหาใดๆ จะแก้ได้ ต้องเริ่มด้วยการศึกษา น้ำหวานเลยอยากให้การศึกษามีความเท่าเทียมกัน 

ก่อนเดินทางมาอเมริกา น้ำหวานย้ายจากกทม. ไปอยู่เชียงใหม่คนเดียว ไปเป็นจิตอาสาพาน้องเดินป่าที่เชียงดาว ที่นั่นน้ำหวานได้พบคำถามและคำตอบสุดเซอร์ไพรส์ของเด็กน้อยในค่ายอาสา เด็กคนหนึ่งมาถามน้ำหวานว่า “ถ้าเราไปดาวอังคาร เราจะหายใจยังไง” น้ำหวานให้ข้อมูลน้องไปว่า “นั่นน่ะสิ บนดาวอังคารมีแต่คาร์บอนไดออกไซด์เต็มไปหมด” ด้วยความคุ้นเคยกับป่าไม้ น้องๆ เลยตอบกลับมาว่า “ปลูกต้นไม้สิ ต้นไม้จะได้เปลี่ยนจากคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจน” สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้น้ำหวานต่อยอดซื้อกล้องโทรทรรศน์ให้กับน้อง ๆ ที่บ้านเด็กกำพร้า พร้อมทั้งได้สอนดาราศาสตร์เพิ่มเติมให้กับน้อง ๆ อีกด้วย 

น้ำหวานเป็นผู้ที่ได้รับทุนพสวท. ตั้งแต่ระดับม.ปลาย ไปจนถึงระดับปริญญาเอก โดย พสวท. คือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  

น้ำหวานแนะนำการเตรียมตัวสอบเข้าพสวท. ไว้ว่า ข้อสอบมีทั้งแบบอัตนัย และปรนัย สามารถเตรียมตัวจากหนังสือสสวท.ได้เลย หมั่นทำโจทย์ แต่สิ่งที่มากกว่าการทำโจทย์ หรือการอ่านหนังสือ คือนิสัยช่างสังเกต กระบวนการคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ สิ่งนี้จะทำให้เข้าใจโจทย์ สามารถตอบตรงใจกรรมการได้มากขึ้น เพราะนอกจากข้อสอบอัตนัยปรนัย ยังมีข้อสอบเชิงความคิดสร้างสรรค์ ที่คะแนนจะขึ้นอยู่ที่การตอบด้วยความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ 

ความสนใจในฟิสิกส์ของน้ำหวานนั้น เริ่มมาจากการขี่จักรยานกับเพื่อนในซอยตอนเด็กๆ ตั้งแต่บ่ายแก่ๆ ยันค่ำ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสีของท้องฟ้า จากฟ้า เป็นส้ม บางวันก็ออกแดง ชมพู ตอนนั้นตนก็สงสัยว่าทุกเย็นมีใครต่อท่อส่งลาวาขึ้นไปบนฟ้ารึเปล่า บางวันฝนตกก็ได้เห็นสายรุ้ง ช่วงค่ำเวลาเดิมของแต่ละเดือน เกิดคำถามตามมาว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง จินตนาการ และความสนใจ ทำให้มุ่งหน้าสู่วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ 

น้ำหวานอธิบายว่า ฟิสิกส์ เป็นศาสตร์ที่ใช้อธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ในจักรวาลของเรา ไม่ใช่ฉพาะเรื่องของสูตรการคำนวณ 

นอกจากนี้ น้ำหวานเล่าให้ฟังว่า ได้รับการตอบรับจาก University of California Santa Cruz หรือ UCSC แล้ว โดยเหตุผลที่เลือก UCSC เนื่องจากน้ำหวานให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตที่สุดและมีความสุขกับการอยู่ในป่าเขา UCSC มีความเป็นธรรมชาติสูง และมีโอกาสในการทำวิจัย 

ตัวน้ำหวานสนใจงานวิจัยเรื่อง Optics ทัศนศาสตร์ การมองเห็น  เรื่องของแสงสี และ UCSC อยู่ใกล้หอดูดาว ตอบโจทย์การพัฒนาในด้านดาราศาสตร์ที่สนใจ 

ในเรื่องโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในไทย น้ำหวานมองว่า ยังมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำ โรงเรียนดีกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ คนที่อยู่ต่างจังหวัดไม่สามารถได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม อยากให้การศึกษากระจายตัว ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาดีๆ ใกล้บ้าน ไม่ต้องห่างไกลครอบครัว ไม่ต้องเผชิญอยู่ในสังคมที่ต้องแข่งขัน จนไม่มีเวลาสำรวจตัวเองว่าสนใจด้านไหนจริงๆ 

