88 ปี การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ‘ครั้งแรก’ และ ‘ครั้งเดียว’ ของไทย
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสยามเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2476 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่หนึ่งในประเทศไทย และเป็น "การเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย" ตราบจนปัจจุบัน โดยเกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476
ที่มาของการเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังที่เหตุการณ์กบฏบวรเดชยุติลงในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เมื่อ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาว่ารัฐบาลได้ปราบกบฏเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว จำต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
ในขณะนั้นประเทศไทย (ยังคงใช้ชื่อว่า สยาม) แบ่งการปกครองเป็นจังหวัด มีจังหวัดทั้งสิ้น 70 จังหวัด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แล้ว สามารถเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเภทที่หนึ่ง ได้ทั้งหมด 78 คน โดยส่วนใหญ่จะสามารถเลือกผู้แทนฯ ได้จังหวัดละคน
มีบางจังหวัดที่มีผู้แทนฯ ได้มากกว่าหนึ่งคน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดมหาสารคาม, จังหวัดนครราชสีมา มีผู้แทนฯ ได้ 2 คน ขณะที่จังหวัดพระนครและจังหวัดอุบลราชธานี มีผู้แทนฯ ได้ 3 คน ซึ่งขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดอัตราประชากร 200,000 คนต่อการมีผู้แทนฯ ได้หนึ่งคน และบวกรวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้นอีก 78 คน รวมทั้งสิ้นเป็น 156 คน