ส่วนในเรื่องของระบบการศึกษา น้ำหวานมองว่า ไม่อยากให้ครูเป็นเพียง Teacher แต่อยากให้ครูเป็น Facilitator สิ่งที่ทำให้มนุษย์มีตัวตน คือความคิด ความสนใจของเรา เพราะฉะนั้นเด็กทุกคนมีแก่นที่แตกต่างกันไป อยากให้มีครูที่เป็น Facilitator ที่สามารถดึงศักยภาพนักเรียนและช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาด้านที่ตัวเองสนใจจริง ๆ ออกมาได้

.

.

.

.

มากกว่า 30 รายรหัสวิชาที่ต้องสอบ เพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัยไทย...มีอะไรบ้าง ที่ต้องรู้ ก่อนเลือกสมัครสอบตามคณะที่คาดหมาย

การเปลี่ยนแปลง เงื่อนไขที่ไม่หยุดนิ่ง ทิ้งสิ่งที่เรียกว่าภาระเด็กไทย เข้ามหาวิทยาลัยสุดโหดได้อย่างไร?

จำนวนวิชาสอบที่สร้างความยุ่งยากซ้ำซ้อน กว่า 30 รายรหัสวิชาที่ต้องสอบเพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัยไทย...มีอะไรบ้าง ที่ต้องรู้ก่อนเลือกสมัครสอบตามคณะที่คาดหมาย ให้ครบถ้วนไม่ขาด

3 กลุ่มวิชาหลักที่ขาดไม่ได้ ในการใช้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS (Thai University Central Admission System)

1. O-NET
   O-NET (Ordinary National Educational Test) คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประเมินตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.

2. GAT PAT
    GAT/PAT คือการสอบความถนัดทั่วไป GAT ซึ่งย่อมาจากคำว่า (General Aptitude Test) หรือการทดสอบความถนัดทั่วไป ส่วน PAT คือการสอบความถนัดด้านวิชาการ (Professional A Aptitude Test) คือ การสอบวัดศักยภาพของนักเรียนที่จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัย

3. 9 วิชาสามัญ
    9 วิชาสามัญ คือ ข้อสอบกลางที่จัดสอบโดย สทศ. เพื่อใช้ในการรับตรงเข้ามหาวิทยาลัย  แต่เดิมจะสอบเพียง 7 วิชา แต่เพื่อให้ครอบคลุมกับเนื้อหาของสายศิลป์ จึงเพิ่มอีก 2 วิชาเข้าไป รวมเป็น 9 วิชา ดังนี้

1.วิชาภาษาไทย
2.วิชาสังคมศึกษา
3.วิชาภาษาอังกฤษ
4.วิชาคณิตศาสตร์ 1
5.วิชาฟิสิกส์
6.วิชาเคมี
7.วิชาชีววิทยา
8.วิชาคณิตศาสตร์ 2 (สายศิลป์)
9.วิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป (สายศิลป์)

5 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับ GAT/PAT

1. GAT คืออะไร?
เป็นการสอบที่ดูว่า นักเรียนคนหนึ่งมีความพร้อม ในการจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมากน้อยแค่ไหน โดยจะทำการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test) ซึ่งก็คือเป็นการวัดศักยภาพในการเรียนในมหาวิทยาลัย ให้ประสบความสำเร็จ มี 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 พาร์ทภาษาไทย คือ วัดความสามารถในการอ่าน/การเขียน/การคิดเชิงวิเคราะห์/และการแก้โจทย์ปัญหา

ส่วนที่ 2 พาร์ทภาษาอังกฤษ คือ วัดความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย Speaking and /Conversation/Vocabulary/Structure and Writing/Reading Comprehension

รวมกันสองพาร์ทนี้ 300 คะแนน

2. PAT คืออะไร?
เป็นการทดสอบวิชาความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (Professional and Academic Aptitude Test)  การวัดความรู้ที่เป็นพื้นฐาน กับศักยภาพที่จะเรียนในวิชาชีพนั้นๆ ดูว่านักเรียนคนหนึ่งมีแววจะเข้าสู่เส้นทางอาชีพในคณะที่เลือกไหม  มี 7 สาขาวิชาตามกลุ่มวิชาชีพดังนี้คือ

PAT 1 คือ ความถนัดทางคณิตศาสตร์
PAT 2 คือ ความถนัดทางวิทยาศาสตร์
PAT 3 คือ ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์
PAT 4 คือ ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์
PAT 5 คือ ความถนัดทางวิชาชีพครู
PAT 6 คือ ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์
PAT 7 คือ ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ ประกอบด้วย

PAT 7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส
PAT 7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน
PAT 7.3 ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น
PAT 7.4 ความถนัดทางภาษาจีน
PAT 7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ
PAT 7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี
PAT 7.7 ความถนัดทางภาษาเกาหลี

3. GAT PAT สำคัญต่อแอดมิชชั่นอย่างไร?
แอดมิชชั่นกลางนั้น GAT PAT รวมกันจะเป็นสัดส่วนถึง 50% และอีก 50% ที่เหลือก็มาจากสัดส่วนรวมกันของเกรด(GPAX) และคะแนน O-NET นั่นเอง นั่นหมายความว่า ถ้าไม่มี GAT PAT ก็จะไม่สามารถแอดมิชชั่นได้ นอกจากนี้การรับตรงในบางมหาลัยนั้นก็ใช้ GAT PAT เป็นเกณฑ์คัดเลือกสำคัญด้วย อาทิ รับตรงปกติ จุฬาฯ, รับตรง มธ.บางคณะ, รับตรงแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น

และรับตรงรอบแรกส่วนใหญ่ก็จะใช้ GAT PAT รอบแรกเท่านั้น เพราะรับตรงโครงการนั้นๆ จะเสร็จสิ้นก่อนจะสอบ GAT PAT จึงใช้ได้แค่รอบเดียว ดังนั้น เตือน ม.6 ถ้าถึงเวลาสมัครสอบแล้ว ก็อย่าลืมสมัครด้วยนะ จะได้ไม่เสียสิทธิ์รับตรง (ในบางคณะ)

4. คณะไหนใช้ PAT อะไรบ้าง
PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น กลุ่มคณะวิทยาศาสตร์กายภาพ กลุ่มเกษตร-วนศาสตร์ กลุ่มบริหาร-บัญชี เศรษฐศาสตร์ กลุ่มมนุษยฯ-อักษรฯ-สังคมศาสตร์ (ยื่นคะแนนรูปแบบที่1)

PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ กลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์

PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์

PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์

PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะศิลปกรรมศาสตร์

PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น กลุ่มการโรงแรมและท่องเที่ยว(ยื่นคะแนนรูปแบบที่2) กลุ่มมนุษยฯ-อักษรฯ-สังคมศาสตร์ (ยื่นคะแนนพื้นฐานศิลป์ รูปแบบ2)

5. ใครสอบได้บ้าง
สำหรับการสอบ GAT PAT ค่อนข้างจะอิสระพอสมควร เพราะทุกคนมีสิทธิในการสอบหมด ทั้ง ม.6 เด็กซิ่ว และ สายอาชีพ และจะสมัครกี่ครั้งก็ได้ เพราะการสมัครสอบสามารถดำเนินการสมัครได้ด้วยตนเอง ดังนั้นอยู่ที่ความรับผิดชอบของตัวเอง หากสมัครไม่ทัน ผลเสียก็ตกอยู่ที่ตัวเอง

อายุของคะแนนสอบ GAT PAT อยู่ได้ 2 ปี  นั่นหมายความว่า หาก ม.6 ปีนี้ อยากซิ่วในปีหน้า คะแนนของปีนี้ก็ยังใช้ได้ โดยในการสมัครแอดมิชชั่นกลางจะมีระบุไว้ว่าใช้รอบใดได้บ้าง

วิชาสามัญ คือ ข้อสอบกลางที่จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่ใช้ในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาตร์ 1 ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป แต่ตอนนี้ลดการสอบซ้ำซ้อน โดย วิชาสามัญ จะสอบแค่ 7 วิชาหลัก จะไม่มีการสอบ คณิตศาสตร์ 1 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป หากคณะ/สาขาใดใช้ 2 วิชานี้ ให้ใช้คะแนนจาก คณิตศาสตร์ O-NET และวิทยาศาสตร์ O-NET แทน วิชาสามัญจะเปิดรับสมัครสอบทุกปีในช่วงเดือนธันวาคม 

วิชาสามัญ ใช้ใน TCAS รอบใด
คะแนนยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ในระบบ TCAS รอบ 2 โควตา รอบ 3 Admission 1 และรอบ 4 รับตรงเก็บตกสุดท้าย แต่น้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องสอบทุกวิชา เลือกสมัครเฉพาะวิชาที่ใช้ก็พอ แต่ปัญหาหลักคือ บางคนไม่รู้ว่าคณะที่จะเข้า ต้องใช้วิชาอะไรบ้าง

สรุปการใช้ วิชาสามัญ ของแต่ละคณะ
แต่ละคณะ/มหาวิทยาลัย กำหนดเกณฑ์การใช้ วิชาสามัญ ไม่เหมือนกัน แต่สามารถแบ่งการใช้คะแนนตามกลุ่มคณะได้ดังนี้ เพื่อการเตรียมตัว น้อง ๆ ควรรู้ก่อนว่าคณะที่เราจะเข้า ใช้คะแนนอะไรบ้าง
 
1. กลุ่มสายวิทย์สุขภาพ ใช้ 7 วิชา
เช่น คณะแพทยศาสตร์ ทันตะ เภสัช สัตวแพทยศาสตร์ พยาบาล สหเวชศาสตร์ กายภาพบำบัด
1. ภาษาไทย
2. สังคมศึกษา
3. ภาษาอังกฤษ
4. คณิตศาสตร์ 1
5. ฟิสิกส์
6. เคมี
7. ชีววิทยา

2. กลุ่มสายวิทยาศาสตร์ ใช้ 4 วิชา
เช่น คณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
1. ฟิสิกส์
2. เคมี
3. ชีวิวิทยา
4. คณิตศาสตร์ 1

3. สายศิลป์คำนวณ ใช้ 4 วิชา
เช่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ   คณะเศรษฐศาสตร์
1. ภาษาไทย
2. สังคมศึกษา
3. ภาษาอังกฤษ
4. คณิตศาสตร์ 1 หรือ คณิตศาสตร์ 2 (บางสาขา เช่น การท่องเที่ยวและโรงแรม)

4. กลุ่มสายศิลป์แบบใช้ 5 วิชา
เช่น คณะกลุ่มสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์
1. ภาษาไทย
2. สังคมศึกษา
3. ภาษาอังกฤษ
4. คณิตศาสตร์ 2
5. วิทยาศาสตร์ทั่วไป

5. กลุ่มสายศิลป์แบบ ใช้ 3 วิชา
เช่น อักษรศาสตร์ นิติศาสตร์
1. ภาษาไทย
2. สังคมศึกษา
3. ภาษาอังกฤษ

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายยกเลิกการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ของนักเรียนชั้น ม.6 ในปีการศึกษา 2564 ทำให้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ต้องปรับรูปแบบ TCAS ในปีการศึกษา 2565 ทำให้รอบ Admission2 ที่ใช้คะแนน O-NET ในสัดส่วน 30% ต้องถูกยุติการใช้ใน TCAS65 และจะไม่ใช้คะแนนสอบอื่นมาทดแทน เพื่อลดภาระให้นักเรียน โดยจะเหลือการรับ 4 รูปแบบ 4 รอบการสมัคร ได้แก่ รอบ 1 แฟ้มสะสมผลงาน รอบ 2 โควต้า รอบ 3 แอดมิสชั่นส์ และรอบ 4 รับตรงอิสระ

การวางแผน ของนักเรียน มัธยมปลายรุ่นต่อๆ ไป ภาระอาจจะลดน้อยลง จากการกำหนดการสอบที่ลดน้อยลง แต่ปัญหาใหม่ในปีนี้ที่ผ่านมา ของนักเรียนรุ่นเข้ามหาวิทยาลัยรุ่นปี 2564 คือข้อสอบที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากแนวเก่าๆ เพราะหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลง และผู้ออกข้อสอบ โดย สสวท. ก็ทำให้นักเรียนรุ่นต่อไป ต้องรับศึกหนัก ข้อสอบที่ยากขึ้นมากสำหรับ คนที่อยู่ระดับล่างของการเรียนไทย การแข่งขันจะยิ่งทำให้ช่องว่าการศึกษาไทยยิ่งห่างกันอีกไกล

เตรียมตัวสอบวิชาอะไรบ้าง คณะอะไรที่จะเลือกใช้วิชาใดสอบ ยื่นรอบไหน ใช้อะไร เจอกันในบทความถัดไปครับ จะแนะนำวิธีการเลือกสอบ เลือกรอบยื่น และเลือกลำดับคณะมหาลัยที่เหมาะแต่ละคน

เว็ปไซต์ที่แนะนำติดตาม
https://www.niets.or.th/th/catalog/view/247
https://www.mytcas.com/


เขียน และรวบรวมข้อมูลโดย AodDekTai คุณพ่อผู้สนใจการศึกษาไทยและต่างประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top